ข่าว/ความเคลื่อนไหว
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมบัญชีกลาง และกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย
การ MOU ดังกล่าวจัดขึ้นหลังการจัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” ที่มีโรงพยาบาลนำร่องจำนวน 57 แห่ง เข้าร่วมโครงการ ระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค รัชดาภิเษก
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลมีมากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยา แนวโน้มเช่นนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงและอันตรายจากยา รวมถึงการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย ในปี 2553 พบว่า มูลค่าการบริโภคยาของคนไทยสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท และพบการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลในทุกระดับ
ดังนั้น นโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1.การเข้าถึงยา 2.การใช้ยาอย่างสมเหตุผล 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาและชีววัตถุ และสมุนไพร 4.การพัฒนาระบบการควบคุมยาเพื่อประกันคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา สำหรับยุทธศาสตร์ในด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล “คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ” ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธานในการขับเคลื่อนงานดังกล่าวขึ้นมา
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาในประเทศไทย เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายรับรู้กันมานานแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าแรงขับเคลื่อนเรื่องนี้อ่อนกำลังมาก แม้รัฐบาลในหลายๆยุคจะมีนโยบายในการแก้ไขปัญหา แต่ก็พบว่ามีปัญหาการนำไปปฏิบัติที่ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฉะนั้นการเริ่มต้นที่ในโรงพยาบาลนำร่องถือเป็นการสร้างเครือข่ายในแนวทางแบบป่าล้อมเมือง ที่จะช่วยพัฒนาความมั่นคงของระบบยาในอนาคต
“สอดคล้องแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาความมั่นคงของระบบยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของกลไกการพัฒนาระบบยา ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
สำหรับกุญแจที่สำคัญที่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำคัญของการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลนั้น ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล ได้เคยนำเสนอผ่านเวทีประชุมวิชาการวิจัยระบบสุขภาพ “วิจัย...เปลี่ยนชีวิต” จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยมีหลักสำคัญ 6 ประการ คือ P-L-E-A-S-E ประกอบด้วย...
1.ตัว P คือ PTC (Pharmacy and Therapeutics Committee) หรือคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบําบัด ซึ่งต้องการสร้างเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติงานตามกรอบองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อเป็นตัวหลักนำไปสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผล 2.ตัว L คือ Label หรือฉลากยา เอกสารที่ติดบนซองยาที่ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น ยา Antibiotics โรงพยาบาลบางแห่งเขียนว่า “ยาแก้อักเสบ” สร้างความเข้าใจผิดว่า “อาการอักเสบ” หรือ “ติดเชื้อไวรัส” ก็กินยานี้ได้ ซึ่งควรเขียนว่า “ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” 3.ตัว E คือ Essential tools หรือเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เช่น ระบบที่เภสัชกรตรวจสอบการสั่งยาของแพทย์และท้วงติงได้ เพื่อป้องกันการสั่งยาไม่สมเหตุผล 4.ตัว A คือ Awareness การสร้างความตระหนักรู้แก่บุคคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย 5.ตัว S คือ Specail population ว่าการใช้ยาในคนสูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ป่วยกลุ่มพิเศษดีพอแล้วหรือยัง และ 6.ตัว E คือ Ethics คือ จริยธรรมในการสั่งใช้ยา
“โครงการนี้ จะเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหายาในโรงพยาบาล โดยจะแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นอย่างไร ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 50-60 แห่ง จากนั้นจะเน้นการพัฒนาระบบ และการตระหนักรู้แก่ทุกคนที่อยู่ในวงจรการใช้ยา” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เผยว่า เราวางแผนเอาไว้ว่าในระยะ 1 ปีแรกนี้ หลังจากที่ได้ให้แนวทางในการปฏิบัติกับ 57 โรงพยาบาลนำร่องไปแล้ว ทางคณะอนุกรรมการฯ จะทำการติดตาม เช่น การเก็บข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายด้านยา ผลการรักษาเพื่อนำผลการดำเนินงานมาวิเคราะห์ประเมินกันอีกครั้งว่าออกมาเป็นอย่างไร
“โดยในการตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ยังมีการสนับสนุนด้านการพัฒนาคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ โดยใช้ตัวชี้วัดในการประเมินตนเองเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้เป็นหนึ่งในมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ซึ่งถือเป็นมาตรการกึ่งบังคับไปในตัว”
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า เนื่องจากระบบสุขภาพเป็นระบบที่ใหญ่ การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำหรือบังคับใช้ได้ในทันที อย่างน้อยถ้าเรามีโครงการนำร่องโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน แล้วนำผลการปฏิบัติมาวิเคราะห์ปรับแนวทางค่อยๆ หาวิธีการ แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมมีมาตรฐาน เชื่อว่าในอนาคตเราจะสามารถนำมาใช้ปฏิบัติในภาพใหญ่หรือระดับนโยบายของประเทศได้คล่องตัวกว่า โครงการนี้จึงถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการสร้างระบบที่เข้มแข็ง
ทางด้าน ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สวรส. พร้อมที่จะพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการจากงานวิจัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
ทั้งนี้ ข้อมูลสนับสนุนจากผลการศึกษาถอดบทเรียนการดำเนินมาตรการส่งเสริมและกำกับการใช้ยาในโรงพยาบาลต้นแบบ 3 แห่ง ประกอบด้วย รพ.ลำปาง รพ.ตำรวจ รพ.ศิริราช ช่วงปี 2554 โดยสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือ สวรส. รายงานว่า การกำกับและติดตามการใช้ยา เป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดความตระหนักถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายยาได้เป็นจำนวนมาก ยังช่วยอุดรอยรั่วจากการใช้ยา และป้องกันการทุจริตได้อีกทาง.
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้