ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สวรส.” พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล (ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) นพ.วินัย สวัสดิวร (เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สวรส. และผู้ทรงคุณวุฒิในระบบสุขภาพ เช่น นพ.สุภกร บัวสาย รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา คุณนวพร เรืองสกุล ศ.พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาคีสุขภาพและองค์กรวิจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สวรส. เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สวรส. กล่าวว่า “การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สวรส. ครั้งนี้ เป็นการทบทวนเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เดิมที่มีอยู่ โดยเป็นแผน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558 - 2562) ที่มาร่วมกันมองบนฐานการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีการทำงาน ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อตอบสนองการใช้ประโยชน์ของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในอนาคตอย่างรอบด้านมากขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์ทางสุขภาพ พบว่า แม้ว่าขนาดประชากรไทยค่อนข้างจะคงตัวอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านคน แต่โครงสร้างอายุประชากรเปลี่ยนไปอย่างมาก ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยเปลี่ยนโครงสร้างจากประชากรวัยเด็กมาเป็นประชากรสูงวัยแล้ว โดยเมื่อปี 2503 ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 3 แต่ปัจจุบันมีมากถึงร้อยละ 7.9 หรือมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน ประชากรวัยเด็กต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเคยมีอยู่มากถึงร้อยละ 40 ในปี 2503 ได้ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียงร้อยละ 20 ในปัจจุบัน
นอกจากนั้น งานวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปัจจุบัน ประชากรไทยมีชีวิตยืนยาวขึ้น โดยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทย (หรือ ร้อยละ 25.1) จะเป็นผู้สูงอายุที่มีวัย 65 ปีขึ้นไป โดยจะมีเด็กเพียงประมาณร้อยละ 14.4 วัยแรงงานประมาณร้อยละ 60.5 ประกอบกับพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมือง การย้ายถิ่น ปัญหาการกระจายรายได้ เกิดกลุ่มประชากรผู้ด้อยโอกาส กลุ่มแรงงานข้ามชาติมากขึ้น จึงต้องมีการวางแผนแนวทางการส่งเสริมสุขภาพ การจัดบริการสุขภาพที่เหมาะสม
ในด้านความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของประชาชน พบว่า เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเกิดจากโรคติดเชื้อที่ป้องกันได้ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย และพบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติมากขึ้น ทั้งจากสาธารณภัยต่างๆ และการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
นอกจากนั้น การเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการภาครัฐกลายเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งภายหลังจากที่ประเทศมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 99.4 ช่วยลดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนยากจนได้อย่างมาก แต่ในภาพรวมของประเทศยังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น โดยปี พ.ศ.2550-2554 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มจาก 300,850 ล้านบาท เป็น 434,207 ล้านบาท และคิดเป็นร้อยละ 4.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี พ.ศ.2555 ในขณะที่ ทรัพยากรสาธารณะเพื่อกิจการด้านสาธารณสุขมีสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะทรัพยากรและงบประมาณจากส่วนกลางมีจำกัด ผนวกกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากร จึงเป็นความท้าทายให้ระบบสุขภาพของประเทศต้องมีแนวทางที่เหมาะสมในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และความเสมอภาคในการรับบริการ รวมถึงการจัดการด้านกำลังคน
ทั้งนี้ด้านทิศทางและแนวโน้มสำคัญของประเทศ เช่น การกระจายอำนาจสะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับบทบาทกลไกภาครัฐในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ นโยบายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร นโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสุขภาพ ตลอจนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ของสภาวิจัยแห่งชาติ โดยส่วนหนึ่งมุ่งเน้น “การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพ” เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและระบบการจัดการสาธารณสุขดีขึ้น และมีความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะทำงานทบทวนแผนยุทธศาสตร์ สวรส. กล่าวว่า “การนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ สวรส. ในวันนี้ เป็นร่างที่คณะทำงานฯ ได้ช่วยกันพัฒนาจากการทบทวนและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์ ตลอดจนศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นร่างตั้งต้นในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย(ร่าง)แผนยุทธศาสตร์ สวรส. ปี 2558 - 2562 นี้ มองถึงการพัฒนาความเข้มแข็งโดยเริ่มที่ตัวองค์กร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อการเคลื่อนภารกิจการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้มีการทบทวน 1) สถานการณ์และปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ 2) การดำเนินงานที่ผ่านมาของ สวรส. 3) ช่องว่างความรู้ และขอบเขตงานวิจัยระบบสุขภาพ 4) ประเด็นความท้าทาย 5) การวิเคราะห์ SWOT 6) บทบาทของสวรส. ในอนาคต โดยมีฐานข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฉบับที่8 บัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2555 งานวิจัยภาพอนาคตระบบสุขภาพ มองไกลวิจัยระบบสุขภาพ ข้อเสนอการปฏิรูป สวรส. เป็นต้น”
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์สวรส. ตลอดจนการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ สวรส. ปี 2558 - 2562 ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมให้ความเห็นเพื่อการพัฒนาแผนฯ อย่างกว้างขวาง
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ที่ผ่านมา สวรส. เป็นองค์กรที่สร้างผลงานจากงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ซึ่งยังมีความท้าทายใหม่ๆ อีกมาก ที่ สวรส. ยังต้องดำเนินการวิจัยเพื่อรองรับปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพ ประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การกระจายอำนาจโดยใช้ประเด็นทางสุขภาพเป็นตัวนำ การศึกษาโครงสร้างบทบาทที่เหมาะสมของกลไกที่เกี่ยวข้องทางสุขภาพ โรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสียในอันดับต้นๆของประเทศ เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ระบบยาตั้งแต่เรื่องราคา การเข้าถึง กฎระเบียบไปจนถึงรูปแบบที่สมดุลของผู้ซื้อ/ผู้ใช้/หรือธุรกิจเกี่ยวข้องที่จะช่วยลดผลกระทบของ 3 กองทุนสุขภาพ
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า “การที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการวาง Position ขององค์กรให้เป็นองค์กรที่มีอิทธิพลต่อระบบ โดยต้องพิจารณาถึงการมีกลไกการทำงานที่สนับสนุนการเคลื่อนของระบบได้อย่างไร เช่น บทบาทของการวิจัยตั้งแต่การ Implement จนถึงขั้นการประเมินผลนโยบายสำคัญๆ ทางสุขภาพ เพื่อการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง”
ศ.พญ.ดวงมณี เลาหประสิทธิพร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “สวรส. ต้องชัดเจนในบทบาท โดยสิ่งที่ สวรส. อยากเห็นซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจในเชิงเป้าหมาย คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพของประเทศ โดยใช้จุดแข็งของสวรส. คือการบริหารเครือข่ายการวิจัย”
คุณนวพร เรืองสกุล ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สวรส. เพิ่มเติมว่า “สวรส. ควรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วต้องการเห็นผลลัพธ์การทำงานวิจัยที่ส่งผลทั้งต่อนโยบาย ต่อกลไกในระบบสุขภาพอย่างเช่น สปสช. รวมทั้งผลลัพธ์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนของประเทศด้วย ทั้งนี้ ผู้บริหารจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจัดองค์กรให้เดินไปอย่างไร การใช้เครือข่าย การบริหารจัดการหรือทำงานวิจัยเอง การกำกับทิศทางเป้าหมายและผลผลัพธ์งานวิจัย การสร้างนักวิจัยและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความต้องการทำงานวิจัยกับ สวรส. เป็นต้น”
ทั้งนี้ สวรส. ได้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ เพื่อการพัฒนา(ร่าง) แผนยุทธศาสตร์สวรส.ปี 2558-2562 ต่อไป โดยจะจัดให้มีกระบวนการประชาพิจารณ์ที่กว้างขวางขึ้น และพิจารณาสรุปแผนยุทธศาสตร์สวรส.ปี 2558-2562 สู่ฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง โดยคณะกรรมการ สวรส. ภายในเดือน มีนาคม 2558 นี้
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้