4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ปูดเบิกค่ายา"เข่าเสื่อม"สูงสุด คลังเข้มบริษัทยารายได้หด


          นักวิชาการปูดข้าราชการกลุ่มเดียวเบิกกลูโคซามีนปีละ 600 ล้านบาท เท่างบซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ล้านโด๊ส ขณะ ที่ "พรีม่า" คาดปี 2554 ตลาดยานอกในไทยลดลง 5% คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท หลังถูกคลังออกมาตรการคุมเข้มสั่งจ่ายยา ขณะที่ อภ.สวนทางแนวโน้มการตลาดพุ่งต่อเนื่อง เชื่อไม่กี่ปีครองตลาดยาในประเทศแน่ เผยบริษัทยาข้ามชาติเตรียมปรับตัว ลดค่าใช้จ่าย

          จากมาตรการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่กระทรวงคลังประกาศห้ามเบิกค่ายา "กลูโคซามีน" หรือยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อมทุกรายการ เพื่อคุมค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มมากขึ้นของกองทุนสวัสดิการข้าราชการ

          นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้ทำงานและ เลขานุการคณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ ภายใต้อนุกรรมการพัฒนามาตรฐานการรักษาพยาบาลและการจ่ายเงิน กล่าวว่า นี่เป็นข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ ที่ข้าราชการไทยเบิกยากลูโคซามีนอย่างเดียวปีละ 600 ล้านบาท ทั้งที่ยานี้มีผลต่อการรักษาไม่แตกต่างจากยาแก้ปวดทั่วไป และจัดเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งข้าราชการจะใช้ได้เฉพาะกรณีที่ "จำเป็น" เท่านั้น ซึ่งเงินจำนวน 600 ล้านบาท ควรเอาไปทำอะไรที่คุ้มค่ากว่ามากมาย
          "ปีที่แล้ว รัฐบาลใช้เงินจำนวนเท่ากัน ในการสั่งซื้อวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ถึง 2 ล้านโด๊ส และในปี 2553 รัฐบาลได้สนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วย และบริการฟื้นฟูคนพิการทั่วประเทศ ผ่านงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 305 ล้านบาท หรือเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ข้าราชการกลุ่มเดียว เบิกค่ายากลูโคซามีน เป็นต้น"

ชี้เหตุราคาสูงเพราะเชื่อว่าดี
          นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่สุดตอนนี้ จึงไม่เพียงการถกเถียงกันเรื่องกลูโคซามีน แต่คือการมองภาพใหญ่ว่า เงินของส่วนรวมมีอยู่จำกัด หากคนกลุ่มหนึ่งกำลังใช้โดยไม่ระวัง อาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศล้มเหลวและกระทบกับคนไทยทุกคน เพราะเรายังมีปัญหาสาธารณสุขอีกมากมายที่ต้องแก้ไข ยังมีสุขภาพเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ โรคเรื้อรัง อุบัติเหตุ ฯลฯ
          "สาเหตุที่มีการเบิกยาชนิดนี้มาก เพราะผู้ใช้ยาหลักคือ ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการนั้นได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน และมีความเชื่อว่า "ยาแพง ยาหรู คือ ยาดี" แต่หากต้องควักกระเป๋าซื้อเองแล้ว คงจะตรึกตรองมากขึ้น และมองหาทางเลือกอื่นในการรักษาเช่นกัน" นพ.สัมฤทธิ์กล่าว
          ส่วนสาเหตุที่แพทย์จำนวนหนึ่งสั่งยานี้ เพราะแพทย์เองก็ได้ข้อมูลเพียงด้านเดียวจากบริษัทยา โดยอ้างผลงานวิจัยรองรับ ทั้งที่งานวิจัยส่วนใหญ่ที่นำมาอ้าง บริษัทยาเป็นผู้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อให้มีข้อมูลใช้ในการส่งเสริมการขาย จนในที่สุด แพทย์ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่ายานี้เป็นยาดีอย่างบริสุทธิ์ใจ

