รวมรวมแสดงข่าวสารประชาสัมพันธ์ของสถานับที่น่าสนใจ
การวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods) โดยใช้กระบวนการถอดบทเรียน (Retrospective Study) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์ ถอดบทเรียน ศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการจัดการสุขภาพชุมชน 2. ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัย ศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชน และ 3. เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การพัฒนาศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชน หลังการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกตามเกณฑ์จังหวัดที่มีการถ่ายโอนภารกิจของ รพ.สต ขึ้นทะเบียนกับ อบจ. แบบ Purposive Sampling จำนวน 20 รพ.สต. ของ 10 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ดำเนินการวิจัยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566-มกราคม พ.ศ. 2567 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยตรงกับกลุ่มตัวอย่าง อสม. และประชาชน ใช้แบบสอบถาม อสม. จำนวน 482 คน และประชาชน จำนวน 480 คน สนทนากลุ่ม และสัมภาษณ์จากตัวแทน อสม. ประชาชน ผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับเขตสุขภาพ จังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 1,530 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน และใช้สถิติ KR 20 วิเคราะห์ค่าคะแนนความรู้ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ และเปรียบเทียบความแตกต่างของปัจจัยศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชนใช้สถิติ Wilcoxon Signed Rank Test, Chi-Square และ Fisher’s Exact Test วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชนด้วยสถิติ Multiple Logistic Regression การวิเคราะห์ข้อมูล การสัมภาษณ์เจาะลึกสนทนากลุ่มใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และสังเคราะห์ข้อสรุปในประเด็นสำคัญ ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง อสม. จำนวน 482 คน ส่วนใหญ่เพศหญิง ร้อยละ 81.95 อายุระหว่าง 50-59 ปี จบมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 39.21 ระยะเวลาการเป็น อสม. เฉลี่ย 16.38 ± 9.64 ปี (ส่วนใหญ่มากกว่า 20 ปี ร้อยละ 34.85) และร้อยละ 87.34 เคยมีประสบการณ์ผ่านการอบรมมาก่อน กลุ่มตัวอย่างประชาชน จำนวน 476 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 63.75 จบประถมศึกษา ร้อยละ 40.21 อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 27.71 ด้านศักยภาพของ อสม. ประกอบด้วย ความรู้ เจตคติ และทักษะพฤติกรรมการจัดการสุขภาพชุมชน 5 ด้าน คือ ด้านการจัดทำแผนด้านสุขภาพ ด้านการเป็นผู้นำ และการจัดการงบประมาณ ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรคในชุมชน ด้านการประเมินผลการจัดการสุขภาพชุมชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อจัดการสุขภาพชุมชน พบว่า อสม. ส่วนใหญ่มีค่าคะแนนความรู้ในระดับสูงคิดเป็น ร้อยละ 96.89 อสม. และประชาชน มีเจตคติต่อการจัดการสุขภาพชุมชนของ อสม. ในระดับสูง (Mean 4.37, SD = 0.49 และ Mean 4.20, SD = 0.49) อสม. และประชาชน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะพฤติกรรมปฏิบัติการจัดการสุขภาพชุมชนของ อสม. ในระดับสูง (Mean 4.31, SD = 0.50 และ Mean 4.28, SD = 0.60) เปรียบเทียบความคิดเห็นของ อสม. ต่อศักยภาพการจัดการสุขภาพชุมชนของ อสม. ก่อน และหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. แตกต่างกัน หลังถ่ายโอนฯ ลดลงทุกด้าน พบแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรคในชุมชน (p-value = 0.019) เช่นเดียวกับความคิดเห็นของประชาชน (p-value = 0.015) อสม. และประชาชนมีความคิดเห็นด้านการมีส่วนร่วมของ อสม. กับการจัดการสุขภาพชุมชนอยู่ในระดับสูง (Mean 4.27, SD = 0.57 และ Mean 4.11, SD = 0.58) พบว่า ภาพรวมหลังถ่ายโอนฯ ลดลงแตกต่างกับก่อนถ่ายโอนฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.038) อสม. และประชาชนมีความคิดเห็นด้านความสามารถของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชนอยู่ในระดับสูง (Mean 4.17, SD = 0.58 และ Mean 4.08, SD = 0.61) พบค่าเฉลี่ยสูงสุดด้านการติดตามประเมินผล (Mean 4.30, SD = 0.66 และ Mean 4.22, SD = 0.69) ค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ความสามารถด้านการจัดการสุขภาพตนเอง (Mean 4.12, SD = 0.69 และ Mean 4.00, SD = 0.71) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชนที่อยู่ในระดับสูง วิเคราะห์ด้วยสถิติ Multiple Logistic Regression พบว่า มี 5 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชนในระดับสูง (p < 0.001) คือ 1) ศักยภาพด้านทักษะ พฤติกรรมปฏิบัติการจัดการสุขภาพชุมชนของ อสม. 2) ด้านการมีส่วนร่วมของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชน 3) กลุ่มอายุของ อสม. 4) ระยะเวลาที่เป็น อสม. และ 5) อาชีพ การเสริมหนุนศักยภาพ อสม. เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเป็น Smart อสม. ในระยะยาว อสม. ควรมีสมรรถนะ เพื่อก้าวข้ามจากข้อจำกัดของ อสม. ในด้านปัจจัยส่วนบุคคล พัฒนาทักษะ และการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพชุมชน ข้อเสนอเชิงนโยบาย (ระยะเปลี่ยนผ่าน) 1) คณะอนุกรรมการกระจายอำนาจ ควรจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนบทบาทของเครือข่ายภาคประชาชนให้มีความชัดเจน 2) กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพ อสม. มีสมรรถนะอย่างต่อเนื่อง ให้ชัดเจนในบริบทใหม่ หลัง รพ.สต.ถ่ายโอนฯ สนับสนุนให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ปรับบทบาทมาเป็นหน่วยสนับสนุน ส่งเสริม ฝึกอบรมด้านวิชาการให้กับ อสม. ทบทวนหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ วิธีการคัดเลือก การสิ้นสุดสภาพ และการยกระดับมาตรฐาน อสม. 3) คณะกรรมการกลาง และคณะกรรมการจังหวัด ร่วมกันกำหนดหลักสูตร และประเมินมาตรฐานของ อสม. ให้มีความชัดเจน พิจารณาให้ สาธารณสุขอำเภอมาเป็นผู้รับผิดชอบสนับสนุนการทำงาน อสม. เป็น “สำนักงานฝึกอบรม และพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” ส่งเสริมการทำงานแบบบูรณาการของกระทรวงสาธารณสุข และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคประชาชน 4) กระทรวงมหาดไทย โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พัฒนาระบบ และกลไกการบริหารภารกิจด้านสาธารณสุข พัฒนาโครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง อสม. กับผู้บริหาร อบจ. โดยใช้กลไก คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) สร้างความร่วมมือกับภาคีสุขภาพ ทีมพี่เลี้ยงกับทีมสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพต่อเนื่องมีทิศทางชัดเจน ซึ่ง อสม. เน้นการทำงานในบทบาทด้านสาธารณสุขตามมาตรฐานที่กำหนด และ 5) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบสารสนเทศด้านสาธารณสุขมูลฐาน การรายงานผลการทำงานของ อสม. ที่เหมาะสมกับบริบท เชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการนำข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการบริการ บริหารกำลังคน ทรัพยากร ภายใต้ฐานข้อมูลเดียวกันไม่ซ้ำซ้อน
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้