ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 1036 คน
จำนวนดาวน์โหลด :24ครั้้ง
รูปแบบการบริการสุขภาพของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยใช้กลไกพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562
นักวิจัย :
รัถยานภิศ รัชตะวรรณ , เบญจวรรณ ถนอมชยธวัช , รุ่งนภา จันทรา , บุญประจักษ์ จันทร์วิน , วัลลภา ดิษสระ , ปิยะพร พรหมแก้ว , มลิวัลย์ รัตยา , อัญชนา วิชช์วัฒนางกูร , วิลาสินี แผ้วชนะ , จีรภา แก้วเขียว , ชนัดดา อนุพัฒน์
ปีพิมพ์ :
2565
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
15 กุมภาพันธ์ 2566

ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นการจัดกลไกและกระบวนการในการประสานความร่วมมือเพื่อจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 การบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เป็นภารกิจใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏในอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมาก่อน ทำให้มีโอกาสพบอุปสรรคในการบริหารจัดการที่ส่งผลกระทบต่อการบริการสุขภาพแก่ประชาชน การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษารูปแบบการให้บริการสุขภาพของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยใช้กลไกพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิของ สอน. และ รพ.สต. ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ 3) เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรูปแบบการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และรพ.สต. ให้แก่ อบจ. โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของ สอน. และ รพ.สต. