ข่าว/ความเคลื่อนไหว
"การวิจัย" เปรียบเสมือนเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคม อีกทั้งการวิจัยสามารถแสดงบทบาทต่อการตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าให้กับงาน อย่างไรก็ดี กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของระบบวิจัย ยังมีสิ่งท้าทาย เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของงานวิจัยและการพัฒนาประเทศ ที่ต้องเผชิญอีกมาก
ในด้าน "การวิจัยระบบสุขภาพ" เป็นอีก หนึ่งประเด็นสำคัญที่มีบทบาทสำคัญใน การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทว่า ไปแล้วสถานการณ์ในภาพรวมก็อาจจะไม่แตกต่างกับการวิจัยและพัฒนาในภาพใหญ่ของประเทศในข้างต้น เท่าไหร่นัก โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใน ประเทศ และสังคมโลก มีผลต่อการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
งานวิจัย "บริบท สถานการณ์มหภาคที่เปลี่ยนไปและความท้าทายต่อระบบสุขภาพ"โดย นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย ได้นำเสนอไว้ในเวที "การปฏิรูป สวรส. ก้าวสู่การวิจัยระบบสุขภาพในทศวรรษที่ 3" ปี 2555 ชี้ให้เห็นว่า "แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคมี แนวโน้มส่งผลต่อระบบสุขภาพ การทำความเข้าใจบริบทจะมีส่วนช่วยในการพัฒนายุทธศาสตร์ของระบบวิจัยสุขภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลนำไปสู่การสร้างความรู้และเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง"
ณ วันนี้ อาจมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของ "การวิจัยสุขภาพ" เมื่อรัฐบาลยุค คสช. มี "หมอรัชตะ รัชตะนาวิน" เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบายสนับสนุนการวิจัยอย่างครบวงจร พร้อมกับได้เริ่มเดินหน้าอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2557 มีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษาทบทวนแนวทางและพัฒนากลไกขับเคลื่อน โดยมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ ที่มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานฯ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาร่างกฎหมาย ที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบวิจัยสุขภาพ แบบบูรณาการ เพื่อเสนอ รมว.สธ. ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจาณาต่อไป
แน่นอนว่า ครั้งนี้จะเป็นเส้นทางของ การพลิกโฉมหน้าของ "วิจัยระบบสุขภาพ" สู่ "วิจัยสุขภาพ" โดยขยายขอบเขตงานที่ครอบคลุมเกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งหมด เพื่อนำงานวิจัยสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
สาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ในด้าน ที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดอย่างหนึ่ง คือ บทบาทใหม่ ที่ครอบคลุมทุกมิติงานวิจัยด้านสุขภาพ ซึ่ง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้อธิบาย เพิ่มเติมถึงขอบข่ายงานว่า เป็นการยกระดับการทำงานขององค์กรเดิมที่มีอยู่อย่างเช่น สวรส. จากเดิม ที่ทำเพียงงานวิจัยเชิงระบบ ขยายเพิ่มให้ครอบคลุมงานด้านการวิจัย ทางคลินิก การวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ งานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยเพื่อ การพัฒนาการศึกษาและคุณภาพบุคลากร ทางสุขภาพ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิจัยทางสาธารณสุขและสังคม
กลไกพัฒนาคุณภาพงานสู่สังคม
ประเด็นการเปลี่ยนแปลง ที่จะสนับสนุนให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีกลไกหลักคือ 1. "คณะกรรมการ" ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะประกอบด้วย 2 ชุดหลัก คือ 1.คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ มีจำนวน 16 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทางการวิจัยสุขภาพของประเทศ แนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยสุขภาพที่เหมาะสม 2.คณะกรรมการติดตามประเมินผลการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ มีจำนวน 7 คน ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการบริหารกองทุนและประเมินผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายที่กำหนด เป็นข้อที่เพิ่มเติมเข้ามาจาก พ.ร.บ. สวรส. เดิม
นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ กล่าวว่า การวิจัย เป็นการทำในสิ่งที่เรา "ไม่รู้" ให้ "รู้" เราจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของงานวิจัย ว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันเราจะปล่อยให้มีการลงทุนไปโดยเสียเปล่าไม่ได้ ฉะนั้นการกำหนดกลไกกำกับตรวจสอบจึงมีส่วนสำคัญ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อช่วยในการกำกับทิศทางและตรวจสอบการทำงานตามกรอบและแผนที่วางไว้
"รูปแบบการกำกับการทำงานวิจัย ต้องเห็น เป้าหมายว่างานวิจัยนั้นๆ มุ่งสร้างอะไร เช่น หากสร้างศักยภาพคนก็ต้องประเมินผลศักยภาพที่พัฒนาขึ้น เพราะงบประมาณเหล่านี้ คือ เงินจากภาษีของประชาชน"
"สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุน การวิจัยสุขภาพ" ตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ถือเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยตั้งเป็นสำนักงานที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้ การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ จัดทำข้อเสนอเพื่อการกำหนดนโยบายและ ดำเนินงานด้านการวิจัยสุขภาพเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ดำเนินการบริหารจัดการทุนวิจัยด้านสุขภาพ การเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของนักวิจัย ผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทำแผนการติดตามประเมินผลการวิจัยสุขภาพ
งบพันล้าน คือ "ค่าใช้จ่าย" หรือ "การลงทุน" !!
