4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

เสนอความก้าวหน้า ผลศึกษา กสธ. ออกนอกระบบ กพ.

            เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2557 ที่ห้องประชุมสานใจ 1/2 อาคารสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมติดตามความก้าวหน้า “โครงการศึกษาแนวทางการบริหารราชการและการบริหารงานบุคลากรด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข” โดยมี ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สวรส. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยคณะนักวิจัยประกอบด้วย นายยันยงค์ คำบันลือ ที่ปรึกษาโครงการ นายวราสิทธิ์ กาญจนสูตร หัวหน้าโครงการฯ และทีมวิจัย ร่วมนำเสนอรายงานความก้าวหน้าการศึกษาฯ

            ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รอง ผอ.สวรส. กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตกำลังคนด้านสุขภาพ อีกทั้งกระแสข่าวกระทรวงสาธารณสุขมีความประสงค์จะออกนอกระบบจากการบริหารบุคลากรจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ สวรส. ศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารราชการของบุคลากรด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขทั้งในระดับส่วนกลางและระดับภูมิภาค

            โดย นายวราสิทธิ์ กาญจนสูตร หัวหน้าทีมวิจัย ได้เกริ่นนำถึงภาพรวมของการนำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบการบริหาราชการและการบริหารบุคลากรของหน่วยงานอื่นที่มีรูปแบบการบริหารเป็นการเฉพาะ โดยมีการวิเคราะห์แนวทางการจัดระเบียบบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยบริการ ที่ครอบคุลมถึงการบริการสาธารณสุขจากรูปแบบเขตบริการสุขภาพ พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางการจัดระเบียบ การบริหารงานบุคลากร การกำหนดกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

            ทั้งนี้ ทีมวิจัยประกอบด้วย ดร.สมใจ สังข์แสตมป์ นายอนุกูล ทองระย้า นายยงยุทธ ภู่ประดับกฤต ได้ร่วมนำเสนอรายงานความก้าวหน้าการศึกษาฯ เริ่มจากการนำเสนอทบทวนบทเรียนจากต่างประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมจึงต้องปรับบทบาท และโครงสร้างหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องปรับระบบอภิบาลสุขภาพอย่างมีทิศทางได้อย่างไร โดยยกตัวอย่างโครงสร้างบริการระดับพื้นที่ในประเทศอังกฤษ ที่ใช้เป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบรัฐสวัสดิการ แหล่งเงินมาจากรัฐเป็นผู้จัดเก็บ มีหน่วยที่กำกับระบบสุขภาพ ที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1948 ระยะแม้จะเกิดการปะทะกันทางความคิดตลอดมา ทว่าระบบเริ่มมีความชัดเจนขึ้น เมื่อมีการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้กฎหมาย National Health Service Act 1973 โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด

            กฎหมายดังกล่าวมีการมอบอำนาจไปยังเขตพื้นที่ต่างๆ ที่เรียกว่า National Health Authority (NHA) ต่อมาเปลี่ยนเป็น District Health Authority ในส่วนนี้ ถือว่ามีความสำคัญต่อการจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชน เพราะมีการแบ่งอำนาจความรับผิดชอบในการบังคับบัญชา ทำให้การจัดการมีความคล่องตัว เนื่องจากเป็นแนวทางการบริหารแบบแนวราบ ซึ่งไม่ใช่การบริหารแบบแนวดิ่งที่ใช้ทั่วไปในระบบราชการ

           นอกจากนี้ รายงานการวิจัย ยังได้นำเสนอการเปรียบเทียบการบริหารราชการและการบริหารบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข โดยเปรียบเทียบระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมได้เสนอแนะการจัดระเบียบราชการของ กสธ. เช่น การจัดระเบียบโครงสร้าง กสธ. ส่วนกลางให้มีระบบกลไกทำงานที่คล่องตัว ไร้รอยต่อ จึงควรจัดส่วนราชการในลักษณะของกลุ่มภารกิจ โดยเสนอแบ่งกลุ่ม เป็นกลุ่มภารกิจด้านยุทธศาสตร์และการประสานนโยบาย, กลุ่มภารกิจด้านการบริการและหน่วยบริการสุขภาพ, กลุ่มภารกิจด้านการคุ้มครองผู้รับบริการสุขภาพ และกลุ่มภารกิจด้านการสนับสนุนงานบริการสุขภาพ 

