รวมรวมแสดงข่าวสารประชาสัมพันธ์ของสถานับที่น่าสนใจ
ภูมิหลังและเหตุผล การประเมินสมรรถนะระบบสุขภาพของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565-2566 เทียบกับต่างประเทศในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์ด้านสุขภาพของประเทศไทยเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) และกลุ่มประเทศอาเซียน วิเคราะห์และสังเคราะห์ความเชื่อมโยงค่าใช้จ่ายสุขภาพและตัวชี้วัด และนำมาจัดลำดับความสำคัญของตัวชี้วัดสุขภาพที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาจากตัวชี้วัดด้านสุขภาพของกลุ่มประเทศ OECD จำนวน 193 ตัวชี้วัด เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนและพัฒนาสมรรถนะของระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ยั่งยืนและมีมาตรฐานในระดับสากล ระเบียบวิธีศึกษา เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed methods) ในการวิเคราะห์เชิงประมาณและคุณภาพของผลลัพธ์ระบบสุขภาพ รวมถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของค่าใช้จ่ายสุขภาพกับตัวชี้วัดที่สำคัญ จากข้อมูลตัวชี้วัดของประเทศไทย เปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD และประเทศในอาเซียน และใช้เทคนิค modified Delphi surveys โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญออนไลน์แบบไม่เปิดเผยตัวตน 2 รอบ เพื่อนำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มตัวชี้วัดและการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบาย ผลการศึกษา ประเทศไทยมีข้อมูลตัวชี้วัดจำนวน 158 ตัวชี้วัด ไม่มีข้อมูล 35 ตัวชี้วัด โดยสามารถเปรียบเทียบตัวชี้วัดของไทยกับกลุ่มประเทศ OECD ได้จำนวน 112 ตัวชี้วัด เปรียบเทียบไม่ได้ 46 ตัวชี้วัด เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดที่แสดงแนวโน้ม สัดส่วน หรือเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ มีข้อค้นพบที่สำคัญคือ 1) ผลการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดลำดับความสำคัญของตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนาจำแนกรายมิติ พบว่า ตัวชี้วัดที่เป็นประเด็นความท้าทายของระบบสาธารณสุขของไทยซึ่งมีสถานะการดำเนินงานที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD มีจำนวน 51 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนาเนื่องจากระบบสาธารณสุของประเทศไทยมีสถานะที่แย่กว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD จำนวน 61 ตัวชี้วัด โดยจำแนกเป็น 5 มิติ คือ (1) มิติสถานะสุขภาพ ตัวชี้วัดที่เป็นประเด็นท้าทาย 17 ตัวชี้วัด ต้องเร่งพัฒนา 8 ตัวชี้วัด ตัวชี้วัด 3 อันดับแรกที่ต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ อัตราส่วนการเสียชีวิตมารดา อัตราการเสียชีวิตของทารก และความชุกของโรคเบาหวาน ประเภทที่ 1 และ 2 ในผู้ใหญ่ (2) มิติปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ตัวชี้วัดที่เป็นประเด็นที่ท้าทาย 12 ตัวชี้วัด ต้องเร่งพัฒนาจำนวน 7 ตัวชี้วัด ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ อัตราการคลอดก่อนกำหนด การสูบบุหรี่ในเด็กอายุ 13-15 ปี จำแนกตามเพศ และ อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป จำแนกตามเพศ (3) มิติการเข้าถึงบริการตัวชี้วัดที่เป็นประเด็นท้าทาย 2 ตัวชี้วัด ต้องเร่งพัฒนา 12 ตัวชี้วัด ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1,000 คน จำแนกตามสภาพภูมิศาสตร์ สัดส่วนรายจ่ายครัวเรือนด้านสุขภาพ และอัตราการรอผ่าตัดต้อกระจกนานกว่า 3 เดือน (4) มิติคุณภาพการดูแลผู้ป่วย ตัวชี้วัดที่เป็นประเด็นท้าทาย 11 ตัวชี้วัด ต้องเร่งพัฒนา 16 ตัวชี้วัด ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคชีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สัดส่วนของการดื้อต่อยาต้านจุลชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในการดูแลระยะยาว และอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยในที่เป็นผู้ป่วยโรคจิตเวช (5) มิติทรัพยากรสุขภาพ ตัวชี้วัดที่เป็นประเด็นท้าทาย 9 ตัวชี้วัด ต้องเร่งพัฒนา 18 ตัวชี้วัด ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ จำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤต การผลิตบัณฑิตพยาบาล และจำนวนพยาบาลต่อประชากร 1,000 คน 2) ผลการจัดลำดับความสำคัญของตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนาทั้ง 61 ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดที่ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนความสำคัญสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤต รองลงมาคือ การผลิตบัณฑิตพยาบาล ส่วนอันดับ 3 ซึ่งมีความสำคัญในระดับเดียวกัน คือ อัตราส่วนการเสียชีวิตมารดา อัตราการเกิดสิ่งแปลกปลอมตกค้างระหว่างการผ่าตัด และจำนวนพยาบาลต่อประชากร 1,000 คน อันดับ 4 คือ ร้อยละของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และอันดับ 5 มี 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ สัดส่วนของการดื้อต่อยาต้านจุลชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในการดูแลระยะยาว รายจ่ายรัฐบาลด้านสุขภาพต่อรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด และจำนวนแพทย์ต่อประชากร 1,000 คน 3) ผลการศึกษาความสัมพันธ์ค่าใช้จ่ายสุขภาพและตัวชี้วัด พบว่า ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวประชากรต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีรายได้น้อยจะมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพแย่กว่าประเทศของกลุ่ม OECD ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนในมิติการเข้าถึง และคุณภาพการดูแล ความครอบคลุมของชุดบริการสุขภาพหลัก สามารถทำได้ดีแม้จะมีระดับการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ค่อนข้างต่ำ โดยไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวประชากรอยู่ที่ 25,472 บาท (S$730.5 ปรับค่า Purchasing power parity) น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD แต่ประชากรไทยยังได้รับสิทธิบริการสุขภาพหลักอย่างทั่วถึง 4) ผลการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนและพัฒนาสมรรถนะของระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ยั่งยืน จำแนกเป็นข้อเสนอในการจัดการพัฒนาผลลัพธ์ระบบสุขภาพ 5 มิติ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ควรมีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ พัฒนาระบบการบริการโดยเฉพาะระบบปฐมภูมิ ปรับการบริการทางการแพทย์สู่ Community base และวางแผนบริหารจัดการและกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง และจัดทำแผนการพัฒนาเพื่อบรรลุผลลัพธ์สุขภาพตามเป้าหมาย OECD ในเรื่องของการจัดการเตียงผู้ป่วยวิกฤติ และการผลิตพยาบาล ข้อยุติ การวิเคราะห์สมรรถนะของระบบสุขภาพและมิติผลลัพธ์สุขภาพ 5 มิติ พบว่า สมรรถนะของระบบสุขภาพของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น และอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาผลลัพธ์สุขภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดคุณภาพและผลลัพธ์สุขภาพที่ดีสำหรับประชาชน
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้