4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

จี้นายกฯ ประกาศนโยบายชาติดันแก้ 'เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ' เชิงรุก

          การใช้"ยาปฏิชีวนะ"อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นต้นต่อทำให้ "เชื้อดื้อยา" กำลังเป็นปัญหาที่หลายประเทศต่างวิตก แม้แต่องค์การอนามัยโลก(ฮู) ยังขอให้ นานาประเทศเร่งให้ความสำคัญต่อการควบคุมและป้องกัน เช่นเดียวกับภูมิภาคอาเซียนที่ได้กำหนดปัญหาเชื้อดื้อยานี้ เป็นหนึ่งใน 21 ประเด็น ที่กลุ่มประเทศอาเซียนต้องร่วมกันจัดทำแผนรองรับ ภายหลัง ปี 2558 ที่มีการเปิดเสรีอาเซียน หรือ เออีซี เต็มรูปแบบ

          ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) บอกว่า ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวินะที่ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่นับเป็นปัญหาระดับโลก ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยไม่มียารักษาและเสียชีวิต แต่ยังเกิดการแพร่ระบาดเชื้อดื้อนี้อีกด้วย  ดังนั้นจึงได้มีการจัดประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนในหัวข้อ "วันรู้รักษ์ ตระหนัก ใช้ยาปฏิชีวนะ : เป้าหมายการทำงานในอนาคต" เมื่อ พ.ย.ปี 2557  ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือระหว่าง กพย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และเครือข่ายการทำงานเพื่อควบคุมยาปฏิชีวนะระดับนานาชาติ (ReAct) ทั้งนี้ในงานมีนักวิชาการและคนทำงาน ในระบบสุขภาพจาก 10 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาว สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย เนปาล และไทย โดยร่วมกันจัดตั้ง "เครือข่ายทำงาน เชื้อดื้อยาในภูมิภาคอาเซียน" (ASEAN AMR Network) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ การผลักดันรัฐบาลแต่ละประเทศให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหา รวมทั้ง การออกมาตรการเพื่อควบคุม


          ผศ.ภญ.นิยดา บอกว่า การประชุม แต่ละประเทศยังได้รายงานสถานการณ์ เชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้น และพบว่าต่างประสบปัญหาเชื้อดื้อยาไม่แตกต่างกัน และมีความพยายามออกมาตรการเพื่อควบคุม ซึ่งประเทศที่ดำเนินการได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ ประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง มุ่งเน้นควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาล

          นอกจากนี้ยังจัดทำระบบเครือข่ายติดตามสถานการณ์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่าง ต่อเนื่อง ทั้งการเฝ้าระวังการจ่ายยา การใช้ยาของผู้ป่วย หากพบความผิดปกติจะตรวจสอบโดยทันที
          "จากที่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้สิงคโปร์สามารถควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาล ได้ผลในระดับที่น่าพอใจ และอยู่ระหว่าง การขยายผลเพื่อวางมาตรการควบคุม การใช้ยาปฏิชีวนะลงไปสู่ชุมชน ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดให้ยาปฏิชีวนะเป็นยาควบคุมในการจ่ายยา แม้แต่ในร้านยาจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น"
          เธอบอกอีกว่า ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ได้มีการ เดินหน้ามาตรการควบคุมยาปฏิชีวนะเช่นกัน ซึ่งทั้งสถานการณ์และมาตรการดำเนินการไม่แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก โดยพบปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการ พุ่งเป้าไปยังการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ  ที่เน้นการรณรงค์และสร้างความตระหนัก เพื่อให้เกิดการควบคุมไม่เกิดภาวะการใช้ยา ที่พร่ำเพรื่อและไม่เหมาะสมซึ่งเป็นสาเหตุหลักนำไปสู่การดื้อยา
          ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างมาก และ ได้ประกาศให้เป็นนโยบายประธานาธิบดี เช่นเดียวกับสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งผู้นำประเทศ ได้ประกาศเป็นนโยบายไปก่อนหน้านี้แล้ว
          สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหา เชื้อดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ที่ไม่เหมาะสมนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ นานาประเทศต่างให้ความสำคัญ

