4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

เปิดเวที “วิจัยมุ่งเป้า” มิติสุขภาพ... รับมือสังคมชรา ภัย NCDs โรคระบาด !!

          จากเวทีเสวนาเรื่อง “โจทย์วิจัยมุ่งเป้าด้านสุขภาพช่วยเพิ่มมูลค่าการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างไร ?” ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2557 (Thailand Research Expo 2014) ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” จัดโดยเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 7 – 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ รร.เซนทรัลเวิลด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซนเตอร์ เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ได้สะท้อนภาพให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้สังคมและสภาพแวดล้อมที่เติบโตเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

          โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ปัญหาพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตอย่างไร้วินัยที่ส่งผลให้คนไทยรับภาระจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์เสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่มองไม่เห็น  “งานวิจัย” จะมีทิศทางการนำไป “พัฒนา – ใช้ประโยชน์ – ตอบโจทย์” คุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างไร เป็นประเด็นที่น่าติดตามเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือในอนาคต...

 

         

          เริ่มจาก ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนาเกริ่นนำว่า สวรส. ได้รับมอบหมายจาก วช. ในการสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าทางด้านชีวเวชศาสตร์การแพทย์ จำนวน 11 ชุดโครงการ ในปี 2556 สำหรับการเสวนาในมหกรรมวิจัยแห่งชาติครั้งนี้ ทาง สวรส. ได้เลือกชุดโครงการวิจัยที่น่าสนใจมานำเสนอ คือ 1.โครงการวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมผู้สูงอายุ (Elderly) 2.โครงการวิจัยเพื่อการป้องกัน รักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) 3.โครงการวิจัยการป้องกัน รักษา และควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ (EID) และ 4.การวิจัยเพื่อพัฒนาและปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติ (CPG)

          ความสำคัญและจำเป็นนั้น ผศ.ดร.จรวยพร อธิบายว่า การวิจัยมุ่งเป้าจะเน้นการวิจัยที่กำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยผลงานวิจัยจะต้องนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ในระยะเวลา 1-3 ปีนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ หรือผลักดันผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่พัฒนาจนสำเร็จแล้ว ให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้งานวิจัยที่พัฒนา/ปรับเปลี่ยนแนวเวชปฏิบัติหรือนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ อีกทั้งการได้ข้อมูลระบาดวิทยา สาเหตุ การเฝ้าระวัง เพื่อนำไปสู่การควบคุม ป้องกันและการรักษา รวมถึงองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติ จะช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนที่จะนำไปสู่การดูแลสุขภาพ ลดการเจ็บป่วย

          “สถานะทางสุขภาพคนไทยปัจจุบันอยู่ดีกันอย่างไรเป็นคำถามที่สำคัญ ซึ่งผลงานวิจัยด้านต่างๆ จากชุดโครงการวิจัยมุ่งเป้า จะช่วยลดช่องว่างของปัญหาสุขภาพในระบบให้กับประชาชนคนไทยเกือบ 70 ล้านคนในอนาคต เช่น ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยมีอัตราอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตจะเป็นอย่างไรเป็นประเด็นที่น่าศึกษา เพราะผู้สูงวัยก็อาจจะต้องตกอยู่ในภาวะของการเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมถึงการหกล้มที่ส่งผลต่อการเจ็บป่วยในระยะยาว ฯลฯ จึงเกิดชุดโครงการ Elderly เพื่อหาแนวทางในการอุดช่องว่างดังกล่าว เป็นต้น” รอง ผอ.สวรส. กล่าว

 

           

         พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) นักวิจัยชุดโครงการวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. เผยว่า ประเทศไทยเผชิญปัญหาประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2552 ข้อมูลล่าสุดปี 2556 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 13.2 หรือประมาณ 9 ล้านคนจากประชากรทั้งประเทศ จากนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปี เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ประเทศนั้นๆ จะถูกจัดให้เป็น “สังคมผู้สูงอายุ”  คาดว่าในไม่กี่ปีข้างหน้าไทยก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุจะทำให้เกิดภาวะพึงพิงสูงขึ้น ปัญหานี้จะกระทบต่อโฉมหน้าระบบการบริการด้านสุขภาพอย่างแน่นอน

          “เรามีปัญหาที่จำเป็นต้องหาคำตอบจากงานวิจัยอีกมากมาย เพื่อแก้ปัญหาที่ยังคงอยู่ ซึ่งงานที่ มส.ผส. เคยดำเนินการ เช่น การวิจัยและพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว ที่ทำการสังเคราะห์รูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวและระยะกลางสำหรับประเทศไทย ในการทบทวนองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ (2545 – 2550) กลไกการบูรณาการการดูแลระยะยาวด้านสุขภาพและสังคม (2553) ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ดีในเขตเมืองและชนบท (2552) รวมถึงการวิจัยและพัฒนาหลักประกันทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุไทย ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายจากการศึกษาได้ถูกผลักดันเข้าสู่สมัชชาผู้สูงอายุและสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง พ.ศ. 2557 -2561 ด้วย”

          ส่วนงานชุดวิจัยมุ่งเป้าจากงบประมาณปี 2556 พญ.ลัดดา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานวิจัยประกอบด้วย เรื่องการพัฒนามาตรฐานและแนวทางการให้บริการผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาในสถานดูแลระยะยาว เรื่องสถานสงเคราะห์คนชราอาคารเขียวต้นแบบตามหลักวิศวกรรมปัจจัยมนุษย์ เรื่องการล้มในผู้สูงอายุไทยในเขตเมืองและชานเมือง: อุบัติการณ์ ปัจจัยเสี่ยง การจัดการและการป้องกัน เรื่องการพัฒนาเครื่องมือทางคลินิกสำหรับประเมินความเสี่ยงในการล้มของผู้สูงอายุ เรื่องการใช้ยาในผู้สูงอายุไทย เขตภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย เรื่องการพัฒนาต้นแบบระบบการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านในเขตเมืองใหญ่: กรณีศึกษาเขตเทศบาลนครหาดใหญ่  เรื่องภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุโรคเบาหวาน ในประเทศไทย เรื่องการศึกษาและพัฒนาภูมิคุ้มกันทางใจวัยสูงอายุโดยการบูรณาการกระบวนการ มีส่วนร่วมของครอบครัวและเครือข่ายประชาสังคม และเรื่องการพัฒนารูปแบบและกลไกของชุมชนเพื่อการดูแลและป้องกันปัญหาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ในผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกาย จิต สังคม และปัญญา เจ็บป่วยน้อยลง คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้

 

           

         ทางด้าน ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา หัวหน้าคลัสเตอร์วิจัยหัวใจและหลอดเลือด ม.มหิดล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี นักวิจัยโครงการวิจัยเพื่อการป้องกัน รักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) กล่าวนำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” หรือ EGAT Study ว่า เป็น 1 ในโครงการวิจัยที่ใช้ระยะเวลายาวที่ใหญ่และยาวนานที่สุดในประเทศ ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2528 โดยการติดตามประชากร 9,084 คน นานถึง 29 ปีแล้ว โดยชักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาความชุกปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด หาความสัมพันธ์และอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงชนิดต่างๆต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทย ศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเสี่ยงในระยะเวลาต่างๆ เช่น คนที่สูบบุหรี่/ดื่มสุรา มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือไม่เป็นอย่างไร หรือไม่ป่วยเพราะปัจจัยอะไร

          “จากผลการวิจัยเราจึงได้พัฒนาแบบประเมินการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (Rama-EGAT Score) ขึ้นมาเพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เหมาะสมกับคนไทย ซึ่งทาง HITAP ยังได้เสนอเชิงนโยบายเพื่อให้นำเครื่องมือนี้บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคสำหรับประชากรวัยทำงานด้วย รวมไปถึงผลการศึกษาที่พบว่าภาวะอ้วนลงพุงเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง จึงเกิดแนวทางในการป้องกันที่ประเมินได้ว่าการมีขนาดรอบพุงเท่าไหร่จะเสี่ยงการเกิดโรคฯ ซึ่งทาง สสส. ได้นำไปใช้รณรงค์เผยแพร่ เป็นต้น”

          สำหรับงานวิจัยมุ่งเป้าในเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ปี 2557 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา อาทิ การศึกษาอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงและการพัฒนาคุณภาพการรักษาและส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด และเมแทบอลิซึม โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา การศึกษาผลของวิธีการฟอกไต, ระดับการทำงานของไตก่อนการฟอกไต,และการรักษาด้วยเหล็กทางหลอดเลือดดำต่อประสิทธิภาพการรักษา และภาระต่อเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข โดย รศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ การศึกษาโปรตีนสำคัญในการเกิดไขมันพอกตับจากสภาวะเครียดออกซิเดชั่นและเกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยเทคนิครีดอกซ์โปรติโอมิกส์เพื่อเป็น แนวทางการศึกษาปัจจัยจากพฤติกรรมที่มีผลร่วมกับปัจจัยทางพันธุกรรม โดย ดร.ศุภชัย โตภาณุรักษ์

 

         

          ประเด็นการวิจัยมุ่งเป้าในโครงการป้องกัน รักษา ควบคุม โรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ นำเสนอโดย ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ฉายภาพให้เห็นว่า โรคติดเชื้ออุบัติใหม่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข และยังเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ พร้อมยกตัวอย่าง ไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี 1918 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 50-100 ล้านคนคิดเป็น 3-5% ของประชากรโลก หรือการระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ในปี 2004 ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 0.5% ของ GDP ในไทย หรือแม้แต่โรคติดเชื้อประจำถิ่นและอุบัติซ้ำที่ยังคงเกิดขึ้น เช่น การระบาดของโรคคอตีบปี 2555 แสดงถึงความเสี่ยงในการกลับมาระบาดซ้ำของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และโรคมือเท้าปากกำลังระบาดในปี 2557 มีผู้ป่วยมากเป็น 2 เท่าของปี 2556

          ดังนั้น เป้าหมายหลักของงานวิจัยมุ่งเป้าด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ มีความสำคัญและจำเป็นในการศึกษา เพื่อเป็นการติดตามมาตรการควบคุมการป้องกันการระบาดของโรค รวมถึงเพื่อให้ได้ชุดตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่ใช้ง่ายและแม่นยำ วิธีการรักษาใหม่ๆ เช่นการใช้ภูมิคุ้มกันจากผู้ที่หายป่วย วัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญ แนวทางการเฝ้าระวังเชื้ออุบัติใหม่ในสัตว์ ความเข้าใจกลไกของการระบาดเพื่อการหามาตรการป้องกันและควบคุมที่เหมาะสม อีกทั้งการใช้ IT ในการเสริมระบบการเฝ้าระวังโรค และการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อเข้าใจ รวมทั้งทำนายการระบาด

          “งานวิจัยมุ่งเป้ามองเรื่องของการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นเรื่องรองๆลงมา แต่ที่สำคัญคือการนำผลการศึกษามากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการควบคุมป้องกัน รวมถึงประเทศไทยจะต้องพัฒนาศักยภาพนักวิจัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้พร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉิน เพื่อช่วยลดปัญหาจากหนักให้เป็นเบาได้” ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว

 

         

          นอกจากนี้ ชุดโครงการวิจัยมุ่งเป้าด้านการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติ ได้นำเสนอโดย นพ.จิตติวัฒน์ สุประสงค์สิน เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (MedResNet) เกริ่นนำก่อนว่า ปัญหาของการใช้แนวทางเวชปฏิบัติในปัจจุบันพบว่า บางเรื่องไม่มีมาตรฐานและมีความแตกต่างกันออกไป ไม่มีคำแนะนำที่เหมาะสม ขาดการประเมินที่ดีต่อหลักฐานทางการแพทย์ที่จะนำมาใช้อ้างอิง หลักฐานทางการแพทย์ที่เป็นข้อมูลเก่า ไม่ทันสมัย คำแนะนำในหัวข้อสำคัญ ไม่ชัดเจน หรือขัดแย้งกัน

          “MedResNet จึงเป็นหน่วยงานพิสูจน์เพื่อจะทำอย่างไรให้แนวทางเวชปฏิบัติ ใช้เป็นแนวทางในการอ้างอิงและดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องที่เผยแพร่กับแพทย์ทั่วไป เพิ่มคุณภาพของมาตรฐานในการดูแลรักษาผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงอย่างมีเหตุผล มีผลเปลี่ยนแปลงต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และใช้การทบทวนหลักฐานทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ โดยอาศัยข้อมูลที่ทันสมัย มีวิธีการที่เป็นระบบ เชื่อถือได้มาสรุปเป็นคำแนะนำ โดยเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อการปรับเปลี่ยนเพื่อจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติ คือ “การวิจัยคลินิก””

          นพ.จิตติวัฒน์ ยกตัวอย่างการนำผลงานวิจัยไปใช้เพื่อการพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วย ที่บริหารจัดการโดย MedResNet เช่น การรักษาโรคมะเร็ง Leukemia และ Lymphoma ให้มีแนวทางมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ การเกิดมาตรการ “ลดภาวะขาดออกซิเจนขณะได้รับยาสลบ” โดยการติดเครื่องมือตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อติดตามระดับการขาดออกซิเจนในร่างกายของผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการดมยาสลบทุกราย การเกิดมาตรการป้องกันการฉีดยาผิดพลาด โดยความร่วมมือของบริษัทยา และองค์กรเภสัชกรรม เพิ่มฉลากสีติดหลอดยาฉีดสำหรับบอกชนิดของ “ยาอันตราย” ลดปัญหาการหยิบยาผิด เพิ่มความปลอดภัยในการให้ยาสลบแก่คนไข้ เป็นต้น

          สำหรับตัวอย่างงานวิจัยในปี 2557 ที่อยู่ระหว่างการศึกษาผลลัพธ์ที่คาดว่าจะนำไปใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคต่างๆ เช่น การหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มล้างไตทางช่องท้อง ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (2557 – 2560) จากโจทย์ปัญหาที่ปัจจุบันผู้ป่วยไตวายรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องล้างไตทางช่องท้อง มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 544 ราย เป็น 16,243 ราย หรือ 30 เท่า ในระยะเวลา 2547 – 2555 โดย สปสช. สนับสุนนการล้างไตทางช่องท้องให้แก่ผู้ป่วยไตวายรื้อรังระยะสุดท้ายทุกราย แต่ขาดข้อมูลสนับสนุนที่บอกการทำงานของไตที่เหมาะสมว่า ควรจะทำการเริ่มล้างไตทางช่องท้องเมื่อไหร่ ซึ่งหากการวิจัยนี้ดำเนินการสำเร็จ จะทำให้เราทราบว่า ควรล้างไตทางช่องท้องในระยะเวลาใด จึงจะเหมาะสมและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

 

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้