4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

โรค′เท็กซ์เนค′ อาการของ′สังคมก้มหน้า′

           อันที่จริงเรื่อง "เท็กซ์เนค" ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พูดถึงกันมา 2-3 ปีแล้ว ที่ผมหยิบกลับมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งเป็นเพราะว่าตอนนี้มันกำลังกลายเป็น "โกลบอล ซินโดรม" คือออกอาการกันแพร่หลายไปทั่วโลก ตามการแพร่ระบาดของอุปกรณ์พกพาสารพัดตั้งแต่ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เรื่อยไปจนถึงอีบุ๊กรีดเดอร์ทั้งหลาย

 

          ก่อนหน้านี้อุปกรณ์เหล่านี้ถูกจำกัดการใช้งานด้วยการเชื่อมต่อแต่ตอนนี้เมื่อสามารถเชื่อมต่อได้ทุกที่ทุกเวลาเนื้อหาที่มากับหน้าจอก็หลากหลายมากขึ้น ดึงดูดใจมากขึ้น ทั้งไลน์ ทั้งเกม ทั้งอีบุ๊กสารพัด สัดส่วนการใช้งานต่อวันก็เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล ไปไหนมาไหนก็เจอแต่ผู้คนก้มหน้าลงหาจออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบนรถไฟฟ้า รถประจำทาง ร้านอาหาร หนักๆ เข้าเดินไปไหนมาไหน ยังไปในลักษณะ "ก้มหน้า" จนผู้ใหญ่ท่านหนึ่งค่อนแคะให้เข้าหูว่าสังคมยุคนี้กลายเป็น "สังคมก้มหน้า" ไปแล้ว

          "เท็กซ์เนค" เป็นคำที่ นายแพทย์ดีน ฟิชแมน แพทย์กายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านบำบัดอาการของกระดูกสันหลังชาวอเมริกัน คิดขึ้นเพื่อใช้เรียกกลุ่มอาการของโรคที่เกิดขึ้นจากการ "ก้มหน้า" บ่อยๆ ซ้ำๆ และนานเกินปกตินี้ อาการที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ การปวดกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ กล้ามเนื้อคอ ปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดทุกวัน หนักเข้าก็อาจพาลไปถึงเกิดการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนบน ซึ่งถือว่าสาหัสเลยทีเดียวครับ และที่น่ากังวลก็คือ การก้มหน้าในลักษณะนี้บ่อยๆ นานๆ จะส่งผลต่อบุคลิกท่าทาง และการเติบโตของร่างกายในเด็กและวัยรุ่นให้ออกมาบิดเบี้ยวโค้งงอจนต้องมาหาทางแก้กันยุ่งยากในภายหลัง

          ที่มาของโรคนี้คือการก้มนั่นแหละครับในทางการแพทย์เขาบอกว่าเพียงแค่การก้มศีรษะลงไปข้างหน้า ผิดจากท่าปกติตามธรรมชาติ (คือเมื่อหูของเราอยู่ในแนวเดียวกับไหล่) เพียงแค่นิ้วเดียว น้ำหนักของศีรษะก็จะทำให้ กล้ามเนื้อ เอ็น กระดูกและเส้นประสาทในบริเวณไหล่ คอ ต้องแบกรับภาระหนักเพิ่มขึ้นมากแล้ว น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วยการถ่วงไปข้างหน้าจะไปดึงรั้งกล้ามเนื้อเส้นเอ็นทั้งหมดให้ต้องแบกรับภาระมากขึ้นตามไปด้วยอาการตึงจะเกิดขึ้นตามมาถ้าทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้งก็จะเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ทั้งกับกล้ามเนื้อ เอ็น และเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าว  ซึ่ง ดร.ฟิชแมนเคยแสดงให้เห็นฟิล์มเอกซเรย์ของวัยรุ่นอเมริกันที่แสดงชัดเจนว่ากระดูกสองสามชิ้นบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งงอไปด้านหน้าแบบผิดธรรมชาติเพราะเหตุนี้มาแล้ว

          ข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2000 ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วศีรษะของคนเราจะหนักประมาณ 5 กิโลกรัม การก้มไปข้างหน้าทุกๆ 2 เซนติเมตร จะทำให้ไหล่ต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าก้มลงไป 6 เซนติเมตร น้ำหนักของศีรษะที่ไหล่ คอ และกระดูกสันหลังที่ต้องรองรับนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 20 กิโลกรัม  น้ำหนักขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการก้มนานๆ ซ้ำๆ อยู่ทั้งวันถึงก่อให้เกิดอาการได้มากขนาดนั้น

          คำแนะนำของแพทย์เพื่อการป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของเท็กซ์เนคอย่างง่ายๆก็คือ ละสายตาจากจอ เปลี่ยนท่าจากการก้มหน้า ปล่อยให้ศีรษะกลับคืนสู่ท่าธรรมชาติในทุกๆ 15 นาที เงยหน้าขึ้น เหลียวไปรอบๆ ถ้ายังจำเป็นต้องจ้องจออยู่ก็ยกมันให้ขึ้นมาอยู่ในระดับสายตา เพื่อลดการแบกรับน้ำหนักของคอลงเป็นระยะๆ  ถ้าเป็นไปได้ก็ควรออกกำลังกาย ในแบบที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ได้ผ่อนคลาย จะเป็นโยคะก็ได้ หรือจะเป็นกายบริหารแบบพิลาทีสที่มุ่งเน้นไปที่การทำให้ร่างกายของเราอยู่ในท่าทางที่ถูกต้องก็ได้ ทำให้ได้ทุกวันจะป้องกันปัญหานี้ได้

          ใครที่ใช้มาตรการประดานี้แล้วยังไม่ได้ผล แสดงว่า เท็กซ์เนคของคุณค่อนข้างไปทางรุนแรงแล้ว ควรไปพบแพทย์ อย่างน้อยๆ ก็อาจต้องใช้ยาจำพวกคลายกล้ามเนื้อช่วย แต่ถ้าอาการเกิดไปกระทบทำให้กลุ่มประสาทในบริเวณดังกล่าวถูกบีบ กดอยู่นานๆ จนเกิดอาการปวดประสาท ก็จัดอยู่ในขั้นต้องให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญดูแลเป็นการเฉพาะจะดีที่สุด  แล้วก็ต้องลดการตกไปเป็นส่วนหนึ่งของ"สังคมก้มหน้า"ลงให้เหลือน้อยที่สุดแล้วละครับ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2557

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้