4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ประชุม “วิจัย...เปลี่ยนชีวิต” เปิดเวทีระดมความคิด พัฒนาระบบสุขภาพ

          เปิดม่านการจัดงานไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับ “การประชุมวิชาการวิจัยระบบสุขภาพ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2557” ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ในปีนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. ชูแนวคิด “วิจัย...เปลี่ยนชีวิต” ที่เน้นการนำเสนอคุณค่าของงานวิจัย ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่งานวิจัย แต่เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชาชนและระบบสุขภาพโดยรวม

          เช่นเคยที่ในปีนี้ สวรส. ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย และเปิดเวทีเสวนาวิชาการหลากหลายหัวข้อ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมคิด ร่วมพัฒนางานวิจัย เพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่และต่อยอดการพัฒนาระบบสุขภาพ

          งานนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมการเปิดงาน พร้อมร่วมอภิปรายในเวทีเสวนาวิชาการ อาทิ ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สวรส. นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ภูษิต ประคองสาย ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) พร้อมด้วย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รอง ผอ.ฝ่ายบริหาร สวรส. เป็นต้น โดยมี ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการ สวรส. เป็นประธานในพิธี

          

          ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยเป็นฐานความรู้ที่สำคัญที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบสุขภาพไทย ซึ่งมีความซับซ้อน หลากหลาย และมีพลวัตเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญคือ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และอีกฐานคิดที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบสุขภาพก็คือ การประสานพลังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้ยั่งยืน

          ในเวทีเสวนาในห้องหลักและห้องย่อยของการประชุมวิชาการวิจัยระบบสุขภาพ ประจำปี 2557 “วิจัย...เปลี่ยนชีวิต” ในปีนี้ มีหัวข้อที่ตอบโจทย์ “วิจัยเปลี่ยนชีวิต” และสอดคล้องกับแนวโน้ม “กระแสการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพ” รวมถึงเวทีระดมความคิดเพื่อ “อุดช่องว่างของระบบสุขภาพที่มีในปัจจุบัน” อย่างหลากหลาย โดยในวันแรกผู้อำนวยการ สวรส. ปาฐกถาพิเศษในเรื่อง “สุขภาพคนไทยร่วมสร้างมิติใหม่ในอาเซียน” ที่เสนอว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนควรกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องสุขภาพโดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นหลายเท่า เห็นได้ว่าประเทศที่เจริญแล้วให้ความสำคัญกับเรื่อง “สุขภาพ” เพราะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิต

          ทางด้านเวทีเสวนา “หันมามอง งานวิจัยด้านสุขภาพเปลี่ยนชีวิตคนไทยอย่างไร” ได้ตอกย้ำว่า ในแวดวงสาธารณสุข-สุขภาพ งานวิจัยสามารถขยายผลไปสู่นโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง และขณะที่งานวิจัยก็มีผลต่อพฤติกรรมด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เหตุใดบุหรี่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องวางขายอยู่ใกล้จุดชำระเงินในห้างสรรพสินค้า เช่นเดียวกันที่นโยบายจากภาครัฐที่ออกมาจำกัดการโฆษณา ซึ่งทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยทั้งสิ้น ส่วนในเวทีเรื่อง “ทิศทางงานวิจัยเชิงระบบและนโยบายด้านสุขภาพ” เป็นอีกเวทีสำคัญที่ สวรส. เล็งเห็นว่าความท้าทายใหม่ๆ ปรากฏขึ้นท่ามกลางบริบทที่ผันแปรไป ทั้งในและต่างประเทศ “การวิจัยด้านสุขภาพ” จึงต้องสนองตอบคลื่นความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญต้องจับต้องได้และสามารถต่อยอดไปสู่นโยบาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

          

           เวทีภาคบ่าย ยังคงเปิดเวทีเสวนาอย่างเข้มข้น ประกอบด้วยหัวข้อ “Knowledge Translation: จากหิ้งสู่...ข้างเตียง/ชุมชน กรณีศึกษา NCDs” กับการนำเสนอผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยโชว์เคสผลการวิจัยเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและค้นหาปัจจัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ แนวทางในการเสริมพลังสร้างสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นำเสนอโดย ศ.นพ.ปิยะมิตร  ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ.นพ.เกื้อเกียรติ  ประดิษฐ์พรศิลป์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ศ.ดร.นพ.กิตติพันธุ์ ฤกษ์เกษม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น เวทีเรื่อง “ระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ด้านสุขภาพและสังคม: บทบาทรัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน” และต่อด้วยหัวข้อ “สถาปัตยกรรมบ้านคนพิการและผู้สูงอายุ: นโยบายไร้รอยต่อ” นำอภิปรายโดย พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ สวรส. พร้อมผู้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากภาคท้องถิ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย กรมอนามัย โรงพยาบาลกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

            นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาเรื่อง “เพชฌฆาตหน้าใหม่ของยาสูบ” นำเสนอโดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิเลิกบุหรี่ พร้อมผู้แทนเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เวที “R2R ปรับเปลี่ยนชีวิตใคร” นำเสนอโดย เครือข่ายหมออนามัย โรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้บริหารเครือข่าย R2R เขต 2 เป็นต้น เรื่อง “โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล: โรงพยาบาลทั่วไทย ใช้ยา คุ้มค่า ปลอดภัย ไม่ซ้ำซ้อน” ที่นำอภิปรายโดย นพ.ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา โดยมีผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมนำเสนอ

           ขณะที่วงเวที “อนาคตระบบสุขภาพไทย สุขภาพคนไทยดีขึ้นหรือแย่ลง” ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย โดยในเวทีไดนำเสนอภาพอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ภายในห้วงเวลาปี 2556-2566 ทำให้เห็นทิศทางที่จะเกิดขึ้นในระบบสุขภาพไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดให้มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ โดยข้อหนึ่งในกฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ว่าต้องจัดทำภาพอนาคตระบบสุขภาพ ที่มี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ (สช.) และสวรส. ร่วมกันจัดทำภาพอนาคตนี้ขึ้นมา

           สำหรับการจัดงานในวันที่ 2 มีเวทีที่น่าสนใจ อาทิ “งานวิจัยเขตสุขภาพ ปรับชีวิตคนในเขตให้เปลี่ยนได้อย่างไร” นำเสนอโดย ศ.นพ.ไพบูลย์  สุริยวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ดร.รพีสุภา  หวังเจริญรุ่ง สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง นพ.ธีระ  วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย สวรส. ที่ร่วมเผยผลวิจัยจากการติดตามนโยบายเขตบริการสุขภาพอย่างใกล้ชิด สังเคราะห์แนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบได้อย่างน่าสนใจที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถนำไปพัฒนาการทำงานได้ในระยะต่อไป

         

         ส่วนเวที “บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขจะได้อะไร เมื่อออกนอกระบบ ก.พ.” ที่มีความเข้มข้นเพราะมีความเกี่ยวโยงกับนโยบายในภาพใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อมีข้อเสนอว่าให้ สธ.ออกจาก ก.พ.เพื่อให้บริหารระบบอัตรากำลังคนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีการวิจัยและพบว่าข้อดีคือ ทุกวิชาชีพสามารถขึ้นเป็นผู้บริหารได้เท่ากัน มีความคล่องตัว ได้คนที่เข้าใจการทำงานสาธารณสุขมาบริหาร สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ความก้าวหน้าและมาตรการจูงใจของแต่ละวิชาชีพได้ ซึ่งจะลดความสูญเสียของบุคคลากรจากชนบทไปอยู่ในเมือง หรือจากภาครัฐไปอยู่เอกชน ขณะที่ข้อเสียคือจะสามารถจัดการความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพได้หรือไม่ รวมทั้งปัญหาระบบอุปถัมภ์ และอำนาจการจัดการอาจจะย้ายจาก ก.พ.มาอยู่กับวิชาชีพบางวิชาชีพ และสวนทางกับกระแสการกระจายอำนาจหรือไม่ ทั้งนี้ยังเป็นประเด็นที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง       

          สำหรับเวทีเรื่อง “What’s new in Biomedical Engineering” “Biomedical Engineering: Change and Challenging” “ระบบข้อมูลเพื่อบริหารจัดการ Birth defect and Neonatal hypothyroid M&E:Should it make a difference?” เป็นเวทีและประเด็นใหม่ของ สวรส. ในปีนี้ ที่พยายามมองรอบสถานการณ์ปัญหาสุขภาพที่กว้างขวางออกไป โดยเปิดเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนจากบุคลากรที่ทำงานในศาสตร์ใหม่ๆ

          สำหรับในช่วงบ่ายมีเวทีนำเสนอ “นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ: ปรับเพื่อเปลี่ยนชีวิตประชาชนไทย” นำเสนอผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม และการขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อการปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนไทย เช่น Health Impact Assessment (HIA) ประชาชนได้รับบทเรียนอะไร นำเสนอโดย ดร.เดชรัต  สุขกำเนิด มูลนิธินโยบายสุขภาวะ นพ.โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) เป็นต้น

           และเวทีเสวนาสุดท้าย คือเรื่อง “แหล่งทุนวิจัยด้านสุขภาพ...งบมุ่งเป้าและงบปกติ” ที่มีผู้บริหารสูงสุดจากองค์กรสนับสนุนทุนวิจัย ประกอบด้วย ศ.นพ.สุทธิพร  จิตต์มิตรภาพ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศ.นพ.สุทธิพันธ์  จิตพิมลมาศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศ.นพ.ประเสริฐ  เอื้อวรากุล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ร่วมกันเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ในการสนับสนุนทุนวิจัยด้านสุขภาพ ทั้งงบมุ่งเป้าและงบปกติ จากการดำเนินการร่วมกันของเครือข่ายองค์กรบริหารจัดการงานวิจัย (คอบช.) เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการสนับสนุนทุนวิจัยที่มีประสิทธิภาพ และเกิดการใช้ประโยชน์

             

          รวมทั้งภายในงานยังมีส่วนของการนำเสนอผลงานวิจัยด้านระบบบริการ การบริหาร และนวัตกรรม “Poster round” ที่น่าสนใจ อาทิ การรายงานผลของการดูแลอย่างมีแบบแผนในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่บุตรเกิดภาวะลิ้นติด การจัดตั้งศูนย์กายอุปกรณ์หมุนเวียนและการซ่อมบำรุงต่อการเข้าถึงบริการของผู้พิการและผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ประสิทธิผลของการพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการประเมินผู้ป่วยเจ็บหน้าอก จากกลุ่มอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (ACS) ในโรงพยาบาลชุมชน ผลของโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพปอดผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังใน Easy Asthma & COPD Clinic โรงพยาบาลปากพลี เป็นต้น

           สำหรับในพิธีปิดงานนั้น เป็นไปอย่างเรียบง่าย นำโดย ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สวรส. ที่ได้มอบรางวัลผลงานวิชาการด้านระบบบริการ การบริหาร และนวัตกรรม และรางวัลให้กับนักศึกษาที่ร่วมโครงการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารและสื่อสร้างสรรค์ มีดีมีเดียปั้นเด็กดีเป็นเด็กดัง ภายใต้แคมเปญ HEALTH@I สุขภาพคนไทยเริ่มต้นที่ฉัน

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้