ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

Research for all

 ปัจจุบันมีการลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีความต้องการงบประมาณมากขึ้นเนื่องจากการวิจัยและพัฒนาแต่ละอย่างต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งระดับการลงทุนในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ซึ่งอาจแบ่งงานวิจัยด้านสุขภาพออกเป็น 9 ด้าน ได้แก่

          1. การวิจัยพื้นฐาน เป็นงานวิจัยที่เป็นรากฐานสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของโรค การพัฒนา การค้นหา การรักษา การจัดการโรคและความเจ็บป่วย
          2. การศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของโรค เป็นงานวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุ การระบุปัจจัยที่เป็นสาเหตุหรือความเสี่ยงต่อโรค หรือการดำเนินของโรคและภาวะความเจ็บป่วย
          3. การป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นงานวิจัยเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย หรือการสร้างเสริมให้มีสุขภาพที่ดี
          4. การตรวจหา การคัดกรอง และการตรวจวินิจฉัยโรค เป็นงานวิจัยเพื่อคิดค้น พัฒนา และประเมินเทคโนโลยีในการตรวจหา การคัดกรองและการตรวจวินิจฉัย เพื่อพยากรณ์หรือทำนายโรค
          5. การพัฒนาวิธีการรักษาและมาตรการสำหรับการรักษา เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาและการบำบัดโรค การทดสอบในแบบจำลองและห้องปฏิบัติการก่อนการทดสอบในมนุษย์
          6. การประเมินวิธีการรักษาและมาตรการสำหรับการรักษา เป็นงานวิจัยเพื่อการทดสอบและประเมินวิธีการบำบัด รักษาโรคในหน่วยบริการหรือในชุมชน
          7. การจัดการโรคและภาวะความเจ็บป่วย เป็นงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบของโรคและความจำเป็นในการดูแลรักษาระดับบุคคล  
          8. การวิจัยการให้บริการสุขภาพและการดูแลทางสังคม เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดและให้บริการสุขภาพและการดูแลทางสังคม และนโยบายสุขภาพ รวมถึงการศึกษาวิจัยด้านการออกแบบ การวัด และระเบียบวิธีวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          9. การวิจัยด้านนโยบายและระบบสุขภาพ เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยจะต้องมีการออกแบบเป็นอย่างดี เนื่องจากมีความยากในการควบคุมสิ่งแวดล้อมหรือบริบทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจต้องใช้นักวิจัยสหสาขา เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา การเมืองและสาธารณสุข ซึ่งหากใช้ six building blocks ตามกรอบขององค์การอนามัยโลก จะแบ่งการวิจัยระบบสุขภาพได้อีก 6 กลุ่มคือ การอภิบาลระบบสุขภาพ กำลังคนด้านสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพ ระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ เทคโนโลยีด้านสุขภาพและยา การเงินการคลังสุขภาพ

          แนวโน้มการวิจัยในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีรายได้น้อย จะเห็นความสำคัญของการวิจัยมากขึ้น เช่น ประเทศเคนยา จัดสรรงบประมาณร้อยละ 2 ของ GDP เพื่อลงทุนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนายารักษาโรคที่เป็นปัญหาของประเทศ เช่น ยาต้านไวรัส HIV/AIDS ยารักษามาลาเรีย ส่วนประเทศแทนซาเนีย ใช้การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากประสบการณ์ของบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้  ปัจจุบันองค์กรระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เช่น การลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีน HIV/AIDS วัคซีนป้องกันมะเร็งเต้านม วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งยังมีความต้องการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอีกมาก นอกจากข้อจำกัดด้านงบประมาณแล้ว ยังมีข้อจำกัดด้านนักวิจัยและคุณภาพของข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนศักยภาพของคนในการทำหน้าที่ Research Translation

           ประเด็นของสถานการณ์การวิจัย หากเราทราบสถานะของการวิจัย เช่น มีการวิจัยยาประเภทใดบ้าง จำนวนเท่าไหร่ และกำลังวิจัยอยู่ในขั้นตอนใด จะเป็นประโยชน์มาก การที่องค์การอนามัยโลกจะตั้ง Global Health Research Observatory เพื่อเป็นกลไกในเก็บฐานข้อมูลการวิจัยและดำเนินการเพื่อค้นหาช่องว่าง และกำหนดนโยบายการวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศต่างๆ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี  ซึ่งในช่วงแรกจะมีโครงการนำร่องกับองค์การอนามัยโลก (Health Research and Development demonstration projects) เพื่อรวมศักยภาพกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค ซึ่งในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกได้มีการกล่าวถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีน โดยสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับและพัฒนาเป็นยาใหม่สำหรับป้องกันหรือรักษาโรคบางชนิดที่มีความรุนแรงและยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยาสำหรับรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาหรือวัคซีนเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึง  ตลอดจนพัฒนาระบบการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนที่มีการวิจัยและพัฒนาอยู่ในขั้นตอนการศึกษาในมนุษย์ โดยกำหนดให้มีมาตรการดำเนินการกรณีพบว่าผลการศึกษาในมนุษย์มีความเสี่ยงในการเกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของผู้เข้าร่วมการศึกษา ส่งเสริมให้มีระบบการคลังเพื่อการวิจัยและพัฒนา การประสานงาน การพัฒนาศักยภาพ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดหัวข้อและทิศทางในการวิจัย ให้เป็นไปตามความจำเป็นและความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นควรพัฒนากลไกการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานอกกรอบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะกรณีการวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่ถูกละเลย (neglected diseases) ซึ่งแนวโน้มการสนับสนุนการวิจัยด้านสุขภาพของโลก ควรสนับสนุนให้มีการจัดสรรทรัพยากรและนักวิจัยในด้านวิจัยและพัฒนาในทั้งสามกลุ่มโรค ไม่ควรเน้นเฉพาะกลุ่ม 1 และ 2 เท่านั้น (กลุ่ม 1 เป็นกลุ่มโรคที่พบในประเทศรวยและยากจน แต่ประเทศยากจนไม่สามารถเข้าถึงยาดังกล่าวได้เพราะมีราคาแพง เช่น DM, HT, CVD  กลุ่ม 2 เป็นกลุ่มโรคที่พบในประเทศรวยและยากจน แต่พบในประเทศยากจนมากกว่า เช่น HIV/AIDS, TB, Malaria  ส่วนกลุ่ม 3 เป็นกลุ่มโรคที่ส่วนใหญ่พบในประเทศยากจน มักเรียกกันว่าโรคที่ถูกละเลย เช่น African sleeping sickness)

          อย่างไรก็ตาม การวัดผลสำเร็จของการวิจัยและพัฒนาก็เป็นสิ่งสำคัญ การวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพในเรื่องเดียวกัน ควรมีการจัดสรรทรัพยากรร่วมกันและร่วมมือกันในการทำวิจัยเนื่องจากมีต้นทุนสูง และไม่ควรคำนึงถึงเพียงมิติใดเพียงมิติเดียว เนื่องจากสุขภาพเป็นผลจากหลายหลากมิติ (Health in all Policies) ดังนั้นการทำวิจัยแบบสหสาขาจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรสนับสนุนเนื่องจากบริบทโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ผลลัพธ์จากงานวิจัยสามารถสนองตอบได้อย่างทันสถานการณ์


ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์
รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร/ผู้จัดการงานวิจัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้