ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 75 คน
จำนวนดาวน์โหลด :22ครั้้ง
การบริหารจัดการกำลังคนของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กรณีถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้กลไกพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562
นักวิจัย :
เบญจวรรณ ถนอมชยธวัช , ศิริวรรณ ชูกำเนิด , นิรัชรา ลิลละฮ์กุล , เจษฎากร โนอินทร์ , รัถยานภิศ รัชตะวรรณ , บุญประจักษ์ จันทร์วิน , วัลลภา ดิษสระ , สายัณต์ แก้วบุญเรือง
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
28 กันยายน 2566

การศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารจัดการกำลังคนของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กรณีถ่ายโอนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยใช้กลไกพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การบริหารจัดการกำลังคน ความต้องการการบริหารจัดการกำลังคนและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการกำลังคน ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจให้ อปท. โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ เก็บข้อมูลในจังหวัดที่มีการถ่ายโอนไป อปท. (องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล) และจังหวัดที่มีการถ่ายโอนไปองค์กรปกครองส่วนจังหวัด (อบจ.) ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ ผู้บริหารองค์กร ทั้ง อบจ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพและบุคลากรด้านสุขภาพที่เป็นผู้ปฏิบัติใน สอน. และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอน รวมถึงผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้แทนจากภาคประชาชนที่ใช้บริการด้านสุขภาพ ผลการศึกษา พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกำลังคนด้านสุขภาพของ สอน. และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไป อปท. (อบต. และเทศบาล ) หลังการถ่ายโอน มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกที่ แต่ยังไม่เต็มกรอบอัตรากำลัง ภายหลังการถ่ายโอนมีการจัดรูปแบบบริการสุขภาพที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือกที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ที่ง่ายและสะดวกกว่าเดิม ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ มีช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว มีเครื่องมือที่ทันสมัย ลดค่าใช้จ่ายและมีความเป็นธรรม เป็นบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ผู้บริหารเปิดโอกาสให้สร้างนวัตกรรมของรูปแบบบริการด้านสุขภาพตามสภาพของปัญหาแต่ละพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจกำลังคนด้านสุขภาพของ สอน. และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไป อบจ. ในภาพรวมบุคลากรสายวิชาชีพ ถ่ายโอนไปไม่หมดและมีจำนวนอัตรากำลังน้อยกว่าเดิมก่อนถ่ายโอน ทำให้ขาดบุคลากรด้านวิชาชีพในการให้บริการสุขภาพ โดยเฉพาะ สอน. และ รพ.สต. ขนาดเล็กและขนาดกลาง นอกจากนี้ยังพบว่า สอน. และ รพ.สต. บางแห่งที่ถ่ายโอนภารกิจไปสู่ อบจ. แต่ไม่มีบุคลากรถ่ายโอน ข้อเสนอเชิงนโยบายของการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพต่อผู้เกี่ยวข้องในประเด็น ดังนี้ 1) กระทรวงสาธารณสุขควรมีบทบาท หน้าที่ในการสนับสนุนบุคลากรวิชาชีพที่จำเป็นให้แก่ สอน. และ รพ.สต. ให้มีจำนวนบุคลากรใกล้เคียงก่อนถ่ายโอนและสามารถให้การบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ ไม่เกิดภาวะการหยุดชะงักของการจัดบริการ สำหรับบุคลากรข้าราชการที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอนให้ช่วยราชการในหน่วยงานเดิมไปก่อนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานและจัดทำระบบข้อมูลด้านบุคลากรโดยให้มีการเชื่อมต่อกับระบบข้อมูลของ อปท. และรับผิดชอบในการควบคุมกำกับคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการ ตลอดจนการจัดทำหลักสูตรเพื่อการพัฒนาบุคลากรร่วมกับท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถของบุคลากรที่เป็นมาตรฐานการจัดบริการด้านสุขภาพ 2) กระทรวงสาธารณสุข ต้องถือเป็นวาระเร่งด่วนในการเตรียมการ เพื่อปรับโครงสร้างบทบาท ภารกิจและพัฒนาทักษะของบุคลากรในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพื่อให้ในอนาคตปรับบทบาทเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการประสานงาน พัฒนาคุณภาพมาตรฐานและกำกับหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามแนวนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้จัดตั้งกองปฐมภูมิซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ขึ้นมาโดยมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลกำกับงานด้านคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิทั่วประเทศและควรเร่งพัฒนาบุคลากร รวมถึงกลไก การกำกับ ติดตาม การประเมินผลการปฏิบัติงานของ สอน. และ รพ.สต. พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบ 3) กระทรวงสาธารณสุขควรร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เร่งจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานของ สอน. และ รพ.สต. ในสังกัด อปท. ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการดำเนินงานด้านสุขภาพปฐมภูมิของท้องถิ่นและเพื่อตอบสนองนโยบายด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาการดำเนินงานที่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ และการแยกส่วนการบริหารจัดการปฐมภูมิและทุติยภูมิรวมถึงระบบการส่งต่อ 4) คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ควรมีข้อกำหนดในการพิจารณาความพร้อมของ สอน. และ รพ.สต. ในการถ่ายโอนด้านบุคลากร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะ สอน. และ รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนได้ ควรมีบุคลากรประจำที่สมัครใจ ถ่ายโอนไปด้วยอย่างน้อยร้อยละ 70 และต้องมีบุคลากรสายวิชาชีพ ได้แก่ นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพที่พร้อมปฏิบัติงานให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน 5) สถ. เร่งศึกษาระเบียบ สิทธิต่างๆ ที่บุคลากรสายวิชาชีพเคยได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข และเร่งออกระเบียบข้อบังคับ เพื่อรองรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรที่ถ่ายโอน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยไม่แตกต่างจากเดิมตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ถ่ายโอนและสร้างความมั่นใจแก่บุคลากรที่ถ่ายโอนมายังสังกัดของท้องถิ่นโดยเฉพาะเรื่องของความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สิทธิและสวัสดิการที่จะได้รับตลอดจนจัดทำแนวปฏิบัติในการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ 6) สถ. และ อบจ. ต้องเร่งกำหนดรูปแบบศูนย์บริการปฐมภูมิ (Primary Care Unit, PCU) หรือเครือข่ายบริการปฐมภูมิ (Network Primary Care Unit, NPCU) ที่เหมาะสมอย่างชัดเจน ได้แก่ (1) กรอบอัตรากำลัง สายบังคับบัญชา เส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน ระบบสนับสนุนทรัพยากร (2) สายงานที่ควรมีใน PCU หรือ NPCU (3) จำนวนประชากรสูงสุดที่สามารถดูแลได้อย่างมีคุณภาพและกรอบโครงสร้างบุคลากรและสัดส่วนประชากรที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่ห่างไกลที่ทุรกันดาร 7) อบจ. ต้องจัดให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้บริการในศูนย์บริการปฐมภูมิและเครือข่ายบริการปฐมภูมิ เพื่อดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสมและต้องขยายเครือข่ายคลินิกหมอครอบครัวให้ครอบคลุมหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งที่ถ่ายโอน เพื่อเป็นการสร้างการเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพการบริการที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ภายใต้ต้นทุนที่ระบบสามารถจ่ายได้ ภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และ 8) อบจ. ควรเร่งรัดการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพ กำหนดยุทธศาสตร์ของระบบบริการ ตลอดจนสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองสาธารณสุข


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5930

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้