          ผศ.ภญ.นิยดา บอกว่า ส่วนประเทศไทย ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และ ให้ความสำคัญไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพียงแต่ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบต่างคนต่างทำ แต่ละหน่วยงานต่างดำเนินการกันเอง ขาดการประสานและเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกัน ทำให้การออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมค่อนข้างล่าช้า และขาด เจ้าภาพหลักที่จะเป็นแม่งานเพื่อทำงานเชิงรุกในเรื่องนี้ แม้ว่าในภาพรวมบุคลากรที่ทำงาน ในระบบสุขภาพจะตื่นตัวกับปัญหานี้
          "ยาปฏิชีวนะควรเป็นยาที่อยู่ในการควบคุม บ้านเรายังปล่อยให้มีการซื้อขาย ได้เองตามร้านขายยา ทั้งที่ควรมีการจัดแบ่งประเภทของกลุ่มยาปฏิชีวนะ อาทิ กลุ่มที่ต้องจ่ายโดยมีใบสั่งแพทย์ กลุ่มยาจำเพาะที่ใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น"

          ขณะเดียวกัน เธอเห็นว่า ต้องรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เกิดการใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะการไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เป็นไข้หวัด ปวดท้อง และแผลเล็กน้อยที่สะอาด อย่างเช่นมีดบาด เพราะไม่มีผลในการรักษา "หากไม่มีการดำเนินการมาตรการเหล่านี้ในที่สุดอาจทำให้ผู้ป่วยเองไม่มียาใช้จากปัญหาเชื้อดื้อยาในที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่นานาประเทศต่างกังวล และหากเป็นไปได้รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญ และประกาศเป็นนโยบาย ระดับชาติเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ"

          ผศ.ดร.นิยดา บอกว่า ขณะนี้ในส่วนของกลุ่มคนทำงานด้านยาได้เล็งเห็นปัญหา และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน ไม่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนภาคเอกชนต่างๆ เพราะนอกจากยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคนแล้ว ปัจจุบันยังมีปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่อาจแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ อย่างเช่น การเลี้ยงปลาซึ่งมีการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งมีโอกาสที่เชื้อกระจายสู่แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุม เฝ้าระวังทั้งระบบ

          อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว เพื่อให้เกิดการประสานทำงานร่วมกันระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ อีกทั้งประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ดี
          ผศ.ดร.นิยดา กล่าวทิ้งท้ายว่า จาก ผลการประชุมที่แต่ละประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ  รวมถึงการรายงานสถานการณ์เชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนจะนำไปใช้เพื่อสนับสนุนเพื่อให้มาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป

          สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ'ยาปฏิชีวนะ'
          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ความรู้เกี่ยวกับ "ยาปฏิชีวนะ"(Antibiotic) โดยอ้างอิงข้อมูลจาก โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยา ปี พ.ศ.2555 ว่า ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ โดยยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง
          ส่วน "ยาแก้อักเสบ" หรือยาต้าน การอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

          โดยลักษณะการอักเสบ มี 2 แบบ คือ 1.อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  2.อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  ซึ่งการอักเสบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการ ติดเชื้อแบคทีเรีย แต่การอักเสบเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคภูมิแพ้ คออักเสบจากเชื้อไวรัส ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แดดหรือ สารเคมี กล้ามเนื้ออักเสบจากการยกของหนัก ทั้งนี้หากใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อจะเกิดอันตรายจากการใช้ยา ดังนี้ 1.แพ้ยา หากแพ้ไม่มากอาจมีแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้นผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต 2.เกิดเชื้อดื้อยา การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด 3.เกิดโรคแทรกซ้อน ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรีย ชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเรา จึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิด โรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบ อย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลาย หลุดลอกมากับอุจจาระ อันตรายถึงชีวิต

          'หากเป็นไปได้นายกฯควรประกาศเป็นนโยบายชาติเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ'
          นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558 หน้า 16

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้