บริษัทยากระทบมาตรการคลัง
          พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) กล่าวแนวโน้มตลาดยาในประเทศไทยว่า จากข้อมูลจาก Business Monitor international : Thailand Pharmaceuticals & Healthcare Report Q2 2010 พบว่าแนวโน้มการเติบโตตลาดยาในประเทศไทย ปี 2554 เฉพาะของบริษัทยาที่เป็นสมาชิกพรีม่า อยู่ที่ 1-2% เท่านั้น โดยมีอัตราการเติบโตที่ลดลง 5% จากปี 2553 หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท
          บริษัทผลิตยาสามัญในประเทศนั้น เราไม่มีรายละเอียด แต่จากข้อมูลที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 อัตราการเติบโตลดลงในทิศทางเดียวกัน ขณะที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากทิศทางยังเป็นเช่นนี้ ประกอบกับมีมาตรการต่างๆ ด้านยาออกมาต่อเนื่อง อีกไม่กี่ปี อภ.จะเป็นเจ้าตลาด ซึ่งขณะนี้ เราไม่ทราบส่วนแบ่งตลาดของ อภ. เพราะเราไม่มีข้อมูลเช่นกัน
          "การเติบโตตลาดยาในไทยเคยติดลบมาแล้วในช่วงปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โดยบริษัทยาต่างปรับตัวขึ้นมาได้ แต่ในปี 2554 นี้ บริษัทยาในกลุ่มสมาชิกพรีม่าต่างทำนายว่า ตลาดยาในประเทศไทยจะไม่เติบโตและติดลบอีกครั้งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ อื่นๆ อย่างอินเดียพบว่ามีการเติบโตถึง 15% ขณะที่จีนไม่ต้องพูดถึง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรีม่ากล่าว
          ส่วนที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกมาตรการห้ามเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการข้าราชการ 9 กลุ่ม จะส่งผลกระทบต่อตลาดยาต้นแบบอย่างไร พญ.กิติมา กล่าวว่า ยอมรับว่าสมาชิกต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตตลาดยาปีนี้จะลดลง บริษัทสมาชิกคงมีการหารือภายในบริษัทว่าจะทำอย่างไร ซึ่งคิดว่าในทางธุรกิจคงต้องมีการปรับแผนนโยบาย และการปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นลง รวมถึงการปรับโครงสร้างคนในองค์กร แต่ยังคงในส่วนของคุณภาพยาไว้ เพราะเราเป็นบริษัทนานาชาติ คุณภาพและความเชื่อมั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หวั่นห้ามเบิกยากระทบผู้ป่วย

          การห้ามเบิกจ่ายยาใน 9 กลุ่มนั้น กลุ่มยาที่ประกาศออกมาแล้วคือ ยารักษาโรคข้อ โดย พญ.กิติมา กล่าวว่า ในกลุ่มพรีม่าเองก็มีสมาชิกที่ขายยาเหล่านี้อยู่มาก ซึ่งกลูโคซามีนนั้นเราไม่ทักท้วงเพราะไม่ได้เป็นยา และในหลายประเทศยังขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริมเท่านั้น แต่ในกลุ่มยารักษาโรคข้อที่เป็นยาและถูกรวมห้ามเบิกจ่ายด้วยนั้น สมาชิกต่างไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงถูกจัดรวมด้วย ทั้งๆ มีให้ผลการรักษาเป็นยา ทั้งยังมีข้อบ่งใช้ต้องฉีดโดยแพทย์เท่านั้น โดยจะฉีดให้กับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยข้อจนเดินไม่ได้ จึงควรจัดกลุ่มเป็นยารักษา
          "เรื่องนี้กระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง โดยเฉพาะในระบบสวัสดิการข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และที่ผ่านมา ทราบว่าทางราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ได้เข้าพบกรมบัญชีกลางเพื่อชี้แจงแล้ว ทั้งนี้ การคุมควบคุมการใช้ยาถือเป็นเรื่องดี แต่หากมากไปก็อาจกระทบต่อการรักษาได้"

