4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

"บ้านใจดี" ออกแบบเพื่อคนทั้งมวล

       "ตั้งแต่ปี 2552 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีผู้พิการอีกกว่า 2 ล้านคน จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ในปี 2552  พบว่า สถานที่เสี่ยงที่พึงระวังของผู้สูงอายุ คือ สถานที่ทำงาน กับบริเวณนอกบ้าน ซึ่งผู้สูงอายุระหว่าง 60-69 ปี ร้อยละ 60 มักหกล้มหรือประสบอุบัติเหตุ และในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป มักจะประสบอุบัติเหตุ ภายในบริเวณบ้าน ทำให้เกิดอาการกระดูกหักและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่น" ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกถึงสถานการณ์ของผู้สูงอายุซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องเดินทางไปพบ เจอในวันหนึ่ง

          จากปัญหาดังกล่าวสสส. จึงได้ร่วมลงนามความร่วมมือระหว่าง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร สถาบัน วิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สถาบันสร้างเสริมสุขภาพเพื่อคนพิการ (สสพ.) และกระทรวงมหาดไทย ส่งเสริม ให้สังคมริเริ่มโครงการ ออกแบบเพื่อคนทั้งมวลหรือ Universal Design   สนับสนุนให้มีการออกแบบอาคารที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ ที่เอื้อต่อคนทุกวัย ทุกลักษณะ ที่อาจจะมีความแตกต่างกันทางร่างกายไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยมีต้นแบบ "บ้านใจดี" ซึ่งกำลังจัดแสดงในงานสถาปนิก 54

          สำหรับสาระสำคัญของบ้านใจดี เริ่มต้นตั้งแต่ทางเข้าบ้าน ควรออกแบบบ้านให้มีทางลาดชัน มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. และความลาดชันไม่น้อยกว่า 1:12 มีการแยกสีให้แตกต่างกับผนังกันตก และควรหลีกเลี่ยงการใช้พรม เพราะเป็นอุปสรรคต่อรถเข็น ประตูควรมีช่องเปิดสุทธิกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. มีพื้นที่ว่างตอนหน้าและหลัง เพื่อให้เพียงพอสำหรับการสัญจรของรถเข็น ในกรณีที่ประตูเป็นแบบบานเปิดผลักเข้าออก ที่เปิด-ปิดประตูควรเป็นแบบก้านโยก ประตูที่ดีสำหรับคนทุกกลุ่ม ควรเป็นบานเลื่อน

          เคาน์เตอร์ต่าง ๆ ในห้องครัวต้องมีความสูงและความลึกที่เหมาะสม เอื้อให้ทุกคนสามารถทำอาหารร่วมกันได้ เคาน์เตอร์ที่ดีต้องสูง 75 ซม. เพื่อให้พอดีกับระดับรถเข็น มีที่ว่างตอนล่างสุทธิ 60 ซม. และมีความลึกไม่น้อยกว่า 40 ซม. สำหรับห้องอาหารควรมีพื้นที่กว้าง และตอนล่างของโต๊ะอาหารต้องมีความโล่งให้ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นสามารถร่วม รับประทานอาหารกับสมาชิกในครอบครัวได้ รวมทั้งห้องนั่งเล่นต้องคำนึงถึงความสูงของที่นั่ง ตู้ ชั้นวางของต่างๆ ควรจัดให้ทุกคนสามารถเข้าถึง เน้นให้มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเท

          ส่วนห้องนอนการติดตั้งปลั๊กไฟและสวิตช์ ควรมีความสูง 90 ซม. มีสัญญาณฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือใกล้หัวเตียง และไฟใต้เตียงสำหรับเปิดตอนกลางคืนเพื่อนำทางสู่ห้องน้ำ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างตู้เสื้อผ้าควรมีความสูงของราวและความลึกของตู้ที่ทุกคนใช้ได้อย่าง สะดวก โต๊ะเครื่องแป้งต้องมีที่โล่งตอนล่างสูง 60 ซม. เพื่อให้ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นใช้งานได้สะดวก

          ห้องน้ำเป็นจุดสำคัญของบ้าน เพราะมีผู้สูงอายุจำนวนมากประสบอุบัติเหตุในห้องน้ำอยู่ประจำ เริ่มต้น ประตูห้องน้ำควรเป็นบานเลื่อน เลี่ยงทำธรณีประตู เลือกวัสดุที่ไม่ลื่น และมีพื้นที่เพียงพอให้รถเข็นหมุนได้ ระยะที่เหมาะสมคือเส้นผ่านศูนย์กลาง 150 ซม.เอื้อให้รถเข็นหมุนกลับได้  มีราวจับบริเวณโถส้วม ที่อาบน้ำหรืออ่างอาบน้ำ ติดตั้งสูงจากพื้น 70-80 ซม. อ่างล้างมือควรสูงจากพื้นที่ถึงขอบอ่าง 75-80 ซม. เป็นอ่างล้างมือแบบแขวนหรือแบบเคาน์เตอร์โปร่ง เพื่อให้รถเข็นสอดเข้าไปได้ ก๊อกน้ำควรเป็นคันโยก มีสัญญาณฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือบริเวณโถส้วม ปุ่มกดควรมีสีแดง

          บริเวณบ้านควรจัดให้มีพื้นที่สำหรับ วางกระถางต้นไม้ เพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการมีกิจกรรมคลายเหงา และเป็นการสร้างบรรยากาศที่สดชื่นให้กับบ้าน เลือกสีโทนร้อนเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีและหลีกเลี่ยงสีโทนเย็น เช่นสีฟ้า สีม่วง สีเทา สีเขียว เพราะไม่เหมาะกับคนสูงอายุที่มีปัญหาสายตาพร่ามัว

          ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า แนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล จะสอดรับกับตัวเลขของผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จุดประกายให้ผู้คนหันมาออกแบบบ้านหรืออาคารครั้งเดียวใช้คุ้มค่า ในปัจจุบันมีอาคารหลายที่ยังไม่เอื้อเช่น อาคารราชการ เอกชน จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งกลุ่มสถาปนิกเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ต้องผลักดันให้สถาปนิกรุ่นใหม่มีแนวคิดออกแบบให้คำนึงถึงคนทุกกลุ่ม ล่าสุดภายใต้ความร่วมมือได้ดำเนินการอบรมสถาปนิกอาสา สามารถเข้าไปออกแบบให้อาคารบ้านเรือนได้แล้ว ในระยะ 1-2 ปีจะมี "บ้านใจดี" และ "อาคารใจดี" 100,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้จากการสนับสนุนงบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์ ที่จัดสรรเงินให้กับผู้พิการรายละ 20,000 บาทไปปรับปรุงที่อยู่อาศัย

          ด้านนายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าในความร่วมมือสมาคมได้จัดทำคู่มือการ ออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือ Universal Design แจกจ่ายไปตามหน่วยงานและผู้สนใจ
          "บ้านแบบนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเพียงแต่การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ให้ เหมาะตามคำแนะนำของสถาปนิก" นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุ

          สำหรับผู้สนใจแบบบ้านตัวอย่าง Universal Design ไปชมได้ในงานสถาปนิก 54 (ระหว่างวันที่ 8-13 ก.พ. ที่เมืองทองธานี) หรือปรึกษากับสถาปนิกอาสาได้ที่ โทร.0-2951-0830


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 หน้า 10

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้