ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ขณะนี้วงการทันตกรรมกำลังเป็นกังวลกับ "ภาวะฟันตกกระ" ที่พบในเด็กเจนเนอเรชั่นใหม่ สูงขึ้นหลายเท่าตัวโดยมีสาเหตุมาจากการอุปโภคบริโภคน้ำดื่ม น้ำใช้ในปัจจุบัน ที่มีปริมาณ "ฟลูออไรด์" เกินมาตรฐาน ซึ่งสวนทางกับระบบสาธารณูปโภคในภาพรวมของประเทศที่พัฒนาขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยปัญหาที่เกิดขึ้น ทตญ.สุรัตน์ มงคลชัยอรัญญา ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ผู้ที่ลงพื้นที่ไปศึกษาปัญหาสุขภาพในช่องปากของประชากรไทยทั่วประเทศ เปิดเผยว่า ในทางทันตกรรมจะใช้ฟลูออไรด์ในการรักษาโรคฟันผุ ด้วยการกลั้วในช่องปากและบ้วนทิ้งเท่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้ดื่มกินเด็ดขาด เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานจะเกิดการย่อยสลายและเกิดการแตกตัวดูดซึมไปตามอวัยวะต่าง ๆ ลักษณะเหมือนกับการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกายตามปกติ แต่เป็นอันตรายกับระบบในร่างกายคนเราโดยเฉพาะกลุ่มกระดูกและแคลเซียม
จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าประเทศจีน และอินเดียมีปัญหาผู้ป่วยกระดูกงอกทับเส้นประสาทเยอะมาก เอ็นยึดเดินไม่ได้ อันเป็นผลมาจากการได้รับฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ส่วนในประเทศไทยมีการศึกษาเมื่อ 30 ปีก่อน พบผู้ป่วยใน จ.เชียงใหม่ที่รับประทานน้ำที่มีฟลูออไรด์สูงทำให้กระดูกผิดปกติ เกิดอาการปวดกระดูกปวดขา ต้องรับยาแก้ปวดตลอดและมีผลกระทบบั่นทอนสุขภาพไปตลอดชีวิต หลังจากนั้นยังไม่มีการศึกษาต่ออย่างจริง ๆ จัง ๆ อีกเลย
สำหรับผลกระทบจากการได้รับฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไปที่พบในกลุ่มคนไทยภาวะ "ฟันตกกระ" หรือการสร้างตัวเองไม่สมบูรณ์จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างฟัน สีของฟัน ฟันสั้น การบดเคี้ยวไม่ดี โดยเฉพาะฟันหน้าไม่สวย โดยหากอาการไม่รุนแรงก็อาจจะพบลายสีเส้นสีขาวตัดกับสีของเนื้อฟันจริง ๆ ถ้ารุนแรงขึ้นมาอีกหน่อยจะเป็นสีน้ำตาลเข้มในเนื้อฟัน และถ้าเป็นรุนแรงเนื้อฟันกะเทาะได้ง่าย ๆ เมื่อเคี้ยวหรือกัดของแข็ง ๆ
อย่างที่บอกว่าฟลูออไรด์จะทำให้การสร้างตัวเองของฟันไม่สมบูรณ์นั่นหมายความว่าจะพบในเด็กอายุประมาณ 6 ขวบที่เพิ่งผลัดเปลี่ยนจากฟันน้ำนมไปเป็นฟันแท้ กว่ากระบวนการสร้างฟันแท้จะเสร็จสมบูรณ์ทั้งช่องปากเด็กจะมีอายุราว ๆ 12 ขวบ ปัจจุบันพบภาวะฟันตกกระในเด็กไทยสูงขึ้นประมาณ 6 เท่าตัว และกระจายไปในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ เช่น จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง ภาคกลางที่ จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม จ.เพชรบุรี ภาคใต้ จ.สงขลา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังพบได้น้อย
จากการสอบสวนโรคพบว่าได้รับฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายปริมาณมากจากการใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูงเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานที่กำหนด บางพื้นที่พบ 4-5 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทราพบฟลูออไรด์ในน้ำประปาสูงถึง 12 มิลลิกรัมต่อลิตร ฟลูออไรด์ทำให้ฟันสร้างตัวเองไม่ครบ เหมือนกับอวัยวะคนเราที่เมื่อสร้างตัวไม่สมบูรณ์จะมีลักษณะหงิกงอ
ฟลูออไรด์ สามารถพบได้ตามธรรมชาติ ทั้งดิน หิน น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นภูเขา มีบ่อน้ำพุร้อน พวกน้ำบาดาลจะมีฟลูออไรด์เยอะมาก เยอะกว่าแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ปัญหาคือการประปาหมู่บ้านหลายๆ แห่งในประเทศไทยไม่สามารถหาแหล่งน้ำธรรมชาติมาทำน้ำประปาสำหรับใช้ในชุมชนได้ จนต้องใช้น้ำบาดาลมาทำน้ำประปาแจกจ่ายชาวบ้านและก็อาจจะเป็นที่ความเชื่อด้วยว่าน้ำประปาที่ใส ๆ สามารถดื่มได้ คนไทยจึงไม่นิยมต้มน้ำดื่ม หรือมีระบบเครื่องกรอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ฟลูออไรด์ไม่มีสี กลิ่นรส ไม่มีทางรู้เลย และไม่สามารถทำให้หมดไปด้วยการต้มน้ำให้เดือด
เพราะฉะนั้นอยากให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้น้ำที่มีฟลูออไรด์สูงเกินมาตรฐานมาดื่มกิน หรือนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะใช้ชงนมให้เด็กรับประทานนั้นยิ่งเสี่ยงให้เกิดภาวะฟันตกกระมากเพราะวัยเด็กคือวัยที่มีการสร้างกระดูกและฟันแท้กำลังสร้างตัวเอง และต้องระวังมากในกลุ่มคนที่เป็นโรคไต
อย่างไรก็ตามในการป้องกันตัวเองเบื้องต้นสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการรับประทานแคลเซียม นม เพราะตัวแคลเซียมที่เรารับประทานไม่ว่าจะเป็นปลาเล็กปลาน้อย หรือนมจะเป็นประจุบวก ส่วนฟลูออไรด์เป็นประจุลบ จะวิ่งเข้าหากันแล้วจับในร่างกายของเรา ช่วยให้ร่างกายดูดซึมเข้าร่างกายลดลง และควรออกมารับวิตามินดีจากแสงแดดยามเช้า ยามเย็นให้มาก ๆ.
ข้อมูลจาก : เดลินิวส์
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้