4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

วิกฤติ “เชื้อดื้อยา” สวรส.เร่งงานวิจัย เพื่อควบคุมและป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะของประเทศ

          สวรส.เร่งวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย พร้อมออกแบบสื่อรณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะทั้งในคนและในสัตว์  เน้นให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม  ลดปริมาณการใช้ยาเกินความจำเป็น และสร้างพฤติกรรมการใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด  หวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อดื้อยา  ผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา และงบประมาณประเทศกว่าปีละ 5 หมื่นล้านบาท

          ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หัวหน้าทีมวิจัย สวรส. กล่าวว่า  ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ติด “เชื้อดื้อยา” ประมาณ 9 หมื่นรายต่อปี  เสียชีวิตประมาณ 3 หมื่นรายต่อปี  ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีอัตราการเสียชีวิตเพราะการติดเชื้อสูงกว่าผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันที่ติดเชื้อไม่ดื้อยาอย่างน้อย 1 เท่าตัว  ทั้งนี้การติดเชื้อดื้อยาในแต่ละปี ทำให้ประเทศไทยสูญเสียทรัพยากรมากกว่าปีละ 5 หมื่นล้านบาท   โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา “เชื้อดื้อยา” คือ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม  เช่น ใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่มีเหตุจำเป็น  และไม่ใช้ให้ครบตามปริมาณที่ต้องใช้  ทำให้เชื้อแบคทีเรียพัฒนาตนเองให้สามารถต้านทานยานั้นได้ และแพร่กระจายจำนวนออกไปในตัวผู้ที่ใช้ยาและสู่สภาพแวดล้อม ทำให้ยาที่มีอยู่ไม่สามารถรักษาโรคได้อีกต่อไป  และคนที่ติดเชื้อดื้อยาก็อาจเสียชีวิตได้ในที่สุด  นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมเกิดขึ้นทั้งในการรักษาและป้องกันของคนและสัตว์ จึงทำให้ “เชื้อดื้อยา” แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์อย่างถ้วนหน้า

          จากปัญหาดังกล่าวทีมวิจัย สวรส.จึงเร่งพัฒนางานวิจัย โครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาในประเทศไทย โดยการเก็บข้อมูลพื้นที่นำร่อง 4 อำเภอ 2 จังหวัด (จ.ชลบุรี และ จ.ลำพูน) ทั้งในสถานพยาบาล ชุมชน และฟาร์มปศุสัตว์  เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะนำมาสนับสนุนการออกแบบสื่อรณรงค์ในการสร้างกระแสความตระหนักและตื่นตัวของกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย เกษตรกร ฯลฯ ซึ่งได้มีการแบ่งการดำเนินงาน 3 กลุ่มคือ 1.การพัฒนาชุมชนต้นแบบ (ชุมชน สถานพยาบาล และฟาร์ม) โดยเน้นการพัฒนาระบบ กลไก มาตรการการควบคุมและป้องกันการดื้อยา เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างครอบคลุม  2.การพัฒนาระบบพื้นฐานของการควบคุมและป้องกันการดื้อยา 3.การวิจัยและพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งต้องมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้การพัฒนาการสื่อสารเพื่อการรณรงค์ของโครงการนี้  นอกจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว  ยังได้มีการศึกษาข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ  ตลอดจนการใช้แนวคิดการตลาดเพื่อสังคม (social marketing) มาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ  ซึ่งจะแยกการทำงานรณรงค์ไปกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง  เช่น  คนรุ่นเก่าที่มีความเชื่อฝังใจ  คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้  เด็กและเยาวชนที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของโฆษณาได้ง่าย  และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องให้การป้องกันและรักษาผู้ป่วย ฯลฯ
ด้านการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาในสัตว์  ทีมวิจัยมีกลยุทธ์ในการทำงานคือการเฟ้นหาฟาร์มตัวอย่างที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและได้มาตรฐาน เพื่อนำมาเสนอเป็นฟาร์มตัวอย่างแก่ฟาร์มทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมโครงการ  พร้อมมีแผนการอบรมให้เกษตรกรได้มีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  มีความรู้ในวิธีการปฏิบัติเพื่อควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาที่ไม่กระทบต่อผลผลิต  จนเห็นความสำคัญและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการติดเชื้อดื้อยาในสัตว์

          อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา  หากแต่เริ่มมีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจนมากขึ้น  ซึ่งหลังจากนี้ทีมวิจัยจะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลการใช้ตัวอย่างสื่อการรณรงค์ต่างๆ กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นำร่องอีกครั้ง โดยคาดว่าจะพัฒนาจนได้รูปแบบที่ชัดเจนเพื่อขยายผลทั่วประเทศในช่วงเดือน ม.ค.2558 ต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้