ข่าว/ความเคลื่อนไหว
จากบทเรียนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทั่วโลก พบว่า ประเทศที่ให้ความสำคัญและจัดระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง จะมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีกว่า ทั้งด้านอัตราการตายของทารกและประชากรที่ต่ำกว่า เด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยมีอัตราต่ำกว่า ค่าใช้จ่ายสุขภาพต่อประชากรต่ำกว่า (Macinko et al, Health Serv Res 2003; 38:831-65) นอกจากนี้ระบบบริการปฐมภูมิที่ดี ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ (van Doorslaer et al, Health Econ 2004; 13:629-47. vanDoorslaer et al, CMAJ 2006; 174:177-83) โดยการมีแพทย์และบุคลากรที่พอดีในระบบบริการปฐมภูมิช่วยลดอัตราการตายทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา (Shi et al, SocSci Med 2005; 61(1):65-75) ทั้งนี้ ระบบบริการปฐมภูมิ และการจัดการด้วยวิธีสาธารณสุขมูลฐานมีความจำเป็นและสำคัญเพิ่มมากขึ้น (The World Health Report 2008) กับประเทศไทยด้วยเพราะสัดส่วนของผู้สูงอายุและความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น การเผชิญกับปัญหาสุขภาพทั้งที่เป็นโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ลักษณะปัญหาสุขภาพที่มีแนวโน้มสัมพันธ์กับปัจจัยทางด้านพฤติกรรมและสังคมที่เพิ่มมากขึ้น
ประเทศไทยมีนโยบายและแผนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ในด้านคุณภาพยังมีข้อจำกัดและพัฒนาไปได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากบุคลากรปฐมภูมิที่ยังไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานที่หน่วยบริการปฐมภูมิส่วนใหญ่ไม่ใช่ระดับวิชาชีพ (Paramedical personnel) แต่ในระยะ 10 ปีหลังนี้ ได้มีการพัฒนาบุคลากร และสนับสนุนบุคลากรระดับวิชาชีพทั้งที่เป็นพยาบาล และนักวิชาการสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ในส่วนแพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด เภสัชกรมีการลงมาช่วยให้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียงบางเวลา การปฏิบัติงานประจำมีเพียงบางส่วน อีกทั้งการจัดการให้เป็นทีมสหวิชาชีพลงมาร่วมปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิยังทำได้จำกัดเพียงบางพื้นที่
นอกจากนั้น การลงทุนพัฒนาหน่วยปฐมภูมิยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ โดยสถานการณ์การเงินเพื่อการส่งเสริมป้องกันมีเพียง 9% ของ Total expenditure และแนวโน้มที่จะได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพมีเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยระบบจัดการสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System: DHS) ที่เป็นส่วนสำคัญต่อการจัดการงบประมาณ และจัดบริการสนับสนุนบริการปฐมภูมิยังดำเนินงานได้จำกัด มีความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยบริหารที่เกี่ยวข้อง และวิธีดำเนินการที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ รวมทั้งในด้านองค์ความรู้ที่จำเป็นยังมีอยู่จำกัด
ประเทศไทยมีหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมทั้งหมด 11,548 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นหน่วยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่วนหน่วยบริการในสังกัดท้องถิ่น มีเพียง 199 แห่ง โดยหน่วยปฐมภูมิในชนบทมีจำนวนค่อนข้างเพียงพอ แต่ละแห่งสามารถดูแลประชากรได้เฉลี่ย 3-4 พันคน แต่ในส่วนเมืองและเขตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะดูแลประชากรจำนวนมากกว่าที่ 10,000 คน ขณะที่ในพื้นที่เขต กทม. ดูแลประชากรเฉลี่ยสูงถึง 40,000 คน
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มมีนโยบายพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอ และในปี 2557 ได้มีการพัฒนาทีมหมอครอบครัว นับเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบปฐมภูมิ แต่การดำเนินการต่างๆ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงต้องการการพัฒนาประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในภาพรวมของประเทศ ที่ครอบคลุมทั้งส่วนการดำเนินงานของกระทรวงฯ และส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ฯ ปี 2550-2554
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ในภาพรวมยังพบปัญหาสำคัญๆ เช่น ด้านการเข้าถึงคุณภาพบริการ ตลอดจนระบบบริการปฐมภูมิ ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาต่างๆ เช่น ด้านบุคลากร จึงเป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงในครั้งนี้ที่ประเทศจะมียุทธศาสตร์ทศวรรษเพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้มีความก้าวหน้า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
ด้าน นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า นโยบายระบบสุขภาพที่ดีจะช่วยทำให้เกิดสมดุลระหว่างการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชนกับการให้บริการภาครัฐ ปัจจุบันประเทศไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทันกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพและความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประเด็นสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลตนเองให้ได้ และหนุนเสริมศักยภาพการดูแลตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้อย่างแท้จริง
สอดคล้องกับผลการระดมความคิดเห็นในกลุ่มการวิจัยและสร้างความรู้เพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ที่สะท้อนภาพระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ อันพึงประสงค์ไว้ว่า ต้องทำให้ประชาชนมีขีดความสามารถดูแลตนเอง และสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างเหมาะสม ส่วนในระดับของหน่วยบริการฯ ต้องทำหน้าที่จัดบริการคุณภาพและให้ข้อมูลกับผู้รับบริการเพื่อตัดสินใจได้ ดังนั้นประเทศที่มีระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง สามารถสะท้อนได้จากศักยภาพในการดูแลตนเองของชุมชน และการจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) ได้ให้ความเห็นถึงสิ่งที่คาดหวังในการจัดระบบใหม่ไว้ว่า ประเทศไทยต้องมีนโยบายสาธารณะที่เน้นบริการสุขภาพปฐมภูมิ จัดระบบบริหารจัดการและระบบบริการที่รองรับการบริการปฐมภูมิที่พึงประสงค์ โดยมีการเชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิกับระบบสุขภาพชุมชน และระบบบริการทุติยภูมิ ตติยภูมิ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อการเข้าถึงบริการแบบไร้รอยต่อและไร้พรมแดน อีกทั้งมีระบบการเงินการคลัง และระบบสนับสนุนอื่นๆ ในการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้