4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วิจัยผลักดันเครื่องช่วยฟังไปดั่งฝัน ตอบโจทย์ “ไทยวิจัย ไทยผลิต ไทยใช้ ไทยยั่งยืน”

            เป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ที่ลุงสถิตย์ หวังวงศ์สิริ วัย 80 ปี เผชิญกับปัญหาการได้ยิน จนทำให้การสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ราบรื่นเหมือนที่ผ่านๆ มา และบอกถึงปัญหาการได้ยินของตนด้วยว่า

            “คงเกิดจากการเสื่อมสภาพไปตามวัย ในช่วงอายุ 70 ปี ที่เริ่มมีปัญหาในการได้ยิน เป็นความอึดอัดที่อธิบายยาก คนเรียกเราเราก็ไม่รับรู้หรอก ทำให้ต้องตะเบ็งเสียงคุยกัน ทำท่า ทำทางบ้าง หรือบางครั้งคนรอบข้างไม่ได้เรียกนะ แต่เราก็ย้อนถามกลับไปว่าเค้าพูดอะไร การใช้ชีวิตที่จะได้ยิน ได้ฟัง มันไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว...” ลุงสถิตย์ เล่า

          ข้อมูลจากฐานทะเบียนกลางคนพิการ กรมส่งเสริมและคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2558 ระบุว่าความพิการทางการได้ยินและการสื่อความหมาย ในประเทศไทย เป็นประเภทความพิการที่พบมากถึงจำนวน 281,380 คน โดยมากกว่าร้อยละ 50 ของคนพิการประเภทนี้ คือ ผู้สูงวัยนั่นเอง

 

จากปัญหาสู่การเข้าถึงระบบบริการ

            จากปัญหาดังกล่าว การช่วยเหลือจากภาครัฐด้านระบบบริการสุขภาพของไทย ได้กำหนดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพในการดูแลคนพิการทางการได้ยิน โดยมี “เครื่องช่วยฟัง” เป็น 1 ใน 68 รายการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) บรรจุไว้ในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียนบัตรทอง (ท.74) เพื่อรับรองว่าเป็นคนพิการในแต่ละประเภท หรือไดรับการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ.2550 และสิทธินี้ก็มีอยู่ในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการเช่นกัน

            การสำรวจข้อมูลคนพิการทางการได้ยินปัจจุบัน ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวม 166,536 คน พบคนพิการทางการได้ยินที่ได้รับอุปกรณ์ช่วยฟังเพียง 28,302 คนเท่านั้น สะท้อนถึงการเข้าถึงบริการฟื้นฟูฯ ที่มีสัดส่วนน้อยมาก ในขณะที่ระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการไม่สามารถแสดงข้อมูลภาพรวมเช่นนี้ แต่สถานการณ์ก็ไม่ต่างกันเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการให้บริการของสถานพยาบาลต่างๆ

            พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คาดว่าตัวเลขคนพิการทางการได้ยิน น่าจะมีจำนวนมากกว่าข้อมูลผู้ที่มาลงทะเบียนกว่าอีกเท่าตัว ส่วนหนึ่งอาจตกสำรวจเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากต่อการเข้าถึง จึงจำเป็นต้องมีการค้นหาและติดตามเพื่อให้ได้รับบริการต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มทางสถิติ

 

 

เครื่องช่วยฟังไทยประดิษฐ์

             สำหรับการจัดบริการฟื้นฟูฯ ให้กับคนพิการหรือผู้บกพร่องทางการได้ยินที่ผ่านมานั้น อุปกรณ์เครื่องช่วยฟังที่นำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมักเบิกจ่ายกันในอัตราตามที่ระบุในสิทธิประโยชน์ คือ เครื่องละ 13,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องพึ่งพิงอุปกรณ์นำเข้า เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพในการผลิต

            “เครื่องช่วยฟัง รุ่น P02 อินทิมา (Intima)” ถือเป็นข่าวดี ข่าวเด่น ในแวดวงระบบเทคโนโลยีและสุขภาพบ้านเรา ที่ผลิตขึ้นจากฝีมือคนไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มีจุดเด่นที่ออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟใหม่ได้ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายระหว่างใช้งาน ไม่ต้องมีภาระในการเปลี่ยนแบตเตอรี่เหมาะกับผู้สูงอายุ และที่สำคัญคือระบบเสียงเป็นแบบดิจิทอล ที่มีความคมชัดและตัดเสียงแทรกได้ดีมาก อีกทั้งมีระบบควบคุมการผลิตตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 และผ่านการรับรองมาตรฐานยุโรป จำหน่ายในราคาเครื่องละ 7,000 บาท ถูกกว่าการนำเข้ากว่า 50% เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ที่จะลดการพึ่งหาหรือนำเข้าจากต่างประเทศ

 

วิจัยทางคลินิก การันตีประสิทธิผล

            แม้ว่าเครื่องช่วยฟังจะผ่านมาตรฐานหลายๆ ด้านทางเทคนิคแล้ว การวิจัยในทางคลินิกนับเป็นเรื่องสำคัญที่จะชี้วัดถึงประสิทธิผลหลังการใช้ด้วย

            จึงได้ร่วมมือกับเนคเทค และภาควิชาโสต ศอ นาสิก คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนิน การศึกษาวิจัยทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิผลของเครื่องช่วยฟังระบบดิจิตอลแบบกล่องที่พัฒนาต้นแบบโดยเนคเทค และต้นทุนของการคัดกรองการได้ยินและบริการเครื่องช่วยฟัง

            รศ.พญ.ขวัญชนก ยิ้มแต้ นักวิจัย เผยว่า “จากการติดตามการให้บริการเครื่องช่วยฟังและมีการติดตามดูแลผู้เลือกใช้เครื่องช่วยฟัง P02 ในระหว่างการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า ช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ไม่ต่างจากอุปกรณ์นำเข้า ที่สำคัญยังมีราคาต่ำกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด ทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับการเบิกเครื่องช่วยฟังเพื่อให้บริการมีเหลือไปพัฒนากระบวนการติดตามดูแลต่อเนื่องได้อีกด้วย”

 

 

ผลักดันนโยบาย สู่สิทธิประโยชน์

            จากผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกดังกล่าว สวรส. จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ สปสช. เพื่อให้พิจารณานำเครื่องช่วยฟัง INTIMA ไปขยายผลใช้ในการให้บริการเชิงระบบ ซึ่ง สปสช. ได้ตอบรับข้อเสนอและดำเนินโครงการนำร่องที่เปิดรับหน่วยบริการที่มีการให้บริการที่ได้มาตรฐานจำนวน 13 โรงพยาบาล ที่พร้อมปรับกระบวนการให้บริการให้มีการค้นหาและติดตามดูแลหลังการใส่เครื่องช่วยฟังอย่างต่อเนื่อง และร่วมพัฒนาระบบ Hearing aid registry เพื่อการดูแลระยะยาว โดยใช้เครื่องช่วยฟัง จำนวน 1,000 เครื่อง มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุที่มีการสูญเสียการได้ยินระดับปานกลาง ขณะนี้ให้บริการไปได้แล้ว ประมาณร้อยละ 40 !!  

            ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สปสช. เนคเทค และบริษัทเอกชนที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เครือข่ายโรงพยาบาลและราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิก และ สวรส. ที่ทำหน้าที่ติดตามประเมินผลการนำนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา พัฒนานโยบายและระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

            ลุงชาลี โกสุมภ์ อายุ 71 ปี อาชีพขับรถรับจ้าง ใช้สิทธิบัตรทอง รพ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เพิ่งมาใช้เครื่องช่วยฟังฯ รุ่น P02  ตามโครงการของ สปสช. ซึ่งเป็นเครื่องที่ 4 แล้ว มีความแตกต่างจากเครื่องช่วยฟังรุ่นก่อนๆ คือ ไม่ต้องซื้อแบตเตอรี่มาเปลี่ยน คุณภาพไม่ต่างจากของเมืองนอก พร้อมขอบคุณภาครัฐที่ให้อุปกรณ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีความสุขที่ได้ใช้ในการพูดคุยกับภรรยา และลูกๆ ได้ตามปกติ  

            ลุงสถิตย์ หวังวงศ์สิริ วัย 80 ปี บอกว่า ดีใจที่คนไทยประดิษฐ์อุปกรณ์แบบนี้ได้เอง เพราะเห็นว่าเครื่องมือทางการแพทย์ของเราใช้ของต่างประเทศเยอะมาก ส่วนเครื่องช่วยฟังที่ใช้ทุกวันนี้ ซื้อมาใช้เองและเปลี่ยนมาแล้ว 6 เครื่อง ราคาประมาณ 12,000 บาท ตัวล่าสุดซื้อมาจากประเทศจีน สำหรับเครื่องที่ผลิตโดยคนไทยได้ลองทดสอบแล้วคุณภาพไม่ต่างกับของต่างประเทศที่เคยใช้ ทั้งนี้ได้รับคำแนะนำให้ขึ้นทะเบียนบัตรทองก่อนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ จาก สปสช. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ประเมินติดตาม – พัฒนา

            สำหรับผลจากโครงการติดตามประเมินผลการนำร่องบริการเครื่องช่วยฟังไทย ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย ทีมวิจัยจาก สวรส. นั้น

            พญ.วัชรา เผยว่า สิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงระบบของนโยบาย เช่น การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีบางจุดที่ต้องพัฒนา เช่น สายหูฟังที่ชำรุดง่าย แต่ขณะนี้ทางผู้ผลิตก็สามารถแก้ไขจุดบกพร่องนี้ได้ การพัฒนาระบบบริการเชิงรุกและการดูแลต่อเนื่อง เช่น Mobile Services และ out-reach models แบบอื่นๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงระบบบริการทุกระดับ ที่อาจให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นจุดประสาน ร่วมกับแผนกหู คอ จมูก ในโรงพยาบาลจังหวัด และราชวิทยาลัย จัดหากำลังคนทางด้านโสต ศอ นาสิก และนักโสตสัมผัสวิทยาและแก้ไขการพูด (Audiologist) และ Audio-technician ในการลงพื้นที่คัดกรองร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการ เป็นต้น

            การพัฒนาระบบมาตรฐานเครื่องช่วยฟังไทย และ Reference Lab ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การปรับปรุง Data registration ให้ได้ Minimum data set และ synchronize ระบบฐานข้อมูลหากมีมากว่า 1 ระบบเพื่อไม่ให้เป็นภาระผู้ให้บริการ และการพัฒนาข้อเสนอมาตรการเชิงนโยบายสนับสนุน เช่น การเสนอเครื่องช่วยฟังไทยเข้าบัญชีนวัตกรรมไทย บัญชี 1 หรือ 2 ตามเงื่อนไขการวิจัยพัฒนา ที่ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการนวัตกรรมของไทยผ่านวิธีพิเศษได้ เป็นต้น

 

 

หนุนวิจัยเชิงระบบ คู่ขนานวิจัยการตลาด

            “การศึกษาวิจัยในยุคปัจจุบันควรก้าวข้ามจากการวิจัยในรูปแบบเดิมๆ คือ มองว่าการศึกษาวิจัยในเชิงระบบหรือการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย จำเป็นต้องทำคู่ขนานไปกับการวิจัยทางการตลาด รวมไปถึงการวิจัยเพื่อพัฒนา (R&D) เช่น เครื่องช่วยฟังไทย ยังมีจุดที่ควรศึกษาเพิ่มเติมในแง่ของการตลาด อย่างการบริการหลังการขาย ที่จะต้องมีจุดถามตอบ แนะนำต่างๆ การพัฒนาเครื่องช่วยฟังใหม่ที่มากกว่า 1 รุ่น โดยอย่างน้อยต้องมีทั้งแบบกล่องและแบบทัดหลังหู เพื่อเป็นทางเลือกของผู้รับบริการต่อไป” ผอ.กลุ่มภารกิจ สวรส. กล่าว

            เหล่านี้ ล้วนเป็นเป้าหมายความร่วมมือ ขยายบริการที่มีคุณภาพสู่กลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึง และสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมเครื่องช่วยฟังในประเทศไทยต่อไป เหมือนดั่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำในงานตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า

          “หากทุกฝ่ายสามารถร่วมมือร่วมใจ ร่วมพัฒนา “ไทยวิจัย ไทยผลิต ไทยใช้ ไทยยั่งยืน” ประเทศก็จะมีความมั่นคงทางด้านการแพทย์ไม่แพ้ชาติใด”

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้