4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

'รพ.จุฬาฯ'เจ๋งเปลี่ยนลิ้นหัวใจไม่ต้องผ่าตัด-รายแรกของโลก

           รพ.จุฬาฯเจ๋ง พัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ไม่ต้องผ่าตัดสำเร็จรายแรกของโลก เผยใช้ลิ้นหัวใจชนิดไฮดรา ผลิตในไทย คาดราคาถูกกว่าลิ้นนำเข้า ช่วยผู้ป่วยสูงอายุลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด-ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็ว ชี้หากบรรจุเข้าสิทธิประโยชน์ ช่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น

          เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการพัฒนานวัตกรรมชิ้นใหม่ "การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด" ว่า ศูนย์หัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ได้มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation - TAVI) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ลดความเสี่ยงอันเกิดจากการผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็ว

          ด้าน ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์โรคหัวใจได้นำเสนอการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยเป็นสถานที่ที่ทำการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม การทำหัตถการสวนหัวใจเพื่อรักษาผู้ป่วยโครงสร้างหัวใจผิดปกติในการประชุม Cardiac Structural Intervention(CSI) 2014 ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต สาธารณรัฐเยอรมัน ดำเนินการด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ Chula TAVI ทีม ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดำเนินการยังค่อนข้างสูงและยังไม่มีอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลของสิทธิประกันสังคม ข้าราชการและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้น หากบรรจุเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในสิทธิประโยชน์ก็น่าจะช่วยผู้ป่วยได้มาก โดยปัจจุบันราคาลิ้นชนิดคอร์ วาล์ว และเซเปียน วาล์วที่นำเข้าจากต่างประเทศอยู่ที่ 1 ล้านบาท

          รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจได้มีโอกาสแสดงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ถือเป็นรายแรกของโลกที่ใช้ลิ้นหัวใจชนิดไฮดรา ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไทย ทำให้มีราคาถูกกว่าชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากยังอยู่ในช่วงพัฒนาลิ้นชนิดไฮดรา จึงยังไม่สามารถระบุราคาที่แน่นอน

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีสาเหตุเกิดจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจโดยมีหินปูนเกาะ ทำให้การเปิดปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติ ในประเทศไทยไม่มีรายงานสถิติผู้ป่วยที่แน่ชัด แต่ในต่างประเทศทั่วโลก พบว่าผู้ที่อายุ 70 ปี มีอัตราป่วยราว 50-60 %  ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าออก เป็นลมหมดสติและหัวใจวาย ในการวินิจฉัยจะอาศัยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เพื่อประเมินภาวะการตีบแคบของลิ้นหัวใจ

          "การรักษาในปัจจุบันที่เป็นมาตรฐาน คือ การผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่มักจะมีโรคประจำตัวอื่นหลายโรคร่วมด้วย จึงมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง โอกาสเสียชีวิตขณะผ่าตัดอาจสูงถึง 10-30% ทำให้ผู้ป่วยอย่างน้อย 30% ไม่ได้รับการรักษา"

          สำหรับในประเทศไทยข้อมูลจากสมาคมศัลยศาสตร์ทรวงอกแห่งประเทศไทยรายงานว่าปี 2551 มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกแก่ผู้ป่วยอายุมากกว่า 80 ปีเพียง 9 ราย อายุ 71-80 ปี 61 ราย การเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เอออร์ติกผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด จึงเป็นอีกทางเลือกเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงอันเกิดจากการผ่าตัดได้


          ขณะที่ นพ.วศิน พุทธารี แพทย์หน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนจะทำการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แพทย์จะทำการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย หากพบว่าใช้การผ่าตัดหน้าอกที่เป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบันแล้วมีความเสี่ยงมากขึ้น ก็จะใช้วิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งกระทำโดยการสอดใส่สายสวนที่ส่วนปลายมีลิ้นหัวใจเข้าไปทางเส้นเลือดตำแหน่งต่างๆ ที่ใช้บ่อยสุด คือ เส้นเลือดแดงใหญ่ที่ต้นขาหนีบ  หรือเส้นเลือดไหปลาร้าข้างซ้าย หรืออาจจะเข้าทางหน้าอกโดยตรงแต่จะเป็นเพียงแผลขนาดเล็ก เพื่อนำลิ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการเพื่อช่วยให้ลิ้นทำงานเปิด ปิดได้ปกติ ซึ่ง รพ.จุฬาฯ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 31 ราย จากการติดตาผลการรักษาผู้ป่วยนานกว่า 6 เดือน ซึ่งในจำนวนนี้ 25 รายเกินกว่า 2 ปี พบว่า เสียชีวิต 2 รายจากโรคไตวาย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ใส่เครื่องกำกับการเต้นของหัวใจ 3 ราย ภาวะหัวใจล้มเหลวต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  2 ราย โรคถุงลมโป่งพองกำเริบ 1 ราย และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคอื่นๆ 4 ราย

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 หน้า 16

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้