4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สสพ.จับมือภาคีวางยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการล่ามภาษามือ

     เมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา กลุ่มคุ้มครองสิทธิ สำนักส่งเสริมศักยภาพและสิทธิ สำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ร่วมกับ สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ได้จัดประชุมวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบบริการล่ามภาษามือ ระยะ 3 ปี (พศ. 2554 -2556) ณ โรงแรม เดอะรอยัลเจมส์ ศาลายา จ.นครปฐม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมล่ามภาษามือ วิทยาลัยราชสุดา ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติและผู้พิการทางการได้ยิน เป็นต้น

     การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลไกนโยบายที่จะสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการล่ามภาษามือ สนับสนุนการผลิตล่ามภาษามือเพื่อรองรับการบริการ พัฒนาระบบการควบคุมมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ พัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรคนพิการ และสนับสนุนรวมทั้งสร้างความตระหนักรู้เรื่องการสื่อสารโดยภาษามือในสังคมไทย

     จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรที่มีความพิการทางการได้ยินกว่า 380,000 คน ยังไม่รวมกับจำนวนผู้พิการทางด้านการสื่อสารอีกกว่า 300,000 คน รวมเป็นเกือบ 700,000 คน ในจำนวนนี้ มีผู้พิการทางการได้ยินที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการแล้วเพียงแค่ 164,919คน ซึ่งผู้พิการเหล่านี้จะสามารถขอรับบริการล่ามภาษามือที่ได้รับการจดแจ้งได้ตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด ได้ แต่จำนวนล่ามภาษามือมีน้อยมาก ที่ได้รับการจดแจ้งแล้วมีเพียงแค่ 453 คนเท่านั้นทั่วประเทศ จึงทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการใช้ล่ามภาษามือได้อย่างทั่วถึง นับว่าปัญหาภาวะขาดแคลนล่ามภาษามือ และปัญหาการเข้าถึงการใช้ภาษามือของผู้พิการทางการได้ยินอยู่ในภาวะวิกฤติ

     นางจินตนา จันทร์บำรุงผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศักยภาพและสิทธิ สำนักส่งเสริมศักยภาพและสิทธิ สำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กล่าวว่า ยังมีคนพิการทางด้านการได้ยินอีกเป็นจำนวนมากที่แม้ว่าจะจดทะเบียนแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายได้เนื่องจากขาดแคลนล่ามภาษามือ อีกทั้งผู้พิการทางการได้ยินอีกเป็นจำนวนมาก็ยังไม่รู้ภาษามือ เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาให้คนพิการให้สามารถเข้าถึงบริการภาษามือได้นั้น จะต้องพัฒนาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ระบบการบริหารจัดการ ระบบการผลิตและพัฒนาล่าม ระบบการควบคุมมาตรฐานล่าม รวมทั้งการติดตามประเมินผล ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่เราจะต้องทำแผนยุทธศาสตร์และกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยมีทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามแผน

     นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจากการเข้าไม่ถึงภาษามือ และการขาดแคลนล่ามภาษามือของผู้พิการทางการได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้พิการมีอาการปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นอาการปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบที่ต้องการรักษาแบบทันท่วงที แต่ไม่สามารถสื่อสารบอกอาการกับเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ในโรงพยาบาลให้เข้าใจ ก็อาจจะทำให้เกิดการรักษาที่ล่าช้าได้หรือในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของผู้พิการทางการได้ยินที่เกิดจากความหวังดีของญาติ ที่ต้องการให้ผู้พิการทางการได้ยินทำหมันหลังจากคลอดลูกด้วยวิธีผ่าคลอด เพื่อเป็นการป้องกันการมีลูกพิการทางการได้ยินเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากความพิการด้านนี้เป็นความพิการที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรม แต่ไม่ได้มีการแจ้งให้ผู้พิการซึ่งเป็นพ่อแม่ได้รับทราบและเข้าใจรวมทั้งแสดงความยินยอมก่อน นอกจากนี้ยังมีกรณีการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพเช่นการให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การให้ความรู้เรื่องข้อมูลการป้องกันการติดเชื้อ HIVเป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้าไม่ถึงภาษามือ และการรับการบริการล่ามภาษามือจากผู้พิการทางการได้ยินทั้งสิ้น

     โดยในเรื่องนี้ พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ได้กล่าวว่า โครงการนี้จะมองลึกถึงกลไกการช่วยให้คนพิการทางการได้ยิน สามารถเข้าถึงบริการหรือสิทธิ์ของเขาได้จริง ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องมีระบบการบริการล่ามภาษามือที่มีคุณภาพ แม้ว่าในอดีตจะมีการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการฝึกอบรมภาษามือระดับพื้นฐาน ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ ก่อนที่จะกระจายตัวเจ้าหน้าที่ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ แต่ท้ายที่สุดก็พบว่าเมื่อมีผู้พิการทางการได้ยินมาใช้บริการน้อย ประกอบกับเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการฝึกทักษะอย่างต่อเนื่องจึงทำให้การจดจำทักษะการสื่อสารด้วยภาษามือจางหายไปตามกาลเวลา ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนาระบบบริการล่ามกลางที่จะสามารถคอยให้บริการแก่ผู้พิการทางการได้ยินให้ประจำอยู่ในทุกจังหวัด และสามารถไปให้บริการได้ทุกสถานบริการที่ผู้พิการจำเป็นจะต้องใช้บริการได้

     พญ.วัชรายังได้กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาระบบบริการล่ามนี้ ต้องการสื่อสารกับสังคมไทยว่า ล่ามภาษามือมีความจำเป็นมาก เสมือนเป็นอีกหนึ่งภาษาที่มีความสำคัญในประเทศไทย และจากจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างกลไกการพัฒนาระบบบริการโดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้ทุกฝ่ายมีทิศทางการทำงานที่ตรงกัน โดยในส่วนของ สสพ.ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการตั้งหลักเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาวางแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน ก่อนที่จะนำไปสู่การนำเสนอแผนยุทธศาตร์ต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพและชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป.

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้