ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดเวทีสานเสวนา 'การขับเคลื่อนกลไกส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยสุขภาพของประเทศ' นำโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ พร้อมด้วย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.เทียม อังสาชน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภูษิต ประคองสาย รักษาการผู้อำนวยการ สวรส. และคณะทำงานปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ร่วมด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อภาพรวมการวิจัยสุขภาพของประเทศ ภายใต้สถานการณ์ปัญหาสุขภาพและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการพัฒนากลไกการวิจัยของประเทศกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. … ที่ห้องประชุมสานใจ 1/2 อาคารสุขภาพแห่งชาติ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมานาน ซึ่งการจะก้าวข้ามผ่านกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ไปสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (High income countries) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนนั้น กลไกสำคัญของการพัฒนา คือ 'ระบบสุขภาพ' ซึ่งมีเป้าหมายทั้งในด้านสังคมที่ทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น และสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ และเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ โดยระบบสุขภาพสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ล้วนต้องการการวิจัย ทั้งนี้ เราควรมองเรื่องการใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยให้เข้าใจตรงกันว่า 'การวิจัยเป็นการลงทุน' ของประเทศไม่ใช่ค่าใช้จ่าย ซึ่งจะให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา มีงานวิจัยเชิงระบบที่สร้างผลลัพธ์สำคัญให้กับประเทศได้อย่างมากมาย เช่น งานวิจัยที่นำไปสู่การเกิดองค์กรอย่าง สปสช. กับระบบหลักประกันสุขภาพที่ช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพของคนไทย หรือองค์กรสร้างเสริมสุขภาพคนไทยอย่าง สสส. ฯลฯ ซึ่งถึงแม้จะเกิดองค์กรเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีความต้องการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนงานวิจัยเพื่อลดค่าใช้จ่ายสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางสุขภาพ
สอดคล้องกับรายงานการวิจัย 'ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบการวิจัยของประเทศไทย' โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และคณะ ซึ่งทำการศึกษาเมื่อปี 2546 ระบุว่า การวิจัยสามารถแสดงบทบาทต่อการตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าให้กับงานทั้งในด้านวัตถุและวัฒนธรรม ซึ่งการลงทุนด้านการวิจัยได้ก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมาอย่างมาก โดยการวิจัยและพัฒนาของประเทศจะเข้มแข็งและก้าวหน้าได้ต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างมีทิศทาง มีโครงสร้างรองรับอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตและการปรับตัวของระบบวิจัยในประเทศต่างๆ พบว่ายังมีตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ยังมีปัญหาอยู่มาก เช่น โครงสร้างระบบการวิจัยของประเทศที่ยังไม่ยืดหยุ่นและมีลักษณะแยกส่วน ขาดการปรับตัวที่ไวเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง ขาดทิศทางนโยบายการวิจัยของประเทศ ขาดการเชื่อมโยงการวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยที่ยังมีการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาของประเทศคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ยังต่ำ เป็นต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยและระบบการศึกษาที่เน้นการวิจัยเป็นฐานสำคัญ
ด้าน นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในประเด็นการจัดตั้งกองทุนหนึ่งในสำนักงานตาม (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า 'กองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย' เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานของสำนักงานซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทุนวิจัยสุขภาพของประเทศ เงินทุนประเดิมจากรัฐบาล 1 พันล้านบาท และในปีถัดไปให้จัดสรรอีกร้อยละ 1 โดยคำนวณจากวงเงินงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับรวมกันนั้น เป็นงบประมาณที่ไม่ได้ไปแตะกับงบประมาณของ สธ. และ สปสช. แต่เป็นงบส่วนกลางที่รัฐบาลอาจจะดึงมาจากส่วนที่ใช้ทำวิจัยโดยเฉพาะ หรืออาจโยกมาจากส่วนใดก็ได้ตามที่รัฐบาลเห็นเหมาะสม ซึ่งจะไม่ไปกระทบกับหน่วยงานใดเลย ทั้งนี้ ในการจัดสรรเงินงบประมาณแต่ละปีก็อยู่ที่ดุลพินิจของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
"ส่วนตัวมองว่า งบประมาณที่ได้เสนอขอให้รัฐบาลจัดสรรตามร่างกฎหมายนี้ ถือว่าไม่มาก หากเปรียบเทียบกับหน่วยงานวิจัยของต่างประเทศ เช่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ (National Institutes of Health-NIH) ที่ได้รับงบประมาณวิจัยทางด้านสุขภาพราวปีละ 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี) หรือสภาวิจัยทางการแพทย์ของอังกฤษ (Medical Research Council-MRC) ได้รับงบประมาณในการทำวิจัยทางการแพทย์ในปีงบฯ 2013-2014 ราว 845 ล้านปอนด์ต่อปี (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 43,000 ล้านบาทต่อปี) ขณะที่งบประมาณการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศไทยทุกภาคสาขารวมกัน จะอยู่ที่ประมาณ 0.2-0.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP" อ.ไพศาล กล่าว
ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงขอบข่ายการดำเนินงานตาม (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพว่า "อาจเรียกได้ว่าเป็นการยกระดับการทำงานขององค์กรเดิมที่มีอยู่อย่างเช่น สวรส. จากเดิมที่ทำเพียงงานวิจัยเชิงระบบ ขยายเพิ่มให้ครอบคลุมงานวิจัยในทุกมิติทางสุขภาพ เช่น การวิจัยทางคลินิก ที่จะทำให้เกิดการวิจัยด้านการรักษาผู้ป่วยเป็นรายๆ โดยเน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลหรือจัดมาตรฐานการรักษาและบริการกับผู้ป่วย การวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่จะทำให้เกิดผลผลิตที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เช่น ยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
งานวิจัยพื้นฐาน ที่ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเรื่องอื่นๆ ต่อไป งานวิจัยเพื่อการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพบุคลากรทางสุขภาพ ที่งานวิจัยต้องทำให้เกิดการพัฒนาและบูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งรวมถึงงานวิจัยกำลังคนเพื่อการพัฒนาคุณภาพ หรือเพื่อการวางแผนกำลังคนสำหรับอนาคต รวมทั้ง การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิจัยทางสาธารณสุขและสังคม ทั้งหมดนับว่าเป็นการขยายบทบาทและขอบเขตงานให้ครอบคลุมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อนำงานวิจัยสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยปัจจุบัน ประเทศมีความต้องการความรู้จากงานวิจัยเหล่านี้ และยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลส่วนต่างๆ ที่มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบในภาพรวมได้ทั้งหมด"
"องค์กรที่เกิดขึ้นภายใต้ (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ นี้ต้องยึดหลักการทำงาน ภายใต้แนวคิด 'Public good' หรือประโยชน์สาธารณะ ที่ควรเป็นองค์กรของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพหรือความคุ้มค่าของประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ที่มีลักษณะพิเศษ หมายถึง มีจุดเด่นด้าน 'บริหารจัดการงานวิจัย' (Management) และเป็นองค์กรที่มี 'วัฒนธรรมสนับสนุนการวิจัย' ที่จะเป็นผู้หนุน เชื่อมประสาน บูรณาการบุคคล กลุ่มบุคคล ภาคส่วนต่างๆ ให้มาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาโจทย์วิจัยสู่เป้าหมายใหญ่ของประเทศ โดยเชื่อมประสานทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งเป็นการพลิกไปจากระบบเดิมที่มีลักษณะต่างคนต่างทำ โดยต้องมีระบบการตรวจสอบจากภายนอก ซึ่ง พ.ร.บ.ฯ นี้กำหนดให้มีคณะกรรมการติดตามประเมินผลการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ ที่การวัดผลการดำเนินงานควรเน้นการวัดประโยชน์หรือคุณค่าของงานวิจัยที่เกิดขึ้นและส่งผลประจักษ์กับสังคม" ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทางด้าน นพ.ภูษิต ประคองสาย รักษาการผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า จากการทบทวนสถานการณ์ปี 2550 พบว่ายังไม่มีหน่วยงานใดมองเรื่องของระบบวิจัยสุขภาพอย่างครอบคลุมในทุกด้าน แม้แต่หน่วยงานอย่าง สวรส. เอง ก็ยังมองเรื่องของการวิจัยสุขภาพเฉพาะการวิจัยเชิงระบบ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งกลไกดูแลการวิจัยสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบายและจัดสรรทุนวิจัยสุขภาพ ที่ถือเป็นนโยบายหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนให้มีการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพที่มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 23 ท่าน ได้ร่วมพัฒนา (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ภายใต้เป้าหมายการนำไปสู่การปฏิรูประบบวิจัยสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม และ สวรส. ได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวและพัฒนาเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สู่การพิจารณาของ ครม. ต่อไป
ทั้งนี้ การประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ.. เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมานั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล เป็นต้น และต่างเห็นด้วยกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว
ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 หน้า 35
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้