ข่าว/ความเคลื่อนไหว
“สอนให้รู้ จูงให้เดิน แล้วก็ปล่อยให้เดินต่อเอง ด้วยความเข้มแข็ง” คำพูดของ พี่ตุ้ม คุณภัทรีพันธ์ พงศ์วัชร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (SMEDI) และผู้จัดการโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างเครือข่ายเพื่อยกระดับความเข้มแข็งด้านอาชีพและองค์กรของคนพิการ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างเครือข่ายฯ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ สวรส. และ สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างฐานการมีอาชีพและการมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้ผู้พิการสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ เพราะหากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเข้มแข็งแล้ว ก็จะส่งผลถึงการมีสุขภาวะที่ดีตามไปด้วย
คุณภัทรีพันธ์ พงศ์วัชร์ เล่าต่อว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างเครือข่ายเพื่อยกระดับความเข้มแข็งด้านอาชีพและองค์กรของคนพิการ เป็นโครงการที่ยกระดับกลุ่มคนพิการผู้ผลิตสินค้าและบริการสู่กลุ่มผู้ผลิตที่มีคุณภาพ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งสามารถขยายโอกาสการเข้าถึงการมีอาชีพและรายได้ของคนพิการด้วยกันเองมากขึ้น โดยการประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เป็นภาคียุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิต รูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยการสร้างกลไกและสร้างเครื่องมือในการบริหาร เพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กรให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังมีเป้าหมาย เพื่อต้องการหนุนเสริมให้เกิดการขยายฐานการผลิตและเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มอาชีพคนพิการ ทั้งที่เป็นกลุ่มผู้ปกครองเด็กพิการ คนในครอบครัวคนพิการ ในการเสริมศักยภาพการผลิต การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดได้อย่างครบวงจร ซึ่งภาคีที่ร่วมทำงานมีหลายหน่วยงาน อาทิ สถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (SMEDI) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ฯลฯ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ถึงเดือนเมษายน 2558 และมีพื้นที่การทำงานใน 4 พื้นที่คือ 1) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 2) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 3) อ.เชียงคำ จ.พะเยา 4) อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ทั้งนี้ จากการดำเนินงานมาระยะหนึ่ง ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของแต่ละพื้นที่และการทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย จึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เส้นทางการพัฒนาอาชีพขึ้น เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหา อุปสรรค และเชื่อมความร่วมมือระหว่างกลุ่มหรือองค์กรคนพิการ โดยมีตัวแทนจากพื้นที่ทั้ง 4 พื้นที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเวทีประมาณ 30 คน เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะแลคกาซี่ งามวงศ์วาน
“การลงทำงานในทั้ง 4 พื้นที่ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงแหล่งทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในชุมชน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและสนับสนุนกันอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เป็นฝีมือของผู้พิการให้ไปสู่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) รวมถึงการวางแผนการตลาดที่เชื่อมโยงและช่วยเหลือกันเป็นเครือข่าย โดยพื้นที่ จ.นนทบุรี มีกลุ่มสหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์คนพิการไทยเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพของผู้พิการ ซึ่งโครงการฯ ได้เข้าไปให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการกลุ่มสหกรณ์ให้สามารถผลักดันให้เกิดงานที่เป็นประโยชน์กับสมาชิกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายและเรื่องการพัฒนางานอาชีพให้กับคนพิการ ส่วนอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มหัตถกรรมคนพิการและผู้ปกครองคนพิการดอยวาวี จ.เชียงราย ศูนย์เรียนรู้การแปรรูปสิ่งทอผ้าพื้นเมืองอำเภอเชียงคำ จ.พะเยา และศูนย์การเรียนรู้คนพิการในชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี ต่างก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ซึ่งสำหรับทั้ง 3 กลุ่ม สิ่งสำคัญที่โครงการฯ อยากเห็นการเติบโตต่อไปคือการรวมพลังกลุ่มอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และสามารถเชื่อมโยงการทำงานที่เกื้อหนุนกันกับเครือข่ายอื่นๆ ได้ ดังนั้นการพบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจะทำให้สมาชิกแต่ละกลุ่มได้เปิดโลกทัศน์และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อการสร้างงานที่แปลกใหม่และมีคุณภาพอยู่เสมอ” คุณภัทรีพันธ์ เล่ารายละเอียดเพิ่มเติม
ด้าน คุณมาจะ ศรัทธาไทย ผู้นำกลุ่มผู้ปกครองเด็กพิการดอยวาวี จ.เชียงราย เล่าว่า การรวมกลุ่มของผู้ปกครองเด็กพิการทำให้ตัวเองและเพื่อนๆ มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต ไม่อายที่มีลูกพิการ และกล้าที่จะพาลูกพิการร่วมทำกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ซึ่งโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างเครือข่ายฯ ได้เข้ามากระตุ้นและให้ความรู้กับกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ฯลฯ โดยการอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นๆ ทำให้ได้รู้จักเครือข่ายคนพิการและมีโอกาสได้ไปเรียนรู้นอกชุมชน รวมถึงการออกร้านขายผลิตภัณฑ์ในงานแสดงสินค้าต่างๆ ทำให้ตัวเองมีอาชีพเสริมและมีเพื่อนๆ คอยให้คำปรึกษาซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
คุณภัทรีพันธ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง โครงการฯ ก็ต้องถอยออกมาจากพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นในแต่ละพื้นที่คือ การรวมกลุ่มดำเนินงานกันต่อไปอย่างเข้มแข็ง และเกาะเกี่ยวช่วยเหลือกันเป็นเครือข่าย รวมถึงกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ในชุมชนมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสมาชิกของแต่ละกลุ่มมีความเข้มแข็ง สามารถมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน และมีศักดิ์ศรีในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้