4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

หนุน กทม. เมืองต้นแบบเด็กไร้อ้วนลงพุง สนช.ผลักดันบูรณาการทำงานร่วม

            คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดประชุมรับฟังข้อเสนอจากผลการศึกษาสถานการณ์โรคอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนของประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร โดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีคณะผู้บริหารจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมชี้แจงและเตรียมแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ที่รัฐสภา

             นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุข สนช. กล่าวว่า  โรคอ้วนลงพุง เป็นปัญหาสุขภาพที่ทาง สนช. ให้ความสำคัญและเร่งหามาตรการในการแก้ไขป้องกัน เนื่องจากภาวะอ้วนลงพุงเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเยียวยารักษา ซึ่งจะเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต

            “คำถามที่น่าเป็นห่วงคือ สังคมเมืองมีการใช้ชีวิตแบบอยู่ดีกินดีกันไปหรือเปล่า หรือคนในเมืองนั้นมีสถานที่ในการออกกำลังกายเพียงพอหรือไม่ สิ่งนี้คือปัจจัยที่รัฐบาลกลางมีความพยายามหาแนวทางในการบูรณาการหน่วยงานที่จะเป็นต้นแบบ โดยมองเห็นว่า กทม. ที่เริ่มมีมาตรการในการป้องกันในระดับพื้นที่จะเป็นต้นแบบนำร่องและสามารถถอดบทเรียนไปสู่การปฏิบัติให้กับเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดได้ ที่สำคัญคือการนำข้อเสนอจากงานวิจัยมาเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนา”

            ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า สวรส. ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นวิกฤตสุขภาพของหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในบริบทการใช้ชีวิตในสังคมเมือง จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในชุดโครงการวิจัยมุ่งเป้าเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการปัญหาภาวะอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนในเขต กทม. เป็น 1 ในชุดโครงการวิจัยดังกล่าว เพื่อศึกษาข้อมูลด้านสถานการณ์โรคอ้วนลงพุง พฤติกรรมและปัจจัยต่าง ๆ ในการควบคุมโรคอ้วนและโรคเรื้อรังในเขต กทม. และพัฒนานโยบาย รูปแบบการบริการ การจัดการชุมชนในการควบคุมภาวะโรคอ้วน และเพื่อหาแนวทางการขยายผลการจัดการภาวะโรคอ้วน มาตรการในการสนับสนุนการควบคุมภาวะอ้วนลงพุงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนในการดำรงชีวิตประจำวัน

            “การแก้ไขปัญหาโรคอ้วน ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะปัจจัยเสี่ยงในบริบทของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเฉพาะวิถีชีวิตคนเมืองที่รีบเร่ง วันนี้เรามีหน่วยงานที่เป็นผู้เล่นหลักในระบบอยู่มาก เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดนโยบายสุขภาพ สสส. ทำหน้าที่รณรงค์เผยแพร่ สปสช.ก็ให้ความสำคัญกับงบประมาณการสร้างเสริมสุขภาพ อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นกลไกสำคัญที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนในเขตเมืองโดยเฉพาะ กทม. และเทศบาลนครต่างๆ  ข้อเสนอจากงานวิจัยต้องการเห็นการพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วมเพื่อควบคุมภาวะอ้วนลงพุงซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นเป้าของงานวิจัยนี้ โดยเฉพาะการเข้าถึงหน่วยงานภาคเอกชนในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนให้ได้ โดยการขอความร่วมมือและสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับลูกหลานคนไทยเพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโรคอ้วนลงพุงในอนาคต” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว

            อ.อนันตชัย อินทร์ธิราช นักวิจัยเครือข่าย สวรส. นำเสนอผลการศึกษาว่า ได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างของประชากรในกทม. พบว่าสามารถจำแนกพฤติกรรมการบริโภค แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มกินจุกจิก กินปริมาณมากจนอิ่มเกินเพราะความเสียดายอาหาร กลุ่มกิจวัตรประจำวันเพื่อการเข้าสังคมที่มีการบริโภคชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลตร้อน-เย็น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มกินอาหารบุฟเฟ่ต์ ปริมาณมาก กลุ่มกินในปริมาณมากตามโฆษณา กินตามสะดวก และปรุงอาหารรสจัด และกลุ่มที่กินขนมบรรเทาความหิวหรือเป็นอาหารว่างหลังอาหารมื้อหลัก การกินที่เพลิดเพลินร่วมกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ ข้อค้นพบสำคัญของกลุ่มสำรวจคือ มีกิจวัตรประจำวันในระดับเบา และไม่ออกกำลังกาย นำไปสู่ภาวะอ้วนลงพุง และมีรูปร่างท้วม

            สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาวะอ้วนลงพุง เช่น สำนักอนามัย กทม. ควรมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพ เน้นการออกกำลังกาย  สำนักการแพทย์ กทม. ควรมีนโยบายการตรวจสุขภาพ คัดกรองภาวะอ้วนลงพุงและภาวะแทรกซ้อนในทุกกลุ่มอายุ สนับสนุนให้สถานพยาบาลในสังกัด กทม. จัดทำแนวทางการให้ความรู้และความเข้าใจในภาวะโรคอ้วนลงพุง เพื่อชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือด หรือโรคอื่นๆในอนาคต ส่วนในด้านการติดตามผลการควบคุมภาวะโรคอ้วน ควรมีสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานวิจัยที่ทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการการควบคุมภาวะอ้วนลงพุงในพื้นที่ระดับชุมชน โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อลดภาวะอ้วนลงพุงในประชากร กทม. เป็นต้น

            นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาด้านการส่งเสริมสุขภาพของ กทม. นั้นจะแบ่งงานกันไปดูแล ขาดการบูรณาการ สำหรับมาตรการที่มุ่งเน้นในการลดปัญหาโรคอ้วนลงพุง ได้มียุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นในด้านพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย โดยเริ่มในกลุ่มเป้าหมายกับเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่มีจำนวน 438 โรงเรียน มีเด็กประมาณ 3 แสนคน โดยออกมาตรการเพื่อให้มีโภชนาการที่ดีถูกหลัก เช่น การจัดอาหารเช้าให้เด็กได้รับประทาน การห้ามขายน้ำอัดลม ห้ามขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมสูงภายในโรงเรียน การคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง พร้อมจัดคลินิกลดน้ำหนัก โดยทำการประเมินติดตาม เป็นต้น ทางด้านการออกกำลังกายได้เริ่มมีการปรับปรุงสวนสาธารณะที่มีอยู่ใน กทม. 30 แห่ง ให้น่าพักผ่อนเหมาะกับการออกกำลังกาย บางแห่งได้ทำเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้น เช่น สวนบึงหนองบอน เขตสวนหลวง ร.9

            พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เผยว่า กลุ่มเด็กในเขต กทม. เป็นเป้าหมายที่ทาง กทม. ให้ความสำคัญ โดยพบว่าเด็กมีการทำกิจกรรมทางกายน้อยลง เนื่องจากมีสิ่งเร้าจากการเล่นเกมส์ ดูโทรทัศน์ ฉะนั้นการออกมาตรการในโรงเรียนทั้งในด้านพฤติกรรมการออกกำลังกายและการกิน จะเป็นการฝึกการปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ชีวิตในโรงเรียนที่เราคาดหวังว่าจะช่วยให้เด็กนำไปปฏิบัติเมื่ออยู่บ้านได้ด้วย เช่น การขอให้งดขายน้ำอัดลมในโรงเรียน งดขายขนมที่มีโซเดียมสูง ห้ามโฆษณาอาหารขยะ รวมไปถึงเรายังส่งเสริมการมีน้ำสะอาดในโรงเรียน การสนับสนุนด้านโภชนาการกินที่ถูกหลักในอาหารมื้อเช้า/กลางวัน รวมทั้งการจัดโปรแกรมการออกกำลังกายในเด็กวันละ 12 นาที ในโรงเรียน

            “เราพยายามหามาตรการจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในหลายๆ รูปแบบ ถ้าเด็กทำได้ในโรงเรียนมั่นใจว่าจะขยายผลไปสู่ครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ รูปแบบต่างๆ จะต้องตอบสนองและเข้ากับการดำเนินชีวิตของคนเมือง ดังนั้นในเชิงนโยบายจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงาน และที่สำคัญคือการสื่อสารสาธารณะ ควรมีหน่วยงานมาช่วยทำการสนับสนุน เพราะการเผยแพร่ทางสื่อหลักจะมีราคาค่อนข้างสูง บางหน่วยงานที่ทำงานไม่มีงบประมาณในเรื่องนี้” ผอ.สำนักอนามัย กล่าว

            ทางด้าน นายสามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ในด้านการดูแลรักษา ทางสถานพยาบาลในสังกัดได้ทำการติดตามผู้รับบริการที่เข้าสู่ภาวะอ้วนอยู่บ้างแต่ยังไม่ครอบคลุม มองในเชิงกลยุทธ์การบูรณาการควรมีเขตนำร่องต้นแบบพื้นที่ กทม. ทำงานในการลดโรคอ้วนลงพุง ที่ร่วมมือกันจากหลายฝ่าย เช่น ผู้ค้า สถานประกอบการ โรงเรียน หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ออกกฎเกณฑ์การปฏิบัติ เช่น ห้ามขายน้ำอัดลม แล้วติดตามประเมินความสำเร็จ เมื่อในระดับเขตทำได้ดีก็สามารถขยายออกเป็นโซนภาคของ กทม.ต่อไป

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้