4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.เดินหน้าวิจัย 'ประเมิน-ติดตาม' นโยบายปฏิรูปเขตสุขภาพ ชู รพ.วังทอง ต้นแบบช่วยลดคิวผ่าตัด

          เป็นเวลา 1 ปีมาแล้ว ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการจัดระเบียบเขตบริการสุขภาพให้ตรงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

          เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) ได้พาสื่อมวลชนเข้าศึกษาดูงานเขตบริการสุขภาพ จ.พิษณุโลก กับ "งานบริการครบเครื่องเรื่อง SERVICE PLAN" ที่ รพ.พุทธชินราช และ รพ.วังทอง จ.พิษณุโลก โดยมี ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการแผนงานวิจัย และรอง ผอ.ฝ่ายบริหาร สวรส. นำทีม

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการแผนงานวิจัย และรอง ผอ.ฝ่ายบริหาร สวรส. กล่าวว่า สวรส.มีหน้าที่และบทบาทในการศึกษาวิจัยเรื่องของการแบ่งเขตบริการสุขภาพ ซึ่งจากเดิมเราใช้คำว่า "เขตสุขภาพ" ไม่ใช่ "เขตบริการสุขภาพ" เหมือนทุกวันนี้ โดยมีจำนวนประชากรเป็นตัวกำหนด แบ่งเป็นทั้งหมด 12 เขต และมี กทม.เป็นเขตที่ 13 เริ่มต้นจำนวนประชากรที่ 3-6 ล้านคน 1 เขตจะมี 8 จังหวัด น้อยสุดมี 4 จังหวัด ยกเว้น กทม.ที่เป็น 1 เขต 1 จังหวัด จะมีการเรียกชื่อเขตบริการสุขภาพ เป็นคำที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะเป็นการปรับการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียวระหว่าง สธ. ผู้ที่กำหนดนโยบายหลัก และ สปสช. ผู้ถืองบประมาณ ให้มีความสอดคล้องกัน ซึ่งในความจริงในต่างประเทศมีการแบ่งพื้นที่เขตสุขภาพมาก่อนประเทศไทย ทั้งสองหน่วยงานมีจุดหมายการทำงานเดียวกันคือ ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยมี SERVICE PLAN เป็นเครื่องมือในการทำงาน

          ด้าน ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า เขตสุขภาพ เป็นประเด็นหนึ่งของการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งในปัจจุบันบริการด้านสาธารณสุขที่มีอยู่นั่นนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังดำเนินงานอยู่ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ฉะนั้นถ้ามีกลไกที่มีประสิทธิภาพมาจัดบริการเพื่อประชาชน การบริการก็น่าจะดีขึ้น ระบบบริการจะสามารถรับมือกับปัญหาในอนาคตได้ด้วย เช่น จากบริบทการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงปัญหาภัยคุกคามสุขภาพ ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง การบาดเจ็บ โรคเอดส์ รวมทั้งโรคไม่ติดต่ออื่นๆ เป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภค สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ครอบคลุมถึงทุกปัจจัยแวดล้อมฯ ปัญหาความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อจัดบริการสาธารณสุข

          เขตสุขภาพ เป็นกลไกที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในระดับกลุ่มจังหวัด หนึ่งเขตจะมีประชากรประมาณ 4-5 ล้านคน กลไกนี้จะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพ และควบคุมป้องกันโรค โดยการจัดบริการ "ร่วม" ซึ่งมีเครื่องมือหลักคือผังบริการ (service plan) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการได้ง่ายขึ้น ดีขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น

          สำนักงานเขตบริการสุขภาพที่ 2 เป็นพื้นที่หนึ่งมีนโยบายในการบริหารเขตบริการสุขภาพของพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมของ "ระบบบริการสุขภาพ" ที่ได้พัฒนาหลังปรับโฉมใหม่แบบเขตบริการในการพัฒนากับการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลระดับชุมชน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการด้วยการจัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช ไปบริการรักษาผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลวังทอง ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ขณะเดียวกันก็ช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคตั้งแต่เริ่มต้น อันจะช่วยให้ประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และได้สุขภาพที่ดีขึ้น และลดการแออัดของโรงพยาบาลในเมือง รวมถึงการเกิดศูนย์รักษาโรคมะเร็ง รพ.พุทธชินราช พร้อมให้บริการผู้ป่วยในเขตภาคเหนือตอนล่าง ตั้งเป้าหมายฉายรังสีรักษาผู้ป่วยมากกว่า 75,000 ครั้ง/ปี จากเดิม 32,000 ครั้ง/ปี เป็นต้น

          นางเนาวรัตน์ ศรีทองวัฒนา หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลวังทอง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตามนโยบายเซอร์วิสแพลน กล่าวว่า จากประวัติการรักษาของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่เข้าคิวรอรับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลพุทธชินราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายเป็นปัญหาหนัก ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ เช่น ไส้เลื่อน ไส้ติ่ง บางรายต้องใช้เวลารอคิวเป็นปีๆ จึงได้มีการเพิ่มศักยภาพการให้บริการผ่าตัดศัลยกรรมขึ้นในโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดและให้ประชาชนได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น โดยปรับปรุงสถานที่ห้องผ่าตัดที่มีอยู่แล้วในโรงพยาบาลวังทองให้สามารถใช้งานได้มีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และครุภัณฑ์ที่จำเป็นในห้องผ่าตัด เช่น เตียงผ่าตัด เครื่องจี้ห้ามเลือด โคมไฟผ่าตัด รวมถึงการจัดส่งบุคลากรพยาบาลวิชาชีพ วิสัญญีพยาบาล ไปฝึกทักษะการช่วยผ่าตัด รวมถึงการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดที่โรงพยาบาลพุทธชินราช ส่วนการผ่าตัดได้มีการจัดทีมศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลพุทธชินราชลงพื้นที่ให้การผ่าตัดคนไข้สัปดาห์ละ 3 วัน

          นางเนาวรัตน์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการตามนโยบายเซอร์วิสแพลน นอกจากจะช่วยให้ประชาชนได้รับการรักษาใกล้บ้านแล้ว ยังช่วยพัฒนาศักยภาพพยาบาลและเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ในทุกด้านตามที่ได้เรียนมา เพราะปกติเมื่อมีคนไข้ที่ต้องผ่าตัดจะส่งตัวไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์ แม้ว่าโรงพยาบาลชุมชนเองจะมีห้องผ่าตัดแต่ก็ไม่ได้ใช้งาน เพราะไม่มีหมอศัลยกรรมและพยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งเมื่อนโยบายนี้ออกมาถึงทำให้ได้ใช้พื้นที่ในโรงพยาบาลอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด พยาบาล เจ้าหน้าที่ก็ได้ความรู้เพิ่มเติม และไม่ได้มองว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

          ด้านลุงป้าน สีฟอง อายุ 74 ปี ผู้ป่วยโรคไส้เลื่อน เล่าว่า ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรคไส้เลื่อน มาหาหมอเพราะไม่สบายพอตรวจละเอียดพบว่าเป็นโรคไส้เลื่อน หมอส่งต่อไปตรวจที่โรงพยาบาลพุทธชินราชเพียงแค่วันเดียวก็นัดผ่าตัดที่โรงพยาบาลวังทองเลย เร็ว สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล พยาบาลก็ดูแลดี

          "ตอนแรกหมอบอกโรคนี้เป็นโรคที่รอได้ ถ้ารอผ่าตัดที่โรงพยาบาลพุทธชินราชต้องรอคิว 3-4 เดือนหมอถึงจะนัดผ่าได้ แต่ถ้าผ่าที่โรงพยาบาลนี้ก็จะผ่าให้เลยจึงได้เลือกผ่าที่นี่ ใกล้บ้านด้วย" ลุงป้าน บอก

         แม้ว่าวันนี้การปฏิรูปเขตบริการสุขภาพได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว สวรส. ก็ไม่หยุดยั้ง เพื่อที่จะทำงานติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องแล้วก็เก็บข้อมูลที่เป็นจริงและทันการณ์ มาปรับกลยุทธ์ต่างๆ หรือกลวิธีในการที่จะทำให้ในแต่ละพื้นที่เขตบริการสุขภาพ บรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดทางด้านสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างจริงๆ

 

บ้านเมือง ฉบับวันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2557

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้