ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นำเสนอความก้าวหน้า “โครงการศึกษาประเมินระบบการบริหารจัดการเขตบริการสุขภาพของไทย” โดยมี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขต 8 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้ตรวจราชการ สธ. เขต 2 นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ ผู้แทนเขต 1 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ผู้ตรวจราชการเขต 11 นพ.จิรศักดิ์ วิจักขณาลัญฉ์ สำนักตรวจราชการเขต 3 พญ.ประนอม คำเที่ยง ผู้ตรวจราชการเขต 10 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ สำนักบริหารสาธารณสุข ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สวรส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม โดยมี ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ นักวิจัย นำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการวางแผนการกำกับติดตามการดำเนินงานของเขตสุขภาพ ณ ห้องประชุมสุปัญญา อาคารสุขภาพแห่งชาติ
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ นักวิจัย สวรส. กล่าวว่า การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพรวมสถานการณ์ของระบบบริหารเขตบริการสุขภาพ ตามนโยบาย กสธ. โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 30 กันยายน 2557 ที่ลงทำการศึกษาใน 4 พื้นที่ คือ เขตบริการสุขภาพที่ 2, 5, 7 และ 11 พร้อมวิเคราะห์สมรรถนะการดำเนินงานของเขตตัวอย่าง รวมไปถึงการศึกษาลักษณะการอภิบาลระบบการบริหารจัดการและปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ โดยการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขนิเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล รวมถึงบุคลากรที่สังกัดหน่วยต่างๆ รวม 174 คน
นักวิจัยได้นำเสนอถึง “ปัจจัยนำเข้าสู่ระบบ” โดยจากการศึกษาพบว่า ด้านต้นทุนพื้นฐานในระบบของแต่ละเขตบริการสุขภาพนั้น มีผลที่ทำให้การบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น ทุนมนุษย์ ของอัตราส่วนแพทย์ที่รับผิดชอบต่อประชากร ทุนทางสังคม ในบางพื้นที่มีความเข้มแข็งของสถาบันวิชาการหรือความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานในการทำงานร่วมกัน ทุนการเงิน ที่เป็นงบประมาณตั้งต้นที่มีในเขตบริการสุขภาพ ทุนการผลิต ที่มีการออกแบบกลไกการทำงานในพื้นที่ เช่น บางพื้นที่มียุทธศาสตร์เพิ่มเติมจากที่ กสธ. กำหนด เพื่อให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมไปถึงทุนทางธรรมชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ในที่นี้คือลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่มีผลต่อการเอื้อหรือการเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
ส่วนในด้านกระบวนการดำเนินนโยบายเขตบริการสุขภาพ ผู้วิจัยได้นำหลักที่เป็นมาตรวัดพื้นฐานการดำเนินรัฐกิจที่ดีมาเทียบในการศึกษา ซึ่งพบว่า ด้านการรับรู้ต่อธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการ ในกระบวนการดำเนินนโยบายเขตบริการสุขภาพยังสามารถที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ใน 4 ประเด็น คือ กลไกการตรวจสอบการดำเนินงาน การเปิดช่องทางการรับฟังผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย การตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อความเท่าเทียมเสมอภาค ด้านอิสรภาพการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ที่ควรเปิดช่องในการเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการเขตสุขภาพ ด้านประสิทธิภาพของการดำเนินงานภาครัฐ ในส่วนนี้ในการวิจัยยังต้องใช้เวลาในการประเมินเนื่องจากต้องรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ในการทำงานเพียงพอ ในด้านเสียงสะท้อนการติดตาม กำกับ ประเมิน ประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐ พบว่านโยบายเป็นหลักการที่ดี แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติจึงควรมีกลไกการแปรสาระนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทั้งระดับเขตและระดับย่อยลงไป เป็นต้น
ในตอนท้ายของการนำเสนองานวิจัยนั้น ผศ.นพ.ธีระ สรุปข้อเสนอที่สอดรับกับกรอบแนวคิดระบบสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ประกอบด้วย ด้านกำลังคน ทาง กสธ. ควรเปิดช่องทางให้เกิดการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเขตบริการสุขภาพ โดยตัวแทนภาคประชาชนและเอกชน เพื่อสร้างการยอมรับ ระดมทรัพยากร และลดภาระบุคลากรภาครัฐในระยะยาว ด้านระบบสารสนเทศ ควรมีการพัฒนาระบบระดับพื้นที่ให้ครอบคลุม รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเชิงประชากรศาสตร์จากนโยบายระหว่างประเทศให้ได้ ด้านการจัดการเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ควรเผยแพร่กรณีศึกษาความสำเร็จในการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่า เช่น การจัดซื้อยา เครื่องมือทางการแพทย์
“ด้านการจัดระบบบริการ เช่น การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยภายในเขต การแก้ไขปัญหาการขาดทุนของสถานพยาบาล การปรับค่านิยมการใช้บริการของประชาชนโดนเน้นการตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและพึ่งตนเองให้มากขึ้น ด้านการอภิบาลระบบ เช่น การประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะโดยใช้กระแสนโยบายคู่ขนานของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการยอมรับในนโยบายเขตบริการเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการพลักดันให้มีกฎหมายหรือระเบียบที่จำเป็นในการรองรับการดำเนินงานตามนโยบายฯ ด้านการเงินการคลัง ควรพิจารณาความเป็นไปได้โดยใช้กลไกร่วมลงทุนระหว่างรัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อร่วมกันรับผิดชอบประชากรในพื้นที่ และร่วมจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น” ผศ.นพ.ธีระ นำเสนอ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตบริการสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า นโยบายเขตบริการสุขภาพ ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาศักยภาพสักระยะ ทั้งนี้เชื่อว่าการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจถึงแนวทางและนโยบายการปฏิบัติไปยังระดับหน่วยย่อยๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางแต่ละเขตบริการสุขภาพควรเน้นให้มากขึ้น สำหรับภาพรวมในการบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นและจัดการกันเองได้ เช่น การแก้ไขปัญหาระดับเขตที่ไม่ต้องรอการกำกับจากส่วนกลาง ทั้งนี้ งานวิจัยจะสามารถช่วยเติมเต็มการพัฒนาเขตบริการสุขภาพได้ โดยการนำเสนอพื้นที่ต้นแบบที่มีจุดแข็ง เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนา
เช่นเดียวกับ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ผู้ตรวจราชการเขต 11 ในฐานะผู้กำหนดนโยบายเสนอว่า “งานวิจัยควรเสนอชุดความรู้ของการบริหารจัดการเขตบริการสุขภาพ รวมไปถึงเปรียบเทียบให้เห็นว่าก่อนมีเขตบริการสุขภาพกับสถานการณ์ปัจจุบันมีพัฒนาการเป็นอย่างไร”
ทั้งนี้ งานวิจัยโครงการศึกษาประเมินระบบการบริการจัดการเขตบริการสุขภาพของไทย จะมีการนำข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้เสียไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมเมื่อสมบูรณ์แล้ว จะสามารถนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ และใช้ประกอบในการบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้