ข่าว/ความเคลื่อนไหว
การสวดมนต์นั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับทุกคนในยุคนี้ และมีใครรู้หรือไม่ว่าการสวดมนต์มีความสำคัญ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่บริเวณลานปฏิบัติธรรมวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี จัดกิจกรรมในโครงการรณรงค์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยโดยการสวดมนต์บำบัดแบบไทยสู่สุขภาพดีที่ยั่งยืน ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กรมการศาสนา, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อร่วมผลักดันการสวดมนต์บำบัดไปสู่ชุมชนได้ใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการบำบัดอาการป่วย โดยเฉพาะการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบว่าปี 2556 มีคนไทยป่วยโรคนี้ 2.5 ล้านคน และเสียชีวิตปีละกว่า 1.2 แสนคน ไม่รวมคนไข้ที่มีปัญหาทางจิตอีกปีละ 1 ล้านคนเศษ ต้องใช้ยาจากต่างประเทศ ปีละกว่า 100,000 ล้านบาทและเป็นค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพประมาณร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ
ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เปิดเผยว่า ในศาสตร์การแพทย์ทางเลือก การสวดมนต์บำบัดนับเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคโดยไม่ต้องใช้ยา การสวดมนต์บำบัดไม่ใช่แค่รักษาโรคทางใจได้เท่านั้นแต่ยังสามารถบำบัดโรคทางกายได้ผลดีด้วย ประโยชน์ของการสวดมนต์บำบัดในทางการแพทย์ คือหลักการหนึ่งของ Vibrational Therapy หรือ Vibrational Medicine คือการใช้คุณสมบัติของคลื่นเสียงมาบำบัดความเจ็บ ป่วย โดยใช้หลักการทำให้เกิดคลื่นเสียงที่มีความสม่ำเสมอ เพื่อเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเยียวยา ซึ่งการบำบัดด้วยกลไกดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อหูของเราได้ยินเสียงบทสวด ซึ่งจะส่งสัญญาณ ต่อไปยังศูนย์การได้ยินที่อยู่บริเวณสมองกลีบ ขมับ ก่อนส่งไปบริเวณก้านสมอง ซึ่งเมื่อได้รับคลื่นเสียงช้า ๆ สม่ำเสมอประมาณ 15 นาทีก็จะหลั่งสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์มากมาย
ดร.นพ.ธวัชชัย ยังบอกอีกว่า การสวดมนต์ด้วยตัวเองเป็นการเหนี่ยวนำตัวเองถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพราะหากใครสักคนคิดที่จะสวดมนต์ นั่นหมายความว่าเขากำลังมีความปรารถนาดีต่อตนเอง โดยวิธีปฏิบัติในการสวดมนต์ด้วยตนเองที่ถูกหลักคือไม่ควรสวดมนต์หลังกินอาหารทันที ควรทิ้งช่วงให้ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย อาจเป็นเวลาก่อนเข้านอน หาสถานที่ที่เงียบสงบ สวดบทสั้น ๆ 3-4 พยางค์ โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีขึ้นไป จะทำให้ร่างกายได้หลั่งสารซีโรโทนิน (serotonin) ซึ่งสารนี้เป็นสารสื่อประสาทมีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ ช่วยการเรียนรู้ ลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทอื่น ๆ เช่น เมลาโทนิน ซึ่งเปรียบคล้ายกับยาอายุวัฒนะ เพราะจะช่วยยืดอายุการทำงานของเซลล์ประสาท เซลล์ร่างกาย ให้ชีวิตเพิ่มภูมิต้านทาน ทำให้เซลล์สดชื่นขึ้น ซีโรโทนินยังเข้าไปลดปริมาณของสารเคมีที่เป็นตัวกระตุ้นของการทำงานของต่อมหมวกไตให้ลดลง ส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานน้อยลง ร่างกายจึงรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง และไม่เครียด ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่าการสวดมนต์ช่วยบำบัดอาการป่วยและโรคร้ายต่าง ๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเครียด โรคซึมเศร้า ปวดหัวไมเกรน และนอนไม่หลับ เป็นต้น
"กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันการสวดมนต์บำบัดไปสู่ชุมชน ให้ใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการบำบัดอาการป่วย โดยคาดว่าประชาชนโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการสร้างความสงบสุขให้คนไทยหันมาสวดมนต์เพื่อสร้างความสงบสุขทั้งด้านร่างกายจิตใจของตนเอง ตั้งเป้าให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศกว่า 9,000 แห่ง และโรงเรียนในเขตชุมชน ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนสวดมนต์อย่างต่อเนื่อง" ดร.นพ.ธวัชชัย กล่าวปิดท้าย
นายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การสวดมนต์เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาได้มีการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่กว้างขวางในบางที่ และเมื่อทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมาสนใจเรื่องนี้ จึงยินดีสนับสนุน เช่น ให้อนามัยตำบล ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพมีพระเป็นผู้สอนและนำสวดมนต์ ซึ่งการมีพระมานำการสวดจะทำให้กล้ามากขึ้น ทางพระท่านจะช่วยแนะนำการสวดที่ถูกต้องอีกด้วย
ด้านนายสุเทพ เกษมพรมณี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนา กล่าวว่าการสวดมนต์นอกจากจะได้อานิสงส์ทางด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้สวดมนต์ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนพิธีต่าง ๆ อีกด้วย อีกทั้งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะไม่ให้ผู้ สวดไปกระทำในสิ่งไม่ดี สำหรับความร่วมมือระหว่างสำนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนา กับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือว่าด้วยงานทางด้านวิชา การ ด้านวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการทำกิจกรรมทางสังคม เพื่อดำเนินการกิจกรรมเกี่ยวกับการสวดมนต์ให้มากขึ้น
ส่วนนางพรทิพย์ พหุลรัต อายุ 67 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่าโดยส่วนตัวตนเองเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ผลดีที่ตนรู้สึกได้เมื่อได้สวดมนต์ทำสมาธิคือที่ผ่านมาทำให้ร่างกายดีขึ้นจิตใจดีขึ้น เพราะเมื่อก่อนตนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ จึงเจ็บป่วยบ่อยทำให้จิตใจว้าวุ่นหงุดหงิดง่าย แต่เมื่อได้สวดมนต์ได้ชำระจิตใจ ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ทำอะไรก็มีสมาธิมากขึ้น ความจำดี และในครั้งนี้กับการได้เข้าร่วมสวดมนต์บำบัดควบคู่ไปกับการฝึกสมาธิบำบัดแบบ SKT 1-7 รู้สึกดีมาก แม้จะแตกต่างจากหลักการนั่งสมาธิแบบที่เคยทำ แต่เมื่อลองได้ปฏิบัติแล้วรู้สึกโล่ง ผ่อนคลาย สิ่งที่ได้ก็คือ จิตใจสงบและดีต่อร่างกาย มั่นใจว่าจะนำวิธีฝึกสมาธิแบบ SKT 1-7 กลับไปปฏิบัติต่ออย่างแน่นอน.
สมคิด-สมนึก ลือประดิษฐ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 หน้า 25
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้