ชี้ยาแพงเหตุเทคโนโลยีดีขึ้น
          ทั้งนี้ ขอชี้แจงสาเหตุของยาแพงว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตยามีการพัฒนาไปมาก จากเดิมที่เป็นการคิดค้นยาจากโมเลกุลไม่เกี่ยวตัว แต่ขณะนี้ การคิดค้นยาค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากกว่า ทำให้ค่าวิจัยต่างจากอดีตอย่างมาก เพิ่มเป็น 20 เท่าในช่วง 30 ปี จากเดิมใช้เพียง 1,900 ล้านดอลลาร์ เป็น 50,000 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ยใช้เงินคิดค้น 1,300 ล้านดอลลาร์ต่อยาใหม่ 1 รายการ โดยในแต่ละปีมีการวิจัยคิดค้นยาเป็นพันรายการ แต่สามารถวิจัยจนได้ยาใหม่เพียงแค่ 20-30 รายการต่อปีเท่านั้น
          อีกทั้งเมื่อวิจัยแล้วยังติดสิทธิบัตร ซึ่งแม้จะมีอายุ 20 ปี แต่เมื่อเริ่มต้นค้นพบและจดสิทธิบัตรยังต้องใช้เวลาวิจัยยาต่อประมาณ 13 ปี จึงเหลือเวลาเพียง 5-7 ปี ในการคืนทุนและกำไรเท่านั้น และมีหลายโครงการวิจัยที่ล้มเหลวไปอีก
          นอกจากนี้ ยายังเป็นสินค้าที่ราคาลงเร็วมาก ทันทีที่หมดสิทธิบัตรหรือมีผู้ผลิตแข่งออกมาจำหน่าย ราคายาก็จะตกลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังรวมค่าใช้จ่ายการติดตามเฝ้าระวังยาที่ออกสู่ตลาดเพื่อความ ปลอดภัยผู้บริโภค ส่วนที่ระบุว่าสาเหตุยาแพงมาจากการทำตลาดนั้น ยอมรับว่าการนำยาออกตลาดต้องมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เพื่อเป็นการสื่อสารให้ผู้ใช้ยารู้ข้อมูล แต่ต้นทุนเหล่านี้ไม่ได้เกินต้นทุนการวิจัยยา ทั้งยังมีหลักเกณฑ์คอยคุมอยู่

ไทยมีค่าใช้ยาน้อยกว่าฟิลิปปินส์

          พญ.กิติมา กล่าวว่า เมื่อดูภาพใหญ่ในตลาดยาทั่วโลกจากข้อมูลของ IMS Market Prognosis พบว่าทั่วโลกมีประชากร 6.6 ล้านคน มีมูลค่าตลาดยาอยู่ที่ 835,900 ล้านดอลลาร์ หรืออยู่ที่ 126.27 ดอลลาร์ต่อคน ขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 66.9 ล้านคน มีมูลค่าตลาดยาที่ 2,946 ล้านดอลลาร์ เพียงแค่ 1% ของตลาดยาทั้งโลก หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 43.98 ดอลลาร์ต่อคน ชี้ให้เห็นว่าเราบริโภคยาน้อยมาก
          อย่างไรก็ตาม ยาเป็นแค่ส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพ ซึ่งจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้คำนวณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในแต่ละประเทศพบว่า ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ 3.7% ของอัตราค่าใช้จ่ายมวลรวมของประเทศ (จีดีพี) น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ 3.9% มาเลเซีย 4.4% และเวียดนาม 7.1% เป็นต้น ซึ่งการใช้งบประมาณด้านสุขภาพน้อยน่าจะส่งผลต่อคุณภาพการรักษาด้วย

ชี้ระบบประกันสุขภาพไม่ยั่งยืน

          พญ.กิติมา กล่าวว่า ตัวเลขข้างต้นเมื่อดูระบบการรักษาพยาบาลในบ้านเรา เราแบ่งสิทธิการรักษาพยาบาลเป็น 3 ระบบ โดยงบประมาณทั้ง 3 ระบบจะไหลไปไหลมา คือ หากงบประมาณในระบบหนึ่งได้น้อย จะไปนำงบประมาณในอีกระบบหนึ่งมาทดแทน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้เชื่อว่าจะให้ระบบไม่ยั่งยืน จึงควรที่จะมีการร่วมจ่ายเช่นในระบบประกันสังคม โดยควรให้มีการดึงให้เกิดการร่วมจ่ายมากที่สุด คิดคำนวณอย่างเป็นธรรมและไม่ส่งผลกระทบ เพราะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องยอมรับว่าคนที่มีสิทธิในระบบนี้ไม่ใช่คนจนทั้งหมด ดังนั้นจะดึงคนเหล่านี้เข้ามาร่วมจ่ายอย่างไร โดยให้รัฐบาลดูแลเฉพาะในกลุ่มคนจนเท่านั้น
          "ประเทศออสเตรเลีย มีระบบสุขภาพที่ถูกระบุว่าบกพร่องน้อยสุด โดยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 8.9% ของจีดีพี แต่สิทธิการรับยา ผู้ป่วยยังต้องจ่ายส่วนเกิน กรณีที่ต้องการใช้ยาต้นแบบแทนยาสามัญที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะที่บ้านเราไม่ต้องจ่ายอะไรเลย เป็นที่มาของการออกมาตรการบังคับด้านยา จึงเห็นควรให้มีการร่วมจ่าย ไม่เพียงแต่ทำให้ระบบยั่งยืน" พญ.กิติมากล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 1

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้