ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ครม.เศรษฐกิจอนุมัติงบหลักประกันสุขภาพปี 59 กว่า 1.65 แสนล้าน เพิ่มเหมาจ่ายรายหัว 3,028 บาท จากเดิม 2,895 บาทต่อราย ขณะคตร.จี้ สปสช.จัดทำระบบวงเงินงบประมาณ และการเบิกจ่ายให้โปร่งใส พร้อมขยายกรอบวงเงินประกันสุขภาพให้แก่คนไร้สัญชาติ ด้าน"ทีดีอาร์ไอ" ชี้เพิ่มวงเงิน รักษาพยาบาลรายหัวแก้ปัญหาระยะสั้น แนะรัฐหามาตรการรองรับค่าใช้จ่ายรักษาผู้สูงอายุเพิ่ม แนะหั่นงบความมั่นคง จ่ายหลักประกันสุขภาพเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล
ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น ประธานวานนี้ (16 เม.ย.) ว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้พิจารณางบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประจำปีงบประมาณ 2559 วงเงินรวม 165,095 ล้านบาท และเห็นชอบอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2559 จำนวน
งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงินงบประมาณ 163,152 ล้านบาท ของจำนวนประชากร 48.7 ล้านคน และ งบบริหารจัดการ สปสช. วงเงิน 1,943 ล้านบาท
สำหรับอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2559 แยกเป็นค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,011 ล้านบาท ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 6,318 ล้านบาท ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง บริการควบคุมความรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง และบริการผู้ป่วยจิตเวช 959 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการ 1,490 ล้านบาทเศษ และค่าตอบแทนกำลังพล 3,000 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 600 ล้านบาทสั่งเพิ่มงบสถานพยาบาลห่างไกล
ร.อ.ยงยุทธ กล่าวว่าที่ประชุมรับทราบการพิจารณาร่วมกันระหว่าง สปสช. กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดกลไกการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุนให้มีความชัดเจน โปร่งใส รวมไปถึงแนวทางแก้ปัญหา กรณีสถานพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลได้รับงบประมาณไม่เพียงพอที่จะให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม
ที่ประชุมฯยังเห็นชอบให้ สปสช.แก้ปัญหา กรณีการแบ่งเขตสุขภาพ โดยปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต โดยเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการจากโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนและโรงงานส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมเป็น 3 คน เพิ่มจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์ หรือสาธารณสุข ด้านบริหาร ด้านการเงิน ด้านกฎหมายและด้านอื่นๆรวมเป็น 5 คน โดยให้มีองค์ประกอบทุกภาคส่วนในการทำงานอย่างเหมาะสม คตร.จี้ สปสช.เบิกจ่ายโปร่งใส
นอกจากนี้ ครม. เศรษฐกิจ ยังได้ให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสปสช. พิจารณา บทบาทของ สปสช. ต่อจากนี้ไป คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เห็นว่าสมควรที่จะเร่งดำเนินการปรับปรุงกลไก ติดตามและกำกับดูแลให้การบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
ทั้งนี้ งบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ในการบริหารด้านสาธารณสุข คือการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคล โดยจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายต่อหัวนั้น ที่ผ่านมา สปสช. ไม่ได้นำไปใช้บริการสาธารณสุขต่อประชาชนทั้งหมด แต่นำไปใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ เช่น การก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร ค่าตอบแทนบุคลากรเพิ่มเติม และสนับสนุนมูลนิธิต่างๆ ในหลักปฏิบัติแล้วต้องใช้จากงบบริหารจัดการ สปสช. หรือจากงบประมาณปกติของส่วนราชการ จึงควรพิจารณาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโดยตรงกับประชาชนเป็นหลัก
สำหรับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ พร้อมให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ให้ระบบหลักประกัน สุขภาพ ระบบประกันสังคม และระบบการรักษาพยาบาลของข้าราชการ มีแนวทางในการจัดการองค์กรให้มีมาตรฐานสอดคล้องกัน ให้ดูระบบไอทีที่สามารถใช้ด้วยกันได้ รวมถึงดูความพอเพียงของการใช้งบในอนาคต และดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ในอนาคตสั่งจัดให้สิทธิ์คนไร้สัญชาติ
ร.อ.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาการให้สิทธิ หรือคืนสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคล ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติม และจัดการสถานะและสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ทั้งระบบ ทั้งนี้เนื่องจากปี 2553 ครม.มีมติอนุมัติหลักการให้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2553 งบกลาง กรอบวงเงิน 472 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2557 สามารถดำเนินการได้กว่า 507,000 คน
ทั้งนี้การลงทะเบียนยังไม่ครอบคลุมบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจและการดำเนินการทางทะเบียน กระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอครม.พิจารณาอนุมัติให้สิทธิหรือคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติมในสองส่วนคือ 1. บุคคลที่มีปัญหาสถานะ สิทธิ ที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แล้ว รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว มีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งมีจำนวน 208,631 คน
