4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

กิน'สเตียรอยด์'เกินยารักษากลายเป็นยาพิษ

คนไทยจำนวนไม่น้อยได้รับอันตรายจากการใช้สเตียรอยด์ในปริมาณมากหรือโดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ส่วนหนึ่งเนื่องจากความไม่รู้ว่า ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่รับประทานมีการลักลอบผสมสเตียรอยด์ เพื่อหวังผลทางการค้าแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่า เมื่อรับประทานแล้วอาการเจ็บป่วยดีขึ้น ทั้งที่แท้จริงจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิต

                ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า สเตียรอยด์เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ หมายความว่าจะต้องมีใช้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเท่านั้น แต่หากเป็นร้านขายยาจะจำหน่ายได้ต่อเมื่อผู้ซื้อต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น มีสรรพคุณใช้บรรเทาการแพ้หรือลดการอักเสบที่รุนแรง ปัจจุบันยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จำนวน 300 ตำรับทะเบียน มีบริษัทผู้ผลิต 50 แห่ง โดยการใช้สเตียรอยด์มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้แก่ 1.ใช้รักษามะเร็งบางอย่าง 2.ผู้ที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เช่น ม้าม ไต เพื่อกดภูมิต้านทานไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ได้รับบริจาค และ 3.โรคภูมิแพ้ที่ใช้ยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล

                สำหรับประเทศไทยในส่วนที่รายงานพบว่า มีการใช้ในปริมาณถึง 700 ล้านเม็ดต่อปี มากเกินความจำเป็นในการใช้กับงานด้านสาธารณสุขของประเทศ เพราะควรใช้ในคนที่มีความจำเป็นเท่านั้น แต่จากการตรวจสอบ ภก.ประพนธ์ บอกว่า ปัญหาการใช้สเตียรอยด์มีสาเหตุจากสเตียรอยด์เกิดการรั่วไหลจากระบบ และการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผิดกฎหมาย โดยรูปแบบการแอบใส่สเตียรอยด์แตกต่างไปจากเดิมที่ขายในลักษณะยาชุด ปัจจุบันพบว่ามีการใช้สเตียรอยด์ทั้งในยาเม็ดลูกกลอน ยาผง ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ รวมถึงยาที่จัดจำหน่ายโดยวัดที่มีการจัดส่งทางไปรษณีย์ด้วย จากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจผลิตดังกล่าวพบมีการลักลอบผสมสเตียรอยด์ถึง 20%

                ในภาพรวมประชาชน 1,000 คน มีปัญหาจากการใช้สเตียรอยด์ไม่เหมาะสมประมาณ 93 คน และมีอัตราเสียชีวิต 6.4% นอกจากนี้เมื่อต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล จะต้องนอนรักษานานกว่าคนทั่วไป 2.19 วัน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 4,455 หรือ 1,900 ล้านบาทต่อปี การใช้สเตียรอยด์จึงต้องใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โดยการสั่งของแพทย์เท่านั้น

                “การที่คนไทยตกเป็นเหยื่อการใช้สเตียรอยด์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นเพราะเมื่อรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีการลักลอบใส่สเตียรอยด์แล้ว จะรู้สึกอาการเจ็บป่วยดีขึ้น ทำให้เกิดการเชื่อมั่นและบอกต่อไปยังบุคคลอื่น โดยที่ไม่รู้ว่าเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก ทำให้ผิวหนังอักเสบ ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดในกระดูกและข้อ และอาจรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต” ภก.ประพนธ์กล่าว

                ที่ผ่านมา แม้ อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาการใช้สเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็น แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่หมดไป ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการประสานให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ปัญหา โดยในการประชุมสมัชชชาสุขภาพครั้งที่ 7 มีข้อเสนอที่สำคัญ อาทิ ควบคุมการนำเข้า ผลิตและการกระจายไม่ให้รั่วไหลจากระบบ โดย อย. กรมศุลกากร และกระทรวงพาณิชย์ ต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลที่สมบูรณ์เป็นปัจจุบันร่วมกัน อีกทั้งควรเพิ่มโทษผู้ที่ลักลอบนำเข้าสเตียรอยด์ให้รุนแรงขึ้น รวมถึงภาคีเครือข่ายควรมีการคัดกรองการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีใช้ในชุมชนตัวเองว่ามีการปลอมปนสเตียรอยด์หรือไม่ และทีม อสม.ควรคัดกรองคนไข้ที่ได้รับอันตรายจากการใช้สเตียรอยด์ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น 

                “ประชาชนควรซื้อยาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะยาแผนโบราณควรซื้อที่มีการแสดงทะเบียนตำรับยา ไม่ควรซื้อยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยาจากที่มีการขายในอินเทอร์เน็ต รถเร่ แผงลอย หรือวัด เพราะมีโอกาสเสี่ยงได้รับสเตียรอยด์ และหากไม่แน่ใจว่ายามีส่วนปลอมปนของสเตียรอยด์หรือไม่ สามารถส่งตรวจได้ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่” ภก.ประพนธ์แนะนำ 

                ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม การจัดการสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทยจะเป็น 1 ใน 6 ระเบียบวาระสำคัญที่จะนำมาหารือเพื่อพิจารณาเป็นมติเสนอแนะเป็นนโยบายสาธารณะในการแก้ปัญหาร่วมกับอีก 5 วาระ ได้แก่ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง, การพัฒนากระบวนการประเมินและการตัดสินใจการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ, การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน, การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย และทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การป้องกัน ผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ

ข้อมูลจาก : คมชัดลึก

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้