จากประเด็นการจัดตั้ง "กองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย" เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานของ "สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ" ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.ฯ นี้ ด้วยเงินทุนประเดิมจากรัฐบาล 1 พันล้านบาท และในปีถัดไปให้จัดสรรอีก ร้อยละ 1-2 เปอร์เซ็นต์ โดยคำนวณจากวงเงินงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับรวมกันนั้น กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมมีคำถามใน เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งในประเด็นงบประมาณนี้มีผู้ให้มุมมองหลักคิดไว้อย่างชัดเจน
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เห็นว่า "การวิจัยเป็น การลงทุน" ของประเทศไม่ใช่ค่าใช้จ่าย เพราะให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน ที่ผ่านมา งานวิจัยเชิงระบบที่ สวรส. ได้สร้างผลลัพธ์สำคัญให้กับประเทศได้อย่างมากมาย เช่น งานวิจัยที่นำไปสู่การเกิดองค์กรอย่าง สปสช. ที่ช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพของคนไทยเพื่อสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางสุขภาพ
ขณะที่ นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ย้ำว่า จากการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศสมาชิก องค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2544 ระบุว่า ให้ประเทศสมาชิกลงทุนด้านการวิจัยสุขภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทย และเป็นหลักคิดในการกำหนดวงเงินงบประมาณของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ สิ่งที่คิดว่าสำคัญและต้องตระหนักถึง คือควรมองว่าการวิจัยเป็นเรื่องของการลงทุน ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย เพียงแต่การลงทุนประเภทนี้จะต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะคืนทุน กลับมา โดยหลักการของการลงทุนแม้จะใช้ เงินเยอะ แต่ถ้าหากมีการวางแผนว่าจะได้ผลลัพธ์อะไรที่คุ้มค่ากลับมาก็สมควรต่อ การลงทุน ในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างพร้อมที่จะลงทุนทางด้านสุขภาพ เพราะมองว่าเรื่องสุขภาพยิ่งพัฒนาเท่าไหร่ก็ยิ่งคุ้มค่า
ทางด้าน ไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งบประมาณที่เสนอใน พ.ร.บ. ไม่ได้ไปแตะกับงบประมาณของ สธ. และ สปสช. แต่เป็นงบส่วนกลางที่รัฐบาลอาจจะดึงมาจากส่วนที่ใช้ทำวิจัยโดยเฉพาะ หรืออาจโยกมาจากส่วนใดก็ได้ตามที่รัฐบาลเห็นเหมาะสม ซึ่งจะไม่ไปกระทบกับหน่วยงาน ใดเลย ทั้งนี้ในการจัดสรรเงินงบประมาณ แต่ละปีก็อยู่ที่ดุลพินิจของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
"งบประมาณที่ได้เสนอขอให้รัฐบาล จัดสรรตามร่างกฎหมายนี้ ถือว่าไม่มาก หากเปรียบเทียบกับหน่วยงานวิจัยของต่างประเทศ เช่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ที่ได้รับงบประมาณวิจัยทางด้านสุขภาพ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท/ปี หรือสภาวิจัยทางการแพทย์ของอังกฤษ ได้รับงบประมาณในการทำวิจัยทางการแพทย์ในปีงบฯ 2013-2014 ประมาณ 43,000 ล้านบาท/ปี ขณะที่งบประมาณการวิจัย และพัฒนา (R&D) ของไทยทุกภาคสาขารวมกัน จะมีอยู่เพียง 0.2-0.3 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP"
นพ.ภูษิต ประคองสาย รักษาการ ผอ.สวรส. กล่าวว่า ความท้าทายในอนาคต คือ การเปลี่ยน วิธีคิดว่า งานวิจัยคือการลงทุนของประเทศ ไม่ใช่ ค่าใช้จ่าย ส่วนประเด็นในเรื่องของความทับซ้อนของ องค์กรต่างๆ ยังจำเป็นต้องพูดคุยในระยะต่อไปกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แนวทางการบริหารหน่วยงานจะมีลักษณะคล่องตัว เป็นอิสระ แต่หลักสำคัญคือต้องสามารถตรวจสอบได้และต้อง สร้างผลงานวิจัยให้เป็นที่ประจักษ์ ก่อเกิดประโยชน์ กับประเทศอย่างคุ้มค่า ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม
ปลายทางสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ-เศรษฐกิจ
ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ ปานกลางมานาน ฉะนั้นการจะก้าวข้ามผ่าน กับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนนั้น กลไกสำคัญอย่างหนึ่ง ของการพัฒนา คือ "ระบบสุขภาพ" ซึ่งมีเป้าหมาย ทั้งในด้านสังคมที่ทำให้สุขภาพของประชาชน ดีขึ้น นำไปสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ และเป้าหมาย ด้านเศรษฐกิจ โดยระบบสุขภาพสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป
นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี เชื่อว่าหากเกิดสำนักงานแห่งใหม่นี้ จะเป็นการเริ่มปูรากฐานวัฒนธรรมของการใช้ฐานความรู้มาพัฒนาสังคมไทย แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ในการพิสูจน์ตัวเองในการสร้างคุณค่าให้กับสังคมไทย นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ของการมีโครงสร้างหน่วยงานที่ทำงานบูรณาการ วิจัยระบบสุขภาพ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงและปัญหาท้าทายของสังคมไทยในอนาคต โดยเฉพาะการวิจัยระบบสุขภาพจะครอบคลุมงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
การวิจัยและพัฒนาของประเทศจะเข้มแข็ง และก้าวหน้าได้ ต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างมีทิศทาง มีโครงสร้างรองรับอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องดำเนินการบริหารประเทศให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยใช้ฐานความรู้จากการวิจัยและพัฒนา ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน
หมายเหตุ : ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ กฎหมาย (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ... ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 และเวทีสานเสวนาการขับเคลื่อน กลไกส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ ของประเทศ" ไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาสาระของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี และ สนช. ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558 หน้า 7
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้