ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ระบบการวิจัยของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสาขาใด สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นอกเหนือจากโจทย์วิจัยที่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังต้องมีการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดีถึงจะก่อให้เกิดการนำความรู้สู่การใช้ประโยชน์และส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศได้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) จัดโครงการ “อบรมหลักสูตรผู้จัดการงานวิจัย” ขึ้น โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 2 หลังจากรุ่นที่ 1 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ หน่วยงานในระบบสุขภาพ ระบบการศึกษา สถาบันการศึกษาต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาการอบรมยังเข้มข้นและเต็มไปด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิเช่น ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ รวมทั้งผู้บริหารและตัวแทนจาก คอบช. ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 170 คน ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2557 ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น
ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ในระบบการวิจัยทุกสาขา ผู้จัดการงานวิจัยนับเป็นบุคลากรสำคัญในการจัดกระบวนการให้มีการกำหนดโจทย์วิจัยเพื่อตอบปัญหาการพัฒนาประเทศในแต่ละด้าน จนนำไปสู่การขับเคลื่อนผลงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในหลากหลายสาขาให้มีความรู้ และทักษะความสามารถจนถึงระดับมืออาชีพในการทำหน้าที่ผู้จัดการงานวิจัยนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สวรส.จึงร่วมกับ วช. และ คอบช. จัดให้มีโครงการ “อบรมหลักสูตรนักจัดการงานวิจัย” ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้และสมรรถนะของผู้จัดการงานวิจัยในการขับเคลื่อนระบบวิจัยของประเทศไปสู่ความสำเร็จ และสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมาย
“นอกเหนือจากความรู้และทักษะต่างๆ ที่จะได้จากการอบรมครั้งนี้แล้ว นับเป็นโอกาสดีที่คนทำงานด้านการวิจัยจากหลายสาขาจะได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานวิจัย ตลอดจนการร่วมกันขยายและเชื่อมโยงเครือข่ายวิจัยให้เกิดการเสริมพลังกัน จนนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้จัดการงานวิจัยที่สามารถยกระดับเป็นมืออาชีพได้ในที่สุด” ผอ.สวรส. กล่าว
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า กระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างมืออาชีพ ครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่ก่อนทำวิจัย เช่น การกำหนดประเด็น โจทย์การวิจัย เป้าหมายการใช้ประโยชน์ กระบวนการระหว่างทำวิจัย เช่น การกำกับติดตามความก้าวหน้า การสื่อสารกับผู้ใช้ผลงานวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย และกระบวนการหลังการทำวิจัย เช่น การจัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อใช้ประโยชน์งานวิจัย การย่อยผลงานเพื่อการสื่อสารสาธารณะ และการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงระบบหรือนโยบาย เป็นต้น โดยเนื้อหาสำคัญๆ ของหลักสูตรนี้ ได้คัดสรรหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับผู้ที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการงานวิจัยไว้อย่างเข้มข้น อาทิ การเขียนสรุปรายงานการวิจัย เทคนิคการคัดกรองข้อเสนอโครงการวิจัยและการคัดเลือกนักวิจัย ความจำเป็นที่ต้องมีการบริหารงานวิจัย การวิจัยกับการเอาไปใช้ประโยชน์จากหิ้งสู่ห้าง (Policy advocacy & Policy brief) ประสานอย่างไรได้ใจแหล่งทุน ประสบการณ์การบริหารจัดการงานวิจัย การบริหารข้อมูลโดยใช้ระบบสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ จริยธรรมการวิจัยเละกฎระเบียบที่ควรรู้ การจดสิทธิบัตรและการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การติดตามประเมินผลการวิจัย และการประกันคุณภาพงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน คุณเพชรา สังขะวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการวิจัย วช. กล่าวว่า การทำงานด้านสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการงานวิจัย ซึ่งมีความเป็นพลวัตรค่อนข้างสูง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ดังนั้นการจัดการงานวิจัยจึงต้องใช้ทักษะและความรู้หลากหลายมิติ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเรื่อง รวมทั้งตอบสนองและแก้ปัญหาที่ท้าทายใหม่ๆ ด้วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งการบริหารข้อมูลโดยการใช้ระบบสารสนเทศเป็นอีกทักษะและความสามารถหนึ่งที่นักวิจัยและผู้จัดการงานวิจัยจำเป็นต้องมีความรู้และความสามารถในการใช้ระบบสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานวิจัยที่มีคุณภาพและมีข้อมูลในการวิเคราะห์ วิจัยอย่างครบถ้วนและเป็นระบบ
“ปัจจุบันหน่วยงานด้านการวิจัย โดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ได้ให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานเครือข่าย คอบช. ด้วยระบบสารสนเทศ โดยจัดทำศูนย์กลางคลังข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น คลังข้อมูลงานวิจัยไทย คลังข้อมูลงานวิจัย ฯลฯ เพื่อการค้นหาข้อมูลที่สะดวกรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิจัย ดังนั้นการบริหารข้อมูลโดยใช้ระบบสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้จัดการงานวิจัยจึงควรรู้จักระบบสารสนเทศทั้งในและต่างประเทศ และรู้จักเครื่องมือในการบริหารข้อมูล ถึงจะทำให้เกิดการใช้ข้อมูลอย่างเต็มประสิทธิภาพ” คุณเพชรา กล่าว
นอกจากนั้น ในการอบรมครั้งนี้ ได้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้พิการทางสายตาด้วย คุณนันทนุช สุวรรนาวุธ จากสำนักบริหารงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรงศึกษาธิการ เปิดเผยความรู้สึกหลังจากการอบรมว่า การอบรมครั้งนี้ นับเป็นการอบรมที่เปิดโอกาสให้กับตัวเองได้มาร่วมเรียนรู้ในกระบวนการทำงานวิจัยในบทบาทของผู้จัดการงานวิจัย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้กับการทำงานของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหัวข้อการติดตามประเมินผลการวิจัย และการประกันคุณภาพงานวิจัย เนื่องจากงานที่ทำอยู่ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งต้องมีการทำวิจัยและการติดตามประเมินผลด้วยเช่นกัน ซึ่งเนื้อหาที่วิทยากรบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำให้สามารถเข้าใจและเห็นภาพของการบริหารจัดการงานวิจัยในแต่ละขั้นตอนชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้การอบรมครั้งต่อไป สวรส.จะจัดทำหลักสูตรที่เจาะลึกมากขึ้นในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดการงานวิจัยเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย ชุมชน คลินิกสหสถาบัน ฯลฯ ซึ่งท่านใดที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ สวรส. www.hsri.or.th
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้