ข่าว/ความเคลื่อนไหว
ปฏิรูปประเทศไทย...กลายเป็นเรื่องฮอตฮิตติดลมบนไปเสียแล้วขอรับในวันนี้
แต่ก็ยังคงมีคำถามที่ไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่า
ปฏิรูปประเทศไทยจะเป็นจริงในระยะเวลา 3 ปีแน่หรือ???
ก็น่านนนนน่ะสิ...ผมเองก็อยากรู้อยากเห็นเหมือนกัน
ใน ฐานะของ "สื่อ" ที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่า "ต้องปฏิรูป" ผมเองก็ลองถามตัวเองถึงความเป็นไปได้ และความสำเร็จตามเป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย เกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อเช่นกัน
หลังจากทบทวนความเป็นไปบนถนนสื่อสารมวลชนบ้านเรา ตลอดระยะเวลาที่ผมร่วมสังฆกรรมบนเส้นทางนี้มากว่า 2 ทศวรรษ ผมสามารถยอมรับได้โดยไม่อายครับว่า
ปฏิรูปสื่อไม่ใช่เรื่องง่าย !
แต่จะให้สื่อหรือใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้คนไทยทั้งชาติเกิด ความสำนึกร่วมมือร่วมใจเพื่อการปฏิรูปนั้นเป็นเรื่องหมูๆ ครับ
เข้าทำนอง "แมลงวัน" ไม่ชมชอบการตอมแมลงวันด้วยกันนั่นแหละ
ผม เชื่อว่า "สื่อมวลชน" ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนสาขาสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต และอื่นๆ ล้วนเห็นสอดคล้องเหมือนคนไทยทั่วไปว่า ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองมีความคิดเห็นขัดแย้ง แตก-แยกเป็นสองขั้ว จนเกิดวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะเวลา 3-4 ปีนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
แต่ในขณะที่สื่อมวลชน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้ทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นทางเลือกหรือทางออกให้กับสังคมไทย เพียงพอต่อบทบาทและอิทธิพลนั้น ไม่มีใครยอมจำนนต่อข้อกล่าวหาง่ายๆ หรอกครับ ว่าสื่อต้องปฏิรูปตัวเอง
ความเคลื่อนไหวเพื่อการ "ปฏิรูปสื่อ" ที่กำลังขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่มีนพงประเวศ วะสีเป็นประธาน โดยใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน" หรือที่เรียกว่า คพส. ตามแนวคิด "ปฏิรูปสื่อภาครัฐพัฒนาสื่อเอกชน"
ผมเห็นว่า ครอบคลุมความจำเป็นและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการทำประเทศไทยให้น่าอยู่ ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ แต่จะทำได้จริงหรือเปล่านั้นคนละประเด็นครับ
นายมานิจ สุขสมจิตร ในฐานะประธานคพส. และผู้มีประสบการณ์คว่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมากว่าครึ่งค่อนชีวิต ตระหนักรู้ดีกว่าใครแน่นอน มิเช่นนั้นคงไม่เปิดใจกล่าวว่า การมีสื่อมวลชนที่มีความรู้ความสามารถวิสัยทัศน์กว้างไกลนั้นเป็นเรื่องดี แต่จะดียิ่งขึ้นหากสื่อมวลชนคนเก่งที่ว่านั้นเป็นคนดีด้วย
สาระสำคัญของการปฏิรูปสื่อ จึงมิได้แตกต่างจากการปฏิรูปปรเทศไทยในด้านอื่นๆ อาทิ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปเศรษฐกิจ และ ฯลฯ นั่นคือ ทำอย่างไรที่เราจะสามารถสร้าง "คนดี" มีจิตสำนึกให้เท่าเทียมกับ "คนเก่ง"
ผมจึงอยากเสนอแนะคพส.ที่มีคณะกรรมการชุดใหญ่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสื่อ
ถ้าพิจารณาแล้วว่า ต้องทำ และต้องเอาจริง เหมือนกับที่ทุกฝ่ายเห็นว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลง ก็ต้องหาหนทางที่จะสร้างความร่วมมือร่วมใจ มิใช่จำกัดขอบเขตการทำงานอยู่แค่ร่างพิมพ์เขียวแล้วโยนลงไปให้สื่อแต่ละแขนง แต่ละองค์กรตัดสินใจกันเองว่าจะทำหรือจะเก็บไว้ในลิ้นชัก หลังจากลงสัตตยาบรรณร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คิดอะไรไม่ออก บอกไม่ถูก เพราะน้ำท่วมปากตามประสาแมลงวันไม่ตอมแมลงวันด้วยกันเองล่ะก็ ผมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของอาจารย์ประเวศ วะสี เกี่ยวกับแนวทางที่สื่อมวลชนสามารถทำได้ในการพาชาติออกจากวิกฤติ เป็นอะไรที่ทำได้จริงและค่อยเป็นค่อยไปครับ เพราะไม่เอาอดีตเป็นที่ตั้ง แต่ใช้อนาคตเป็นเครื่องนำทาง
ประธานสมัชชาปฏิรูปฯ แนะว่า มี 8 แนวทาง คือ 1.สื่อสามารถร่วมกันช่วยสร้างจิตสำนึกใหม่ให้คนไทยได้ 2.คณะนิทเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์สื่อสารมวลชนควรให้นักศึกษาร่วมช่วยทำเรตติ้งสื่อเพื่อสะท้อน ปัญหา 3.เสนอกระบวนการสามทเส้า โดยสื่อ นักวิชาการ และภาคสังคม ต้องเรียนรู้ปฏิบัติการร่วมกัน (Interactive Learning to action) เพื่อให้เกิดความเชื่อใจกัน ซึ่งตอนนี้เราขาดความเชื่อใจกัน 4.มหาวิทยาลัยต้งอร่วมกันช่วยหนุนให้ทุนนักข่าวให้ได้เรียนต่อและให้ได้ พัฒนาตนให้เก่งมีความรู้ อย่างน้อย 1,000 คน ซึ่งนักข่าวจะเป็นคนสำคัญในการเชื่อมโยงความรู้ให้คนในสังคม 5.ดึงภาคธุรกิจมาร่วมกันช่วยหนุนการสื่อสารที่ดีเพื่อสังคม 6.องค์กรสื่อทีวีไทยควรปรับตัวเป็นองค์กรการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ครบวงจร ให้สังคม 7.ให้มีคณะทำงานศึกษาเรื่องสร้างการสื่อสารที่สร้างสรรค์ และ8.ควรตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการสื่อสารครบวงจร อาจเป็นสวรส.ภาคการสื่อสาร
หลักการของประธานสมัชชาปฏิรูปฯคือ "การสื่อสาร ต้องทำให้คนไทยเกิดจิตสำนึกให้เหตุผลพิจารณา ไม่เช่นนั้นคนไทยทุกคนจะตกเป็นเหยื่อของการบริโภคความขัดแย้งต่างๆ ความจริงซับซ้อน เหตุการณ์วิกฤตที่ผ่านมาทำให้คนไทยล้มตายจำนวนมากนั้น สื่อต้องช่วยป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก"
ทำได้ตาม 8 แนวทาง รับรองว่าจะได้ "สื่อ" คนเก่งและดีที่สำคัญมีจิตสำนึกและจรรยาบรรณที่พึงปรารถนาแน่นอน
สำหรับผมแล้วมีข้อเสนอแนะที่สามารถจะทำได้และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีนี้คือ ขอให้สื่อทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา สื่อสารงานการปฏิรูป เป็นตัวแทนภาคประชาชนตรวจสอบ กระตุ้นให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริง ทำกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่สร้างภาพหรือซื้อเวลา...รับรองได้เห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเป็น ประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกไม่ช้าไม่เร็วอยู่แล้ว
นายใฝ่ฝัน...ปฏิรูป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 หน้า 3
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้