            รวมถึงยังได้เสนอการจัดระเบียบราชการในลักษณะเขตสุขภาพ ที่ควรเป็นแบบเบ็ดเสร็จภายในเขต ที่อาจใช้รูปแบบของคณะกรรมการเขตสุขภาพพื้นที่ ที่มีผู้แทน กสธ. องค์กรชุมชน ผู้แทน อปท. องค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข ร่วมเป็นกลไกให้เกิดการทำงานที่มีเอกภาพ เป็นต้น

            ส่วนในมิติการบริหารบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข เสนอควรมีองค์กรกลางเฉพาะทำหน้าที่บริหารทางด้านการแพทย์ โดยแบ่งเจ้าหน้าที่เป็น 3 กลุ่ม คือ เจ้าหน้าที่ทางด้านสุขภาพ (ผู้ประกอบวิชาชีพ), ผู้บริหาร, เจ้าหน้าที่สนับสนุน โดยองค์กรกลางที่กำหนดขึ้นใหม่ต้องดูแลในส่วนค่าตอบแทนและอัตราความก้าวหน้าเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งต้องมีตัวแทนจากวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมต่างๆ เพื่อกำหนดเรื่องค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราการตลาด ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนอำนาจหน้าที่อาจไม่แตกต่างกับองค์กรวิชาชีพต่างๆ ทั้งนี้องค์กรกลางที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ จากรายงานการวิจัยยังไม่ได้ลงรายละเอียดได้ว่าควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

           สำหรับในประเด็นการตรากฎหมายนั้น ได้เสนอให้ดำเนินการที่สอดรับกับเรื่อง คน เงิน งาน โดยการตรากฎหมาย อาจแบ่งเป็น 1) กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน 2) กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารบุคลากร ที่อาจต้องออกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบว่าด้วยข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และ 3) กฎหมายเกี่ยวกับค่าตอบแทน

            อาจารย์ยันยง คำบันลือ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ ให้มุมมองว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่บริหารจัดการภารกิจด้านสุขภาพ และการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยให้มีสุขภาพดีเป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ดีภารกิจหลักเหล่านี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ฉะนั้นโจทย์สำคัญจึงควรมองไปยังกระบวนการบริหารจัดการ และหากระบวนการบริหารบุคลากรที่จำเป็นและเหมาะสมว่าควรทำอะไรบ้าง เป็นอย่างไร จึงได้นำประเด็นโจทย์เหล่านี้มาดำเนินการวิจัย

            ในการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่องานวิจัยดังกล่าว มี นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย ดร.เอื้องฟ้า สิงห์ทิพย์พันธุ์ นางศรีปัญญา วัชนาค นส.วิไลลักษณ์ เรืองรัตนตรัย นส.นิรมล บรรทัดภัณฑ์ นายณรงค์ศักดิ์ สงวนปรางค์ นายชวลิต ทวนทอง ดร.นาตยา พรหมทอง นางอมรา นาราพานิช ร่วมเป็นคณะกรรมการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลการศึกษาด้วย สำหรับข้อเสนอจากที่ประชุม เช่น เสนอให้ทีมวิจัยเพิ่มการทบทวนการบริหารราชการของของกระทรวงต่างประเทศด้วย เพราะมีรูปแบบที่น่าสนใจ เช่น ระเบียบการดูแลเอกราชทูตเป็นการเฉพาะ หรือวิชาชีพตุลาการ ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารราชการ หากค้นพบข้อมูลว่าการบริหารบุคลากรดี ก็สามารถนำมาเสนอเป็นทางเลือกให้กับกระทรวงสาธารณสุข

            รวมไปถึงควรนำเสนอเพื่อการเปรียบเทียบลงลึกถึงการบริหารงาน บริหารบุคลากร ของแต่ละหน่วยงานที่ทำการศึกษาว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เช่น ค่าตอบแทน ความก้าวหน้า เกิดจากข้อจำกัดอะไรที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขทำไม่ได้ กรณีที่ยังติดขัดในการแก้ไขกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุขจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ก่อนหรือไม่ และไปถึงในระดับแก้ไขกฎหมายจะมีข้อดี ข้อเสียกว่าปัจจุบันอย่างไร เป็นต้น ซึ่งการรายงานความก้าวหน้าครั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการจะเป็นข้อมูลที่ทางทีมวิจัยจะนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลงานวิจัยให้มีความสมบูรณ์เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลักดัน/เสนอนโยบายกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้