4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

รู้เท่าทัน'โรคหัวใจ' มัจจุราชเงียบ อันดับต้น คร่าชีวิตคนไทย

          "โรคหัวใจกำเริบ เลิฟ ละ ละ เลิฟ เลิฟ เลิฟ ดูสิมันกำเริบ เลิฟ ละ ละ เลิฟ ยู..."ท่อนหนึ่งจากเพลงสุดฮิต "Love Love" ในอดีตของคู่หูดูโอ "โฟร์-มด" ที่ได้สร้างอาการโรคหัวใจกำเริบ "รัก" ให้กับหนุ่มๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย ที่ต่างพากันหัวใจอ่อนระทวย เต้นไม่เป็นจังหวะ เกิดอาการ ปิ๊ง ปิ๊ง ยามที่ต้องเผชิญกับความสดใสที่มาพร้อมกับรอยยิ้มและท่าเต้นแสนน่ารัก  อยากจะเป็นโรค "หัวใจ" แบบไม่รู้จักหาย กำเริบแล้วกำเริบอีกอย่างมีความสุข...

          แต่หากเป็นโรคหัวใจ "จริงๆ" ไม่ได้เป็นโรคหัวใจกำเริบ "รัก" อย่างที่กล่าวมา สถานการณ์ทั้งหมดคงพลิกกลับตาลปัตร เพราะอาการเจ็บปวดแน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายกับชีวิต

          ดังนั้น คงไม่มีใครคิดอยากจะเป็น ส่วนคนที่เป็นก็คงอยากที่จะหายและไม่ต้องการที่จะให้กำเริบขึ้นมาอีก
          โรคหัวใจเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดติดอันดับหนึ่ง 1 ใน 3 มาโดยตลอด

          เมื่อเป็นอย่างนี้ คงต้องรู้เท่าทัน และหาทางป้องกัน โดยได้ 2 แพทย์จาก 2 โรงพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ มาเฉลยไขถึงสาเหตุ การป้องกัน ตลอดจนการรักษาให้หายขาดเพื่อผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ เหมือนคนธรรมดาทั่วไป

          เริ่มที่ นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พูดถึงโรคหัวใจในเบื้องต้นว่ามีหลากหลายแบบ อาทิ หัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หัวใจอุดตัน หัวใจล้มเหลว ระบบไฟฟ้าในหัวใจเต้นผิดปกติ  
          แต่โรคหัวใจที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต จะเป็นกรณีหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดอุดตัน ที่มักจะพบอยู่เป็นประจำในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
          "อาการเหล่านี้มักตามมาด้วยโรคหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเพราะหัวใจขาดเลือด และส่งผลให้ระบบไฟฟ้าในหัวใจรวนได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 6 คนต่อชั่วโมง"

          พร้อมยืนยันว่าหากพิจารณาตามสภาวะของประชากร ตัวเลขของผู้เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี!!!
          แล้วพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ? นพ.ภาวิทย์ได้แจกแจงว่า มี อยู่ 2 รูปแบบ คือ 1.กรรมพันธุ์ ที่จะส่งผ่านมาจากทางบิดา มารดา ที่เป็นโรคหัวใจ จะส่งผลให้มีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่าปกติ 2.ทำด้วยตัวเอง เช่น ไขมันสูง ความดันสูง ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่ไม่ควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ทั้งการกิน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ส่งผลทำให้สามารถเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

          ยิ่งอายุมากขึ้น อัตราเสี่ยงย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
          นพ.ภาวิทย์ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นตอนที่เป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่สั่งสมมาตั้งแต่อายุน้อยๆ เปรียบเสมือนท่อน้ำที่สกปรก ไม่ได้เกิดจากการสะสมเพียงแค่ 3 วัน หรือ 1 ปี แต่ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ถึงจะมีสภาพที่แย่ได้

          ดังนั้นจึงอย่าประมาท ดูแลตัวเองตั้งแต่ยังวัยรุ่น และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาทิ หนังสัตว์ หมูสามชั้น ของทอดต่างๆ หมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอยู่เสมอ
          "บางคนคิดว่า ออกกำลังกายทุกวันสุขภาพจะแข็งแรง แต่ไม่ได้ตรวจว่ามีไขมันในเลือดสูงหรือไม่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นหรือไม่ บางคนคิดว่าร่างกายผอม ไม่คิดว่าจะเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะคนที่มีรูปร่างผอม บางทีอาจจะสูบบุหรี่จัด หรือมีกรรมพันธุ์ที่แย่มากก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้ ไม่ต่างจากคนที่มีรูปร่างอ้วนและน้ำหนักเกินกว่าปกติ"

          ดังนั้น ทั้งหมดต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะโรคหัวใจมักแฝงอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว!!!ด้านแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วย
          นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคหัวใจ และผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาต่อเนื่องและคุณภาพการแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนล ได้อธิบายว่า แนวทางในการรักษาผู้ป่วย แบ่งเป็น 3 ระยะ

