4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สกว. กับภารกิจใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัยไทย

       เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศ จะเพิ่มงบประมาณให้หน่วยงานวิจัยของไทยในปีงบ 2555 โดยจะให้มียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และกระตุ้นให้เอกชนให้ความสำคัญกับงานวิจัยและงานประดิษฐ์มากขึ้น

          ข่าวนี้คงทำให้คนในแวดวงวิจัยรู้สึกยินดีไม่มากก็น้อย ที่เห็นนายกรัฐมนตรีเห็นคุณค่าของงานวิจัยของไทย แต่ก็คงเกิดคำถามเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดว่า งานวิจัยไทยใช้ได้จริงหรือ เพิ่มงบให้แล้ว งานวิจัยจะเป็นประโยชน์ไหม หรืองานวิจัยไทย เมื่อไรจะเลิกมีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่เป็นเอกภาพเสียที

          อันที่จริงหน่วยงานให้ทุนวิจัยก็ทราบดีว่ามีคำถามดังกล่าวจากสังคม และก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว โดยตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ความพยายามดังกล่าวก็เริ่มเป็นจริง มีการพูดคุยหารือกันระหว่างหัวหน้าหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยหลักของประเทศ คือ 5 ส.+ 1 ว. ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร  (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อยู่เป็นระยะๆ โดย หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ใหญ่ด้านการวิจัยของประเทศ โดย วช. จะเป็นผู้ดูยุทธศาสตร์หลักทั้งหมด แล้วมอบให้หน่วยจัดการทุนที่เหมาะสมต่อไป

          เบื้องต้นนี้ทุกหน่วยงานตกลงกันทำยุทธศาสตร์นำร่อง 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ "ข้าว" มี วช. รับเป็นหน่วยงานเจ้าภาพการจัดทำร่าง, ยุทธศาสตร์ "มัน" (มันสำปะหลัง) มี สวทช. เป็นเจ้าภาพจัดทำร่าง และยุทธศาสตร์ "ยาง" (ยางพารา) และ "โลจิสติกส์" มี สกว. เป็นเจ้าภาพ โดยมีความคืบหน้า คือ สกว. กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์งานวิจัยโลจิสติกส์ ส่วนร่างยุทธศาสตร์ข้าว มัน และยาง นั้น ทั้งสามหน่วยงานได้จัดทำเสร็จแล้ว และในวันศุกร์นี้หน่วยงาน 5 ส. + 1 ว. จะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว

          หลังจากเห็นชอบร่วมกันแล้ว ยุทธศาสตร์เหล่านี้ก็จะเป็นยุทธศาสตร์กลางที่ทุกหน่วยงานจะต้องใช้ร่วมกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่าง หน่วยงาน ในการนำสู่การบูรณาการระบบวิจัยของประเทศ
          นอกจากการบูรณาการด้านยุทธศาสตร์วิจัยแล้ว ยังมีการบูรณาการกันในด้านข้อมูลด้วย โดยขณะนี้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กำลังดำเนินการรวมฐานข้อมูลงานวิจัยของหน่วยงานให้ทุนวิจัยต่างๆ ในอนาคต เมื่อท่านผู้อ่านหาข้อมูลวิจัยจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ระบบการค้นหาก็จะไปดึงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาให้ในคราวเดียวกัน ไม่ต้องเสียเวลาค้นข้อมูลจากแต่ละหน่วยงานอีกต่อไป 

          ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า ในอนาคตงานวิจัยไทยก็จะมีเอกภาพมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการขอทุนวิจัยของนักวิจัย และความซ้ำซ้อนของการให้ทุนวิจัยของแต่ละหน่วยงานเอง หน่วยงานต่างๆ สามารถบริหารงบวิจัยได้อย่างเหมาะสม ระบบวิจัยของประเทศชาติจะเข้มแข็งขึ้น เป็นระบบ มีความเชื่อมโยง และมีประโยชน์ได้จริง

          ในส่วนของ สกว. เอง มีนโยบายมุ่งเน้นให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดอยู่แล้ว เห็นได้จากการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2553 ที่เพิ่งประกาศผลไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทุกงานที่ได้รับคัดเลือกล้วนเป็นผลงานที่มีการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน หลายงานมีการนำไปใช้ในระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น ผลงานวิจัยเรื่องการศึกษาระบบสิทธิในที่ดินของชุมชนที่เหมาะสม ที่ได้เสนอทางแก้ปัญหาการเรียกร้องสิทธิในที่ดินของประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้นำไปใช้ในการออกนโยบายโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม งานวิจัยเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ที่เริ่มในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นแนวทางในการปรับใช้กับเยาวชนพื้นที่อื่นๆ ที่มีภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างไปจากภาษาและวัฒนธรรมส่วนกลาง หรือและงานกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายยุติธรรมชุมชน (ระดับตำบล) จ.ตรัง ที่กระทรวงยุติธรรมกำลังจะนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดตรังอีกอย่างน้อย 20 พื้นที่

          กระนั้นก็ตาม สกว.ยัง พยายามเพิ่มอัตราส่วนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีก แม้แต่งานวิจัยด้านวิชาการ ที่แต่เดิมมุ่งเน้นการตีพิมพ์ผลวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติ ฝ่ายวิชาการ สกว. ก็ได้ปรับแนวทาง โดยพิจารณาให้ทุนวิจัยแก่ผู้เสนอหัวข้องานวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การ พัฒนาประเทศ นำไปใช้ประโยชน์หรือตอบโจทย์ของประเทศได้ในระยะยาวด้วย ไม่มุ่งเน้นการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพียงอย่างเดียว

          หรือฝ่ายโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ซึ่งมีพันธกิจในการจัดสรรทุนวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อผลิตผลงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยไทยที่ได้ มาตรฐานสากลก็จับมือกับภาคอุตสาหกรรมให้ทุนวิจัยที่เรียกว่า "ทุน คปก.-อุตสาหกรรม" มา 4 ปีแล้ว มีบริษัท-องค์กรเข้าร่วมกว่า 100 ราย ผลิตอาจารย์ที่ปรึกษาได้ 127 คน จำนวนโครงการได้รับทุน 164 โครงการ  สาขาของโครงการวิจัยที่ได้รับทุนกระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ที่สำคัญๆ ของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร  ปิโตรเคมี ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  ฯลฯ จำนวนผู้สมัครรับทุนและจำนวนผู้ประกอบการทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วม คปก.-อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา คปก. หลายโครงการมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม อย่างเป็นรูปธรรม นับว่าโครงการ คปก.-อุตสาหกรรม มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมไทยมีความรู้ระดับสูง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง 

          สำหรับกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ ได้แก่ ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ ฝ่ายเกษตร ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ ฝ่ายชุมชนและสังคม ฝ่ายอุตสาหกรรม และกลุ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ก็ต้องทำงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น จากเดิมที่เคยทำงานกับนักวิจัยและแวดวงนักวิจัยของเรา ก็ต้องเปิดกว้าง "ออกจากบ้าน" ไปทำงานกับหน่วยงานข้างนอก ได้แก่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และหน่วยงานให้ทุนวิจัยหน่วยงานอื่นๆ มากขึ้น เพื่อให้โจทย์วิจัยชัดเจนและตรงเป้าหมายแต่แรก ซึ่งจะทำให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ และตอบสนองความต้องการของประเทศชาติและสังคมมากยิ่งขึ้น

          เชื่อว่า ภารกิจของ สกว. และหน่วยงานให้ทุนวิจัยทุกแห่ง จะต้องเข้มข้นขึ้นอีกภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัยของประเทศ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 10

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้