4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

กระจุกหรือกระจาย (อำนาจ)

     เวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ระดับชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2554 เมื่อวันที่ 24-26มีนาคมที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี เวทีใหญ่ระดับชาติที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ชุมชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาครัฐ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวาง บนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ สำหรับการปฏิรูปประเทศไทย

      ศ.นพ.ประเวศ  วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปกล่าวว่าสมัชชาปฏิรูปนับเป็นนวัตกรรมแก้ทุกข์ของชาติ เนื่องจากโครงสร้างของสังคมที่ผ่านมาไม่เป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำมากเกินไป กระบวนการปฏิรูปจึงต้องใช้พลังปัญญาอย่างเข้มข้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งกระบวนการสมัชชาปฏิรูปเป็นเหมือนพลังทั้ง 5ที่ประกอบด้วย พลังทางศีลธรรม พลังเมตตาธรรม พลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังสันติวิธี โดยในเวทีสมัชชาฯ ครั้งนี้จะขอมติที่ประชุม 4เรื่อง 8ประเด็นคือ 1.ปฏิรูปการบริหารประเทศเป็นการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น 2.ปฏิรูปการจัดการทรัพยากร คืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องที่ดินและทรัพยากร 3.ปฏิรูปสังคม ควรเป็นสังคมไม่ทอดทิ้งกัน มีการปฏิรูประบบสวัสดิการให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทั้งหมด สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ และกองทุนสำหรับคนพิการ 4.ใช้ศิลปะสร้างพลังและเยียวยาสังคมที่แตกแยก โดยให้มีการตั้งสมัชชาศิลปวัฒนธรรมประชาชนในทุกภูมิภาค แล้วหลังการประชุมสมัชชาฯ เสร็จสิ้นจะส่งมติทั้งหมดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับติดตามให้เกิดผลในทางปฏิบัติและเป็นไปตามมติของสมัชชาฯ

      ทั้งนี้ในส่วนของเรื่องการปฏิรูปการบริหารประเทศ เป็นการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นนั้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะที่ได้ทำงานเชิงความรู้เพื่อผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจด้านสุขภาพมาโดยตลอด จึงเข้ามาร่วมจัดเวทีวิชาการห้องย่อยในประเด็น “กระจุกหรือกระจาย (อำนาจ)” เพื่อเปิดประเด็นให้ผู้เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนมุมมองของการปฏิรูปประเทศร่วมกัน โดยมีวิทยากรคือ รศ.ดร.สกนธ์  วรัญญวัฒนา กรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.) ผศ.ดร.พงค์เทพ  สุธีรวุฒิ คณะทำงานจัดทำข้อเสนอเรื่องนโยบายพื้นที่จัดการตนเอง นายสุริยา  ยี่ขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก จ.สงขลา และนพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

     นายสุริยา  ยี่ขุ่นกล่าวว่า แม้ว่า 12ปีที่ผ่านมาจะมีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังต้องทำงานและเปลี่ยนวิธีคิดกันอีกมาก โดยเฉพาะการให้อำนาจแก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงและจริงใจ รวมทั้งปรับวิธีการทำงานร่วมกันทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การคิดร่วม ทำร่วม ติดตามร่วม ตรวจสอบร่วม ไปจนถึงการประเมินร่วม หากเรายังติดยึดอยู่กับการทำงานผ่านโครงสร้างรัฐกลาง ก็จะทำให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปได้ช้า และไม่ตอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นทิศทางการปฏิรูปประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมสร้างให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติให้ได้

      ผศ.ดร.พงค์เทพ  สุธีรวุฒิชี้ให้เห็นว่า การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ควรลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งการกระจายอำนาจให้ประชาชนและท้องถิ่นได้จัดการตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศในตอนนี้ เช่น การมีแผนการพัฒนาของแต่ละชุมชนเอง การกำหนดเป้าหมายของแต่ละชุมชนเอง ประชาชนกับท้องถิ่นคิดร่วม ทำร่วม ฯลฯ รวมทั้งควรสร้างสมดุลระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชน และท้องถิ่นกับประชาชน และเมื่อไหร่ที่การบริหารประเทศเกิดการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนและท้องถิ่นแล้ว กลไกของรัฐที่เป็นกลไกกลางจะเป็นเพียงกลไกที่จะช่วยหนุนเสริมให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เป็นกลไกที่คอยควบคุมกำกับดูแลอีกต่อไป ดังนั้นการทำงานในระยะต่อไปจึงต้องการการจัดการเชิงระบบที่จะทำให้ภาพรวมของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ท้องถิ่นชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการให้มากที่สุด

      ด้าน รศ.ดร.สกนธ์  วรัญญวัฒนา กล่าวว่า ถึงแม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมี พรบ.เรื่องการกระจายอำนาจแล้ว และหลายฝ่ายก็เห็นตรงกันว่า ในทางปฏิบัติยังติดขัดอยู่หลายส่วน ทำให้ไม่สามารถเห็นรูปธรรมของการกระจายอำนาจในแต่ละพื้นที่ได้ แต่ก็อยากย้ำว่าเราทุกคนอย่าเพิ่งหมดหวังกับระบบของประเทศ เพราะกระบวนการกระจายอำนาจยังต้องมีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนในระยะยาว ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาของประเทศแล้ว เราต้องมีความหวังที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดรูปแบบการกระจายอำนาจที่เหมาะสมกับทุกพื้นที่ต่อไป  

      อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปประเทศในประเด็นการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นคือ การเปลี่ยนความคิดของผู้คนและทุกภาคส่วนในสังคมให้ตระหนักถึง ศักยภาพของคนทุกคนและชุมชนท้องถิ่นในการดูแลและจัดการตนเอง เพราะนั่นคือความยั่งยืนของระบบที่เกิดจากการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้