แทบจะเป็นไปไม่ได้ในชีวิตประจำวันของคนปกติทั่วไป ที่จู่ๆ จะมีใครลุกขึ้นมา ‘ตรวจค่าไต’ หรือตรวจศักยภาพการทำงานของไต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากไม่มีอาการหรือไม่มีสัญญาณใดๆ ที่ส่งผ่านออกมาทางร่างกายด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีโอกาสเลยที่ใครจะเดินทางไปโรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจค่าไตเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ข้อเท็จจริงที่น่ากังวลก็คือ การเสื่อมถอยของไตจะแสดงอาการออกมาทางร่างกายก็ต่อเมื่อเข้าสู่ ‘ระยะที่ 5’ ฉะนั้นเมื่อผู้ป่วยรู้ตัว ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในขั้นที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตแล้ว ซึ่งจากรายงานของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตสะสมมากถึง 1,007,251 ราย อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย1
แม้ว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านระบบสุขภาพ และมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นสิทธิและเป็นกำแพงพิงหลังให้ผู้ยากไร้ ส่งผลให้ไม่มีใครต้องสิ้นเนื้อประดาตัวหรือล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะจากโรคไต ที่มีค่ารักษาพยาบาลมหาศาล แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทย มีภาระงบประมาณไม่น้อยจากการดูแลผู้ป่วยไตวาย ซึ่งงบประมาณที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ในระบบบัตรทองปี 2565 มีการใช้งบประมาณถึง 1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 5 จำนวน 82,463 คน2 ทั้งนี้ถ้าผู้ป่วยทราบถึงอาการของตนเองตั้งแต่ระยะแรกๆ หรือในระยะ 1-4 งบประมาณในการดูแลรักษาก็จะน้อยลงมาก เพราะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานและการใช้ชีวิต เช่น ลดอาหารเค็ม จำกัดอาหารประเภทโปรตีน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยชะลอความเสื่อมของไตลงได้
จากปัญหาด้านสาธารณสุขดังกล่าว ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย สวรส. และทีม จึงได้ทำการวิจัย “โครงการพัฒนาระบบการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นในระดับปฐมภูมิด้วยชุดตรวจ albuminuria” โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น และพัฒนาแนวทางการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในรูปแบบ point of care testing ซึ่งประกอบด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคไต ระบบบันทึกข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ป่วย การจัดเก็บ ประมวลและรายงานผลแบบอัตโนมัติ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมการตรวจค่าการทำงานของไตและการแสดงผลค่าการตรวจ และล่าสุดผลงานวิจัยนี้ยังได้รับเลือกให้ไปจัดแสดงในงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566” (TRIUP Fair 2023) ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 18-19 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับชุดตรวจ albuminuria (ALBII) มีลักษณะคล้ายชุดตรวจคัดกรองโควิด ATK (Antigen-Test Kit) แต่แถบแสดงผลของชุดตรวจ ALBII จะเป็นการเคลือบสารแอนติบอดี้สำหรับดักจับอัลบูมินจากปัสสาวะแทน ซึ่งมีความแม่นยำถึง 94% โดยใช้งานง่ายเพียงหยดปัสสาวะที่ช่องรองรับสารคัดหลั่งเพียง 3 หยด จากนั้นประมาณ 10 นาทีผลตรวจจะแสดงที่แถบ หากขึ้น 1 ขีด จะหมายถึงผลเป็นบวก (Positive) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรัง ส่วน 2 ขีดคือผลเป็นลบ (Negative) ยังไม่มีความเสี่ยง
“ก่อนนี้การตรวจซีรั่มครีเอตินีน หรือไมโครอัลบูมินเพื่อยืนยันการเป็นโรคไตเรื้อรัง ต้องไปที่โรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาในการตรวจไม่นาน แต่ที่นานจะเป็นตอนรอคิวเพื่อตรวจ ยิ่งคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางเพื่อเข้ามาโรงพยาบาล แต่ชุดตรวจ ALBII นี้ ทำให้ทุกคนสามารถตรวจเบื้องต้นด้วยตนเองได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเหล่านั้น” ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย กล่าว
ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย อธิบายต่อไปว่า ประสิทธิภาพของชุดตรวจจากผลการศึกษาในอาสาสมัครกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2,313 ราย ที่มาคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะต้นที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงโดยมีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี และเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย พบว่า 595 ราย ของจำนวนทั้งหมดเข้าเกณฑ์สงสัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง โดยมีลักษณะที่เชื่อมโยงกับการเป็นโรคไตเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ นอกจากนี้ ในอาสาสมัครกว่า 68% ยังคงมีความผิดปกติของการทำงานของไตเข้าเกณฑ์วินิจฉัยโรคไตเรื้อรังอยู่ และจากการตรวจติดตาม 3 เดือน ประเมินได้ว่าความชุกของโรคไตเรื้อรังระยะต้นที่ไม่มีอาการในกลุ่มเสี่ยงนั้นอยู่ที่ประมาณ 17-18% ส่วนผลการทดสอบอัลบูมินในปัสสาวะด้วยชุดตรวจพบว่า มีภาวะไมโครอัลบูมินรั่วในปัสสาวะ ซึ่งเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของไตเรื้อรัง โดยชุดตรวจมีค่าความถูกต้องเฉลี่ย 94% ค่าความไวเฉลี่ย 86% ค่าความจำเพาะเฉลี่ย 97.8%
ชุดตรวจ ALBII ได้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ และผ่านการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงขณะนี้กำลังจัดเตรียมเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่การได้รับการคัดเลือกจาก สปสช. ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ในระบบบัตรทอง ซึ่งถ้าสามารถเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองได้ ก็จะทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์ชุดตรวจนี้ได้
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า นอกจากการพัฒนานวัตกรรมงานวิจัยที่เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานแล้ว สวรส.ยังเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์ที่จะทำให้มีผลิตภัณฑ์ใช้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งงาน TRIUP Fair 2023 เป็นอีกงานสำคัญที่ทำให้ สวรส.และทีมวิจัยได้พบกับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สามารถต่อยอดงานวิจัยสู่การตลาดและเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และขณะเดียวกัน สวรส. ไม่ได้ตั้งเป้าหมายการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองไปถึงการยกระดับระบบสุขภาพ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมคุณภาพ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย ซึ่งถ้าชุดตรวจ ALBII สามารถบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสามารถกระจายไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็จะทำให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคไตได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการประหยัดงบประมาณด้านสุขภาพในภาพรวมได้อย่างแน่นอน
................................
ข้อมูลจาก
- การพัฒนาระบบการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นในระดับปฐมภูมิด้วยชุดตรวจ albuminuria