ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ในโลกใบนี้มีปัจจัยจากธรรมชาติหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อดวงตามนุษย์เรา ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด สายลม ฝุ่นละออง แสงไฟ แต่สิ่งเหล่านี้มักจะหาทางหลบเลี่ยง โดยสัญชาตญาณ แต่ปัจจุบันยังมีภัยที่กระทบต่อดวงตามนุษย์ ทั้งจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ที่คนส่วนใหญ่มักจะวิ่งเข้าหาทั้ง ๆที่รู้ว่ามีอันตรายต่อสายตา จนกลายเป็นที่มาของคำว่า "สังคมก้มหน้า"
ซึ่งคงไม่แปลกอะไรที่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มักจะพบผู้คนหลากหลายเพศและวัย ต่างก้มมองแต่จอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ของตัวเองจนไม่สนใจคนรอบข้างแม้แต่ขณะเดิน ทานข้าว โหนรถสาธารณะ ก็แทบจะไม่ได้ละสายตาจากหน้าจอโทรศัพท์กันเลย เรียกได้ว่าสมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว
ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี ค.ศ. 2014 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์ในปี 2557 เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่ออนาคตดวงตาของมนุษย์เราในปัจจุบัน
นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า แสงจากหน้าจอสมาร์ทโฟนถือว่ามีผลต่อการทำลายระบบจอประสาทโดยตรง เพราะเมื่อเราจดจ่ออยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ รังสีที่แผ่ออกมา จะมุ่งตรงไปยังประสาทตาทันทีโดยไม่ผ่านการคัดกรองจากส่วนประกอบอื่น ๆ ของดวงตาซึ่งประสาทตาจะเป็นส่วนที่อยู่ในสุด แต่ทั้งนี้การเสื่อมอายุของดวงตาก็จะขึ้นอยู่กับช่วงวัยของคนด้วย โดยหากอยู่ในวัยเด็กหรือวัยรุ่นก็จะได้รับผลกระทบช้าแต่หากเป็นคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เมื่อใช้สมาร์ทโฟนในเวลาที่เท่ากันก็จะได้รับผลกระทบเร็วขึ้น ซึ่งการแสดงอาการก็จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้งานด้วย
"ในช่วงที่สมาร์ทโฟนเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนมากยิ่งขึ้นทำให้ที่ผ่านมาพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สายตามักจะสั้นเร็วกว่าปกติซึ่งมีทั้งสั้นเทียม สั้นชั่วคราว สั้นถาวร โดยอัตราการเกิดสายตาสั้นขณะนี้ถือว่ามีมากขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากปกติที่เคยพบเพียงร้อยละ 8 แต่หลังจากที่สมาร์ทโฟนเป็นที่นิยมของคนในสังคม อาการสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรที่สายตาสั้น และหากเป็นคนที่มีอายุมากก็จะส่งผลให้สายตายาวเร็วขึ้น" ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับดวงตาเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมากในทุกกลุ่มวัยตั้งแต่เด็กชั้นมัธยมตอนต้นไปจนถึงผู้สูงอายุและยังมีอีกจำนวนมาก ที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยเพราะการจดจ้องกับสมาร์ทโฟนมากเกินไป แน่นอนว่าหากใช้ไปนาน ๆ ส่งผลร้ายกับดวงตาแน่นอนเพียงแต่จะช้าหรือเร็ว เท่านั้น
นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับอาการที่จะตามมาหลังจากที่เล่นสมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดมีอาการปวดตา เมื่อยล้าตา ระคายเคือง ตาแห้ง ตาแดง น้ำตาไหล ตามัวมองไม่ชัด รวมถึงอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ไหล่ และหลังโดยเฉพาะหากใช้สายตาต่อเนื่องนานกว่า 3 ชั่วโมงโดยไม่พักเลย จะทำให้เห็นภาพมัวหรือซ้อนได้ ปวดเบ้าตา และอาจมากจนปวดศีรษะร่วมด้วย หรือที่เรียกว่า โรคคอมพิวเตอร์ ซินโดรม (computer vision syndrome) ซึ่งปัจจุบันหลายคนมักจะรักษาอาการเบื้องต้นด้วยการหยอดน้ำตาเทียมเพื่อให้สายตารู้สึกสบายจึงทำให้ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลต่าง ๆ ขาดแคลนน้ำตาเทียมและประเทศไทยจะต้องเสียเงินค่านำเข้ามาถึง 500 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้หากเราเลือกเล่นโทรศัพท์ควรจะเล่นให้ถูกวิธีซึ่งแต่ละครั้งก็ไม่ควรจะนานเกิน 30 นาที หลังจากนั้นควรจะละสายตาออกจากโทรศัพท์ 10 นาที แล้วค่อยกลับมาเล่นใหม่แบบนี้ก็จะช่วยให้เรารู้สึกสบายตามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หากรู้สึกว่าตาแห้งหรือแสบตาให้กะพริบประมาณ 10-15 ครั้ง และควรนอนพักผ่อนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง และประคบด้วยความเย็น 5-10 องศา ซึ่งอาการเหล่านี้ก็จะหายไปเอง
แน่นอนว่าหากการใช้สมาร์ทโฟนมีผลกระทบต่อสายตาร้านแว่นคงจะเป็นทางออกสุดท้ายสำหรับผู้ที่เกิดอาการสายตาสั้น หรืออาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น แพ้แสง แสบตา
เพราะแว่นตาถือว่าเป็นตัวกรองแสงที่ช่วยไม่ให้แสงผ่านทะลุจอประสาทตาโดยตรงซึ่งก็จะส่งผลให้จอประสาทตาเสียหายช้าลงกว่าเดิม จากการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากร้านแว่นตามร้านทั่วไป ระบุว่า ปัจจุบันยอดขายแว่นเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาตัดแว่นจะเลือกเป็นเลนส์กันแสงรังสีจากคอมพิวเตอร์และหน้าจอโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังมีเลนส์แว่นตาชนิดมัลติโค้ตที่สามารถปรับสีได้ขณะที่ใส่ออกแดดเพื่อป้องกันสายตาจากแสงอันตรายต่าง ๆ ส่งผลให้ยอดขายแว่นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ก้าวกระโดดมากนัก เพราะแว่นตาแต่ละอันที่ตัดไปแล้วตัวเลนส์จะมีอายุการใช้งาน 6 เดือน-1 ปี จากนั้นคนที่สายตาสั้นหรือสายตายาวก็จะต้องทำการวัดสายตาและเปลี่ยนเลนส์ใหม่ ซึ่งราคาเลนส์แว่นตาจะอยู่ที่ประมาณ 200-1,000 กว่าบาท
แต่กรอบแว่นตานั้นสามารถใช้งานได้นาน คนจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าเบื่ออยากได้แบบใหม่ ๆ เท่านั้น หรือกรอบแว่นตาชำรุดเสียหายจนไม่สามารถซ่อมได้แล้ว โดยเฉลี่ยราคากรอบแว่นตาจะอยู่ที่ยี่ห้อ
แม้ว่าคนเราจะพยายามหาเครื่องมือมาช่วยทำให้สายตาสามารถจ้องโทรศัพท์ได้แค่ไหน แต่วิธีการเหล่านั้นก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้สายตาเราไม่ถูกทำร้ายหากเรายังใช้งานโทรศัพท์มากจนไม่ลืมหูลืมตา หรือเกินความจำเป็น เพราะสายตาเราจะต้องถูกทำร้ายแน่นอน เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ที่สำคัญธุรกิจแว่นตาอนาคตสดใสแน่นอน.
ข้อมูลจาก : เดลินิวส์
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้