ข่าว/ความเคลื่อนไหว
แม้ประเทศไทยจะผลักดันให้นโยบาย"หลักประกันสุขภาพ"เกิดขึ้นครอบคลุมพลเมือง ทุก ภาคส่วน มีความพยายามขยายความคุ้มครองทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)เพื่อดูแลสุขภาพประชากรทุกคน แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ ยังไม่สามารถกำหนด"มาตรฐานกลาง"ให้เป็นบรรทัดฐานที่ทุกระบบต้องยึดร่วมกัน ได้
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบัน วิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) อธิบายถึงการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพว่า เป็นความพยายามจะขยายความครอบคลุมให้กว้างออกไปเรื่อยๆ เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิในระบบที่มีอยู่ก่อน โดยการสร้างระบบเหล่านี้ จะอ้างอิงกับฐานระบบเดิมเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่าง หรือช่องว่างระหว่างระบบเก่าและระบบใหม่
"ทั้ง 3 ระบบที่มีอยู่ขณะนี้เป็นการพัฒนาต่อกันมา ดังนั้นผู้ใช้สิทธิใดเข้ารับบริการทางการแพทย์ ก็เกือบจะเหมือนกันทั้งนั้น แต่ก็อาจมีข้อแตกต่างกันบ้างในเชิงเทคนิค คือ โรคเดียวกันนี้ แต่ละระบบอาจรักษาด้วยวิธีและตัวยาที่แตกต่างกัน" นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
สำหรับปัญหาที่ทำให้การพัฒนาระบบต้องสะดุดคือ ข้อจำกัดในแต่ละระบบที่มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไข เช่น การควบคุมค่าใช้จ่ายก็นับเป็นปัจจัยหนึ่ง โดยเฉพาะการควบคุมการเบิกจ่ายสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งควบคุมได้ยากและมีต้นทุนการจัดการสูง แต่ข้อดีคือคนไข้จะได้รับบริการเต็มที่ เบิกค่าใช้จ่ายได้ทุกรายการ
ในขณะที่ระบบประกันสังคมและบัตรทอง ควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยวิธีการเหมาจ่าย ต้นทุนการจัดการจึงต่ำ เพราะเมื่อเหมาไปแล้ว กลไกการควบคุมค่าใช้จ่ายจะไปอยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลได้เงินเท่าที่จ่ายมาก็ต้องบริหารภายใต้เงินจำนวนนี้
"ทั้งบัตรทองและประกันสังคมจะเริ่มต้นเหมาจ่ายในวงเงินที่น้อย เช่น ประกันสังคมเริ่มที่ 700 บาท บัตรทอง 1,200 บาทจากนั้นค่อยๆ ปรับตามความเหมาะสมความยากอยู่ตรงนี้ คือถ้าหากเงินเหมาจ่ายต่อหัวน้อยเกินไปก็จะกระทบต่อคุณภาพของบริการ แต่หากมากเกินไปประเทศก็จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว" นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ บอกว่า แม้จะยืนยันหลักการว่ามาตรฐานทางการแพทย์สำหรับคนไทยทุกคน ควรเป็นบรรทัดฐาน เดียวกันแต่ก็ยังมีข้อแตกต่างในแต่ละระบบ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี
1.วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคเดียวกัน 2.ประสิทธิภาพในภาพรวมของแต่ละระบบเนื่องด้วยแต่ละระบบมีจุดตั้งต้นในการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแตกต่างกัน เงินในระบบมีแตกต่างกัน การแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยกลไกระดับชาติ เพื่อเชื่อมต่อประสานแต่ละระบบเข้าด้วยกัน
สำหรับสร้างมาตรฐานกลางของการรักษา ต้องคำนึงถึงการจัดการกับความซับซ้อนของแต่ละระบบ อาทิ การตรวจสอบทางการแพทย์หลังให้บริการ ซึ่งจะมีคณะกรรมการตรวจสอบการให้บริการตามมาตรฐานและการเก็บค่าบริการ 3 ชุดคือ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากกองทุนประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง
ทั้งนี้ ควรจะรวมให้เป็นชุดเดียวเพื่อความสะดวก พร้อมกันนี้ควรพิจารณาด้วยว่าสิ่งใดที่แต่ละระบบร่วมกันทำได้ก็ควรทำเพื่อ ประโยชน์สูงสุดของการใช้ทรัพยากร
"ตอนนี้มีการตั้งสำนักงานใหม่ คือ คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ในการกำหนดทิศทางการพัฒนากองทุนให้เกิด ความเป็นเอกภาพในการให้บริการ" นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีการพูดถึงเรื่องรวมกองทุนเพื่อให้มาตรฐานการให้บริการเท่าเทียมกัน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ อธิบายในเรื่องนี้ว่าแนวคิดการรวมกองทุนมาจากการทบทวนระบบต่างๆ ของทั่วโลก ซึ่งมีด้วยกัน 3 โครงสร้าง คือ 1.รัฐสวัสดิการแบบอังกฤษ ที่รัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยเงินภาษีประชาชน 2.ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติกองทุนเดียวแบบแคนาดาประชาชนจะรับผิดชอบค่าเบี้ย ประกัน 3.ระบบประกันหลายกองทุนแบบเยอรมนีหรือญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ไม่มีอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าโครงสร้างไหนดีกว่ากัน แต่การรวมกองทุนนั้นคงไม่มีความจำเป็น เพราะส่วนหนึ่งมองว่า หากมีหลายกองทุนปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดเสรี มีการแข่งขันด้านคุณภาพประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด
ที่สุดแล้วสำหรับประเทศไทยควรจะผลักดันให้ทุกกองทุนมีมาตรฐานเดียว หรือมาตรฐานกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2553 หน้า A6
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้