รวมรวมแสดงข่าวสารประชาสัมพันธ์ของสถานับที่น่าสนใจ
ความเป็นมาและความสำคัญ: ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy; HL) เป็นทักษะของบุคคลในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อตัดสินใจดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสุขภาวะของประชากร วัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพในระดับเขตสุขภาพและประเทศตามทักษะความรู้ด้านสุขภาพและบริบทที่จำเป็นต่อการมีสุขภาพที่ดีตลอดช่วงวัย 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและสังคมกับความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อระบุกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยง 3) สร้างความตระหนักแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเรื่องอิทธิพลของความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อความสำเร็จของการดำเนินงานสาธารณสุขในประเทศ วิธีการศึกษา: ใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย พ.ศ. 2566 (ครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นการสำรวจครัวเรือนด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบขั้นลำดับสามระดับ ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน พ.ศ. 2566 มีกลุ่มตัวอย่างรวม 17,780 ราย ด้วยเครื่องมือแบบสำรวจ HLS-TH-Q17 จำนวน 17 ข้อคำถาม ร่วมกับการทบทวนวรรณกรรมและการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติวิเคราะห์ และการจัดเวทีคืนข้อมูลเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้และการฝึกใช้ข้อมูลการสำรวจสำหรับวางแผนและพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ผลการศึกษา: ร้อยละ 80.9 ของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มี HL ที่เพียงพอ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละเขตสุขภาพ (ร้อยละ 59.4 ถึง 96.8) ประเด็น “ผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ” “การดูแลรักษากรณีฉุกเฉิน” และ “สุขภาพช่องปาก” เป็นประเด็นที่ได้คะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด (2.95-2.99 คะแนน จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน) ขณะที่ “การใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจ” เป็นทักษะ HL ของคนไทยที่ได้คะแนนค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด (3.03 คะแนน) ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและสังคมกับความรอบรู้ด้านสุขภาพนั้น พบว่ากลุ่มเสี่ยงของผู้ที่มี HL ไม่เพียงพอ ได้แก่ ผู้ที่มีข้อจำกัดของการเข้าถึงข้อมูลรวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ที่มีข้อจำกัดในการอ่าน ผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอหรือขัดสน ผู้ที่ไม่ได้เข้าเรียน ผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล มีการรายงานสถานะสุขภาพของตนเองว่าแย่-แย่มาก การมีความพิการหรือข้อจำกัดในการดำรงชีวิตด้านใดด้านหนึ่ง การมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโรคใดโรคหนึ่ง ผู้ที่ไม่ได้รับการจ้างงาน และผู้สูงอายุ สำหรับความตระหนักเรื่องอิทธิพลของความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อความสำเร็จของการดำเนินงานสาธารณสุขในประเทศนั้น พบว่า เจ้าหน้าที่จากกรมอนามัยทั้งจากส่วนกลางและจากศูนย์อนามัยที่ 1 – 12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 37 จังหวัด กรมต่าง ๆ จากกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวม 88 คน เข้าร่วมรับฟังแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูล และได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับเขตสุขภาพ (policy brief) จำนวน 13 ข้อเสนอด้วยกัน โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุในมิติของการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือ ด้วยการปรับรูปแบบ ช่องทาง และวิธีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อบุคคลมากขึ้น เช่น นักอาสารอบรู้ชุมชน อสม. เป็นต้น สรุปผลการศึกษา: ในปี พ.ศ. 2566 พบประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 80.9 มี HL ที่เพียงพอ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านประชากร เศรษฐกิจสังคม และด้านสุขภาพ สัมพันธ์กับระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ และการคืนข้อมูลให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและฝึกการใช้ข้อมูลการสำรวจฯ ช่วยให้เกิดความตระหนัก อีกทั้งเจ้าหน้าที่สามารถนำผลการศึกษาไปพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ตนเองมากขึ้น ข้อเสนอแนะ: 1) พัฒนานโยบายและมาตรการส่งเสริม HL แบบบูรณาการ โดยเน้นกลุ่มเสี่ยง 2) ปรับปรุงระบบข้อมูลสุขภาพให้เข้าถึงง่ายและเข้าใจง่าย 3) สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา HL 4) เพิ่มการให้ความรู้และทักษะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ การดูแลรักษากรณีฉุกเฉิน และสุขภาพช่องปาก 5) พัฒนาโปรแกรมเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มี HL ต่ำ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้