ข่าว/ความเคลื่อนไหว
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นเจ้าภาพร่วมเปิดงาน “IP Innovation and Technology Expo – IPITEx. 2014” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 ก.ค. ณ Hall 103 – 105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
การจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย รวมไปถึงองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ หรือ คอบช. ที่ประกอบด้วย 7 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์กรมหาชน หรือ สวก. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการนโนยายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตร
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีแนวทางในการพัฒนาประเทศโดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และต้องพัฒนาแบบองค์รวมโดยมียุทธศาสตร์สำคัญ เช่น การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
"ทางกระทรวงฯ พร้อมที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงตามกระแสของโลกที่เกิดขึ้น เป้าหมายเหล่านี้ล้วนต้องการพื้นฐานที่เข้มแข็งจากทั้งในส่วนของการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ผลงานวิจัยประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ เพื่อพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการแข่งขันในเวทีโลก ดังนั้นการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นการนำผลงานที่อยู่บนหิ้งเข้าสู่ห้าง"
นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า งาน IPITEx. 2014 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่หน่วยงานทางด้านการส่งเสริมงานวิจัยต่างๆ หน่วยงานด้านการส่งเสริมการค้าและการพาณิชย์ ภาครัฐและเอกชน กว่า 15 หน่วยงาน ได้ร่วมมือในการนำเสนอผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุน และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
“การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ในฐานะผู้มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้เห็นความสำคัญของนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ แล้วให้ความสำคัญและช่องทางในการนำผลงานไปใช้ในการลงทุนเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ รวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าของไทย” นางกุลณี กล่าว
ภายในงานรวมผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการลงทุนและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของไทย มีการจัดแสดงผลงานกว่า 200 ผลงาน จาก 13 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ กลุ่มยางและไม้ยางพารา กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารและเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มเครื่องจักรกลเพื่ออุตสาหกรรม กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องปรับอากาศ กลุ่มซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์ที่มีศักยภาพ อาทิ ถุงเท้าลอกผิวที่ตายแล้วในผู้ป่วยเบาหวาน โดย รศ.ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์ และคณะ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ธัญพืชผสมถั่วที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุทั่วไปและผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน โดย นางวันทนีย์ เกรียงสินยศ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล อุปกรณ์ตรวจวัดความง่วงแบบพกพา "AlertZ" โดย อ.เจษฎา อานิล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องขับรถเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะพนักงานขับรถขนส่งมวลชนเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหลับใน ซึ่งสามารถจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ นวัตกรรมเจิร์มการ์ดผลิตภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์เคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุด โดยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำสารสกัดจากเปลือกชั้นในของมังคุดที่ชื่อว่า แซนโทน (Xanthone) มาใช้ผสมผสานในการใช้งานเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งหน้ากากอนามัย แผ่นกรองอากาศ แผ่นปิดสิว พลาสเตอร์ปิดแผล แผ่นปิดผิวหนังและน้ำยาทาแผล โดยแซนโทนมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อรา อาทิ H2N1 เชื้อก่อโรคทางเดินหายใจ เชื้อก่อโรคระบบเยื่อหุ้มสมอง เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผสมผสานกับธรรมชาติที่นอกจากป้องกันเชื้อโรคได้แล้วยังฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย
สำหรับทิศทางส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้เสนอว่า ในอนาคตกระทรวงพาณิชย์ควรจะเป็นหน่วยงาน one-stop service ที่บริหารจัดการ value chain เริ่มจากโจทย์วิจัย แล้วนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ตามความต้องการของลูกค้าได้ เช่น ลูกค้าต่างชาติต้องการข้าวเมล็ดยาวเรียว กลิ่นหอม นี่จะเป็นโจทย์วิจัยที่กระทรวงพาณิชย์รับเข้ามา และทางเครือข่ายองค์กรบริหารวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) จะนำโจทย์นี้มาให้ทุนวิจัยแก่นักวิจัยโดยตรง ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดงานวิจัยที่ตรงความต้องการของตลาดโดยไม่ต้องกลัวจะวางไว้ที่หิ้งอีก
โดยแนวทางนี้ เป็นโมเดลในประเทศที่มีรายได้สูงได้มีการจัดทัพใหม่ในการบริหารจัดการภาพรัฐ โดยให้กระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่มีบทบาทสูงในการให้ทุนวิจัย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานของภาครัฐที่รับทราบโจทย์วิจัยจากลูกค้า
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้