4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ก้าวไปด้วยกันสู่สังคมสูงวัยแบบพฤฒพลัง!

          ประเทศไทยวันนี้ ได้ก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างที่ไม่มีใครกล้าอาจหรือหาญเถียง ถ้าเชื่อในโอวาทพระพุทธองค์ ยังประโยชน์ด้วยความไม่ประมาท ก็พึงเตือนสติตนด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว สำคัญคือความพร้อมเราท่านเตรียมความพร้อมสู่วัย สว.กันหรือยังไม่ใช่ความพร้อมเฉพาะตัวบุคคล ส่องกระจกแค่หน้าบาน แต่เป็นความพร้อมในระดับสังคม ก้าวเดินสู่สังคมแห่งวัยสูงอายุแบบพฤฒพลัง!!!

          พฤฒพลัง ก็คือ พลังผู้เฒ่า หรือผู้เฒ่าที่ยังมีพลังอยู่ ตอบแบบนี้จะสะเทือนซางใครบ้างหรือเปล่า มาจากคำว่า แอ็กทีฟ เอจจิ้ง (Active Aging) บัญญัติขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก หรือ
          ฮู (World Health Organization: WHO) ในปี1990 หมายถึง การเป็นผู้สูงอายุที่ปราศจากโรคและรวมถึงการมีความสามารถในการใช้ร่างกาย สรีระวิทยา จิตใจ และสังคม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการชราที่เกิดขึ้น ให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถทำอะไรๆ ได้ตามสิทธิที่มีอยู่ มีชีวิตที่มีอิสระ มีชีวิตที่มีส่วนร่วม และทำได้สำเร็จด้วยตัวเอง (Self Fulfillment) แล้วพฤฒพลัง หรือแอ็กทีฟ เอจจิ้งในสังคมไทยยุคปี 2014 ล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง

          วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ จัดงานสัมมนาเรื่อง "การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามแนวคิดพฤฒพลัง" สื่อสารแนวคิดเรื่องสังคมผู้สูงอายุอย่างน่าสนใจ พฤฒพลังในสังคมไทยยุคนี้ ถามจริงๆ ก็ตอบตรงๆ ว่ามีความน่าสนใจ...ถ้าจะสนใจ ผู้สูงอายุในสังคมไทยมีพลังมั้ย? อย่างผู้สูงอายุในชุมชนเมืองแบบเราๆ อะไรหนอที่จะใช้เป็นเกณฑ์วัดพลังได้บ้างหลักๆ คือสุขภาพ กิจกรรม และสังคมของผู้สูงอายุนั้นเอง ทุกองค์ประกอบมีความสำคัญ ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงถึงกันหมด

          ผู้สูงอายุที่มีพลัง แอ็กทีฟ เอจจิ้ง นอกจากจะหมายถึง การไม่โอเวอร์ แอ็กทีฟ (Over Active) และไม่อันเดอร์ แอ็กทีฟ (Under Active) คือมีพลังแบบพอดีๆ พอเหมาะพอสมแล้ว ผู้สูงอายุยังต้องมีความเข้าใจในชีวิต เข้าใจในข้อจำกัด และข้อไม่จำกัดของตน นั่นคือการใช้ชีวิตที่อิสระภายใต้ข้อจำกัดที่มีนั่นเอง ซึ่งคือการมีชีวิตที่อิสระ (Independence) ที่ประกอบด้วย การมีส่วนร่วม (Participation) การมีศักดิ์ศรี (Dignity) ขณะเดียวกันก็ได้รับการดูแล(Care) ที่เหมาะสม

          ดร.อัญชลีพร อมาตยกุล อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ และหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุคือกระแสโลก ผู้สูงอายุกระแสใหม่คือผู้สูงอายุที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพดี มีส่วนร่วมในสังคม และมีความมั่นคงทางปัจจัย 4 จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลลูกหลาน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในระดับนโยบาย

          สำหรับผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ถูกมองว่าน่าจะได้รับการจัดสรรประโยชน์จากภาครัฐได้มากกว่าผู้สูงอายุในต่างจังหวัด แต่ความเป็นจริงผู้สูงอายุกลุ่มที่มีรายได้น้อยและโยกย้ายมาจากชนบท เมื่อมาอยู่ในชุมชนเมืองกลับมีปัญหาและความขาดแคลน เพราะจะถูกใช้แรงงานอย่างน่าเศร้า เช่น ใช้ให้เฝ้าบ้าน ใช้ให้เลี้ยงหลาน หรือในกรณีที่เป็นร้านค้าก็ถูกใช้ให้นั่งเก็บเงิน วันทั้งวันไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรที่ตัวเองชอบเลย

          ดร.อัญชลีพร กล่าวว่า ถ้าเราไม่สนใจคนกลุ่มนี้จะเหี่ยวแห้ง เหี่ยวเฉา และหมดอาลัยตายอยาก เพราะได้แต่ปัจจัย 4 คืออาหารที่อยู่อาศัย แต่ในด้านจิตใจขาดแคลนทดท้อ กลายเป็นปัญหาคนแก่ซึมเศร้า คนแก่ฆ่าตัวตาย มีปัญหาทางจิต ลูกหลานไม่มีใครมองเห็น ในที่สุดก็ตายลงด้วยอายุ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะสูงอายุไปทำไม ถ้าชีวิตที่เหลืออยู่เปล่าไร้ซึ่งคุณค่าและความเป็นมนุษย์
          "นี่เป็นปัญหาที่ท้าทายมากว่าเราจะทำอย่างไร สังคมไทยจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร"

          นพ.สันติภาพ ไชยวงศ์เกียรติ กล่าวถึงบทบาทของผู้สูงอายุในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาว่า ผู้สูงอายุในไทยปัจจุบันมีจำนวน 20 กว่าล้านคน การบริหารจัดการที่จะให้ทั้ง 20 กว่าล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี Active Healthy Aging ต้องอาศัยการบริหารจัดการสื่อสารมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านการให้สุขศึกษา ซึ่งไทยขาดมาก
          "สื่อสารมวลชนประเทศนี้ไม่สนใจคนแก่สนใจแต่รูปโป๊ เปิดหนังสือพิมพ์ เห็นแต่รูปโป๊แต่จะไม่เห็นรูปหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับคนแก่ ทีวี หนังสือพิมพ์ ผมไม่เคยเห็นรายการ หรือคอลัมน์สำหรับผู้สูงอายุ ถ้าเราจะก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยจริงๆ เราก็ต้องทำอะไรที่จริงจังกว่านี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนในสังคมของเรา" นพ.สันติ ภาพเล่า

          นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะนอกจากจะได้ความสนุกสนาน ความรู้สาระที่เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพแล้ว ก็ยังได้สังคม ได้กลุ่มก้อน ได้พลังจากการทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสนใจสร้างชีวิตชีวาในการใช้ชีวิตประจำวัน และสร้างช่องทางในการติดต่อกับโลกยุคใหม่

          สมบัติ เมทะนี ดารายอดนิยม พระเอกตลอดกาล เล่าให้ฟังถึงชีวิตในบั้นปลายว่า สิ่งสำคัญคือการออกกำลังกาย ซึ่งทำเป็นประจำทุกวัน หลายสิบปีที่ผ่านมาออกกำลังกายทุกวันไม่เคยขาดและแทบไม่มียกเว้น เป็นการออกกำลังที่มีวินัยแบบตลอดชีวิต นอกจากนี้คือการมีส่วนร่วมกับสังคม ซึ่งก็ทำมาตลอดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมงานกาชาด ซึ่งได้เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2510 หรืองานทหารผ่านศึก ซึ่งเข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2514 ยึดหลักความพอใจที่จะทำ สุขใจที่จะทำ เต็มใจที่จะทำ เนื่องจากคิดว่าเป็นการทำบุญไปด้วย

          ดร.อัญชลีพร สรุปว่า 3 สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องมีคือ 1.ผู้สูงอายุต้องมีสังคม 2.ผู้สูงอายุต้องมีกิจกรรม และ 3.ผู้สูงอายุต้องมีงานทำ แต่ละคนก็เลือกสังคม เลือกกิจกรรมที่ตัวเองชอบหรือสนใจ เลือกงานที่ตัวเองต้องการทำ แน่นอนที่ไม่ใช่งานประจำ แต่เป็นงานที่ยังต้องทำอยู่ เป็นงานที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ขณะเดียวกันก็เป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น

          พญ.นาฏ ฟองสมุทร กรรมการบริหารสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย ผู้ดูแลโครงการสวางคนิเวศ บางปู เล่าว่า ความต้องการโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสวางคนิเวศ ซึ่งวางตัวไว้เป็นต้นแบบ ทำหน้าที่ในการศึกษาและค้นคว้าวิจัย เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านที่พักอาศัยการดูแล และการบริหารจัดการผู้สูงอายุ

          สำหรับสวางคนิเวศมีจำนวน 468 ยูนิต ทั้งหมดมีผู้อยู่อาศัยและจองเต็มหมด สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้สูงอายุในด้านนี้ ขณะเดียวกันเราก็ใช้ทั้ง 468 ยูนิต เพื่อการศึกษาเรียนรู้ ทั้งในเรื่องของรูปแบบการอยู่อาศัยและการบริหารจัดการที่ดีที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดของผู้สูงวัย
          "สภากาชาดไทยต้องการให้เราทำเป็นต้นแบบที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของกิจกรรมการอยู่อาศัยและการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ องค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมผู้สูงอายุในอนาคต"

          ด้านนโยบายในระดับประเทศ คือความพยายามให้ผู้สูงอายุอยู่กับลูกหลานและครอบครัวของตัวเองให้นานที่สุด แนวทางเรื่องบ้านพัก หรือเนิร์สซิ่งโฮม จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน เป็นโสด เป็นหม้าย แนวทางต่างๆ จากภาครัฐก็สนับสนุนในเรื่องนี้ เช่น ตึก สธ.ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่กำหนดเป็นศูนย์การแพทย์องค์รวมให้บริการผู้ป่วยสูงอายุ โดยจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปลายปีนี้ หรือโครงการเนิร์สซิ่งโฮมของมหิดลที่หัวหิน เป็นต้นM

          บ้านและแกดเจ็ตเพื่อผู้สูงอายุ
          คุณปู่คุณย่า พวกท่านต้องการบ้านแบบไหน คริสตัลดีไซน์ เซ็นเตอร์ เลียบทางด่วนรามอินทรา เอสซีจี เสนอแนวคิดที่น่าสนใจ
          1.เปลี่ยนกระเบื้องเป็นแบบกันลื่น 

             ปัญหาคือการลื่นล้มในห้องน้ำ ห้องครัว เราควรปรับเปลี่ยนพื้นกระเบื้อง เป็นแบบผิวสากที่ช่วยป้องกันได้
          2.ปุ่มขอความช่วยเหลือ 
             ควรมีปุ่มขอความช่วยเหลือในทุกห้องของบ้าน อีกทั้งระบบความปลอดภัยยุคดิจิทัลไม่เพียงแต่แจ้งเตือนการบุกรุกของผู้ไม่ประสงค์ดี แต่เรายังสามารถปรับใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านได้อีกด้วย
          3.เพิ่มแสงสว่าง
             ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการทดแทนด้วยการเพิ่มแสงสว่างภายในบ้านอีกเท่าตัวเพราะผู้สูงอายุมีการปรับสายตาในที่สว่างและมืดได้ช้ากว่าคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะแสงสว่างระหว่าง 2 ห้องที่ไม่เท่ากัน ลองติดหลอดไฟเดย์ไลต์ระหว่างทางเดินเพิ่ม ช่วยได้
          4.ปรับเปลี่ยนและขยายประตูทางเข้า
             สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ควรเปลี่ยนประตูทางเข้าให้เป็นแบบบานเลื่อนและขยายความกว้างเป็นอย่างน้อย 90 ซม.ทำทางลาดเล็กๆ สำหรับรถเข็นที่ธรณีประตูจะช่วยให้ใช้รถเข็นได้สะดวกขึ้น
          5.ติดตั้งราวจับ
             ที่ผนังบ้านตลอดทางเดิน และในห้องน้ำ ราวจับจะช่วยให้ผู้สูงอายุเกาะเดินไปยังห้องต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งลดความรุนแรงหากลื่นล้ม หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบกะทันหัน ดูเรื่องการยึดเกาะให้แข็งแรง และอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสม
          6.เพิ่มห้องชั้นล่างและทำทางลาด
             ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ถูกกับขั้นบันไดและทางต่างระดับ หากเป็นไปได้ลองกั้นห้องนอนใหม่ที่ชั้นล่างของบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่าน หรืออย่างน้อยทำทางลาดจะช่วยให้เบาแรงหัวเข่าได้มาก
          7.ใช้แกดเจ็ตติดตามตัวให้เป็นประโยชน์
             แกดเจ็ตที่น่าสนใจ เช่น คิดซ์ออน(KizON) ของแอลจี สามารถปรับใช้กับผู้สูงอายุเวลาอยู่บ้านคนเดียว หรือผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยมันจะรายงานตำแหน่งผ่านพิกัดดาวเทียมให้เช็กได้ว่าตอนนี้ท่านอยู่ที่ไหน หากโทรไปไม่รับสายเกินจำนวนครั้งที่กำหนด เครื่องจะรับสายอัตโนมัติเพื่อฟังเสียงโดยรอบว่าน่าจะอยู่ทีไหนพร้อมส่งพิกัดล่าสุดให้ รวมทั้งผู้สูงอายุที่สามารถโทรหาลูกหลานได้ เพียงกดปุ่มบนเครื่องแค่ปุ่มเดียว

วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / โยธิน อยู่จงดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557 หน้า 1

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้