          คือ 1.วินิจฉัยให้เร็วและถูกต้องที่สุด 2.ให้การศึกษาและความรู้แก่ผู้ป่วยเพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน และ 3.การติดตามการรักษาในระยะยาว
          "ในการวินิจฉัยให้เร็วและถูกต้อง เราจะพบกรณีที่เข้ามารักษาอย่างเร่งด่วนมากที่สุด โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หากสามารถเข้าพบแพทย์ที่สถานบริการได้อย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถทำการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที เช่นการขยายบัลลูนหัวใจให้แก่ผู้ที่มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ถ้าหากสามารถทำได้ในระยะเวลาที่กำหนดผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมาเกือบเหมือนคนปกติได้"ยังมีกิจกรรมสุขภาพอื่นๆ อีกมากมายในงาน  "มติชนเฮลท์แคร์ 2014"

          แต่หากไม่สามารถเข้ารักษาได้ทันเวลา รวมถึงโรงพยาบาลหรือสถานบริการไม่สามารถให้การรักษาได้จะต้องมีการให้ยาขั้นต้น แล้วรีบติดต่อประสานไปยัง โรงพยาบาลหรือสถานบริการที่มีศักยภาพมากกว่ารีบทำการรักษาต่อไป
          "ส่วนสถานการณ์ที่ร้ายแรงคือกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษา เช่น หัวใจทะลุเฉียบพลัน หลอดเลือดหัวใจแตก จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทันที" คุณหมอผู้เชี่ยวชาญย้ำหนักแน่น ต่อมาคือ ระยะที่ 2 การให้ความรู้กับผู้ป่วยและครอบครัว ก็สำคัญไม่แพ้กัน

          นพ.ทวนทศพร บอกว่า การดูแลตนเองของผู้ป่วย จะเริ่มต้นทันทีหลังจากที่มีการรักษาในระยะที่ 1 แล้ว เช่นหลังจากที่มีการทำบัลลูนผู้ป่วยจะต้องทำกายภาพ เละสามารถเดินบนพื้นราบให้ได้ภายใน 1-2 วัน จากนั้นต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ของผู้ป่วยและครอบครัวที่ต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์
          พร้อมแนะว่า ผู้ป่วยและครอบครัวจะต้องมีการเรียนรู้ และห้ามประมาท หากมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก แม้ว่าจะเพิ่งกลับจากโรงพยาบาลก็ต้องมีการเข้าพบแพทย์ทันที รวมถึงการกลับมาทำกิจกรรมในแบบปกติ ทั้งการเดินขึ้นบันได การขับรถยนต์ การเดินทางโดยเครื่องบิน จะต้องมีการปรึกษาแพทย์อยู่เสมอว่าสามารถทำได้เมื่อไร
รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสมด้วย

          "โรคหัวใจถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้น การกลับมาใช้ชีวิตประจำวันแบบเดิมๆ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและการฟื้นฟูของผู้ป่วย รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ถ้าไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์"
          ส่วนการติดตามการรักษาในระยะยาวนั้น นพ.ทวนทศพรบอกว่า ผู้ป่วยบางรายเห็นว่าผ่านไป 2-3 เดือนแล้ว  ร่างกายไม่มีอาการก็กลับไปใช้ชีวิตในแบบเดิม บางรายกลับไปสูบบุหรี่ เลิกควบคุมอาหาร ไม่ใส่ใจในการกินยา จนกลับมามีอาการอีกครั้ง และไม่สามารถที่จะหายจากอาการผิดปกติได้ อีกทั้งแพทย์ไม่สามารถที่จะไปควบคุมการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ก่อนทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต่อสู้กับ "มัจจุราชเงียบ" นี้ได้คือ "การพึ่งพาตนเอง"

          ทั้งนี้ หากอยากติดตาม และฟิตหัวใจให้แข็งแกร่ง ทีมแพทย์จากทั้ง 2 โรงพยาบาลพร้อมที่จะมาให้ความรู้ในงาน "มติชนเฮลท์แคร์ 2014" ในกิจกรรม Healthy Talks : "จับชีพจรอันตราย Heart attacks คุณเสี่ยง มั้ย!" โดยทีมแพทย์ รพ.รามาธิบดี และ "Flexmove" เทคโนโลยีใหม่ผ่าตัดหัวใจ "ไฮบริดอัจฉริยะ" โดยแพทย์จาก รพ.พญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนล
          พร้อมกับกิจกรรมอื่นๆ มากมายในวันที่ 21-24 สิงหาคมนี้ เพื่อชีวิตสดใส หัวใจแข็งแรง!!!

สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์

ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557 หน้า 17

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้