2. เด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจและดำเนินการให้สิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาแล้วตามมติครม.เมื่อปี 2548 กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำทะเบียนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ครอบคลุมบริการด้านการเสริมสร้างสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล รวมจำนวน 76,540 คนสำนักงบฯรับรองสถานะกว่า2แสนคน
ครม.เศรษฐกิจ วานนี้(16เม.ย.) เห็นชอบกรอบดังกล่าว เป็นการให้สถานะคนทั้งหมดรวม 285,171 คน แต่สำนักงบประมาณเห็นควรอนุมัติให้สิทธิดังกล่าวในเบื้องต้น 206,748 คนก่อน ซึ่งเป็นคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมถึงบุตร ที่กระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียน และมีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว
ส่วนกลุ่มบุคคลอื่นที่อ้างว่าเป็นคนสัญชาติไทย แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้เพราะขาดหลักฐานได้อีก 1,883 คน ให้ดำเนินการตรวจพิสูจน์ก่อน รวมถึงกลุ่มนักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว 76,540 คน แต่ยังไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์ ยังไม่มีความชัดเจนถึงจำนวนที่แท้จริง และอาจจะมีความซ้ำซ้อนของข้อมูล เห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุข ประสานงานกับสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทยชี้เพิ่มเงินรายหัวแก้ปัญหาระยะสั้น
ด้าน นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเพิ่มงบประมาณ 4.6% ถือว่าช่วย ผ่อนคลายสภาวะตรึงตัวและภาระค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลต่างๆแบกรับอยู่หลังงบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้ปรับขึ้นมานานกว่า 3-4 ปี
ปัจจุบันงบประมาณที่จัดสรรให้เป็นค่ารักษาพยาบาลที่ สปสช.ดูแลอยู่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในอนาคตรายจ่ายในส่วนนี้มีแนวโน้ม จะปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ทั้งค่าจ้างแรงงาน และค่ายาที่ปรับเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับ ผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าประชากรในวัยทำงานซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
นายวิโรจน์ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับค่าใช้จ่ายของกองทุนฯที่เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่เสนอให้เก็บภาษีพิเศษ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ซึ่งทำได้ยากในทางปฏิบัติ เช่น เดียวกับการเก็บภาษีประชาชนเพิ่มเติม รัฐบาลส่วนใหญ่ก็จะไม่เลือกวิธีการนี้เพราะการปรับขึ้นภาษีกระทบประชาชนจำนวนมากรัฐบาลหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ตัดสินใจที่จะไม่ทำ แนะหั่นงบความมั่นคงมาจ่ายเพิ่ม
ทั้งนี้มองว่าวิธีการที่ดีคือการปรับลดงบประมาณรายจ่ายบางส่วน ที่สามารถทำได้คือการปรับลดงบประมาณด้านความมั่นคงที่มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมาแล้วนำงบประมาณ ดังกล่าวมาใช้อุดหนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น
"ตอนนี้แนวทางที่เป็นไปได้ก็คือการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ส่วนแนวคิดที่จะปรับลดสวัสดิการข้าราชการที่ให้วงเงินในการรักษาพ่อ แม่ แล้วให้มารักษาภายใต้กองทุนที่ สปสช.ดูแลอยู่โดยรัฐบาลจะเพิ่มวงเงินในการดูแลผู้สูงอายุให้ก็ทำได้ยากเพราะข้าราชการก็พิทักษ์ผลประโยชน์ตนเอง บอกว่าตนเองเงินเดือนน้อย กระทบขวัญกำลังใจข้าราชการการปฏิบัติที่เหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนจึงยังคงมีอยู่" นายวิโรจน์กล่าว เพิ่มงบสปสช.ช่วยได้ระยะสั้น
นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร แพทย์ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอณูพันธุศาสตร์มะเร็งและโรคของมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า การที่เพิ่มเงินต่อหัวลักษณะนี้เป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนเท่านั้น มีความกังวลว่าหากยังใช้วิธีการในลักษณะนี้ ต่อไปจะเป็นปัญหาเรื่องงบประมาณในอนาคต
นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาแบบนี้ถือว่าถูกต้อง แต่สามารถใช้ได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ควรเพิ่มการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมการให้ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วย และที่สำคัญต้องทำการศึกษาระบบการจัดการใหม่ เพื่อมาดูว่ามีการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น ก็ต้องมีการตัดทิ้งไป เพราะในงบประมาณส่วนนี้ ก็ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแพทย์ด้วย "หากไม่แก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมกว่าที่ดำเนินอยู่นั้น โรงพยาบาลที่ขาดทุนก็จะกลับมาใช้วิธีการเดิมๆ คือ การผลักภาระการรักษาพยาบาลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558 หน้า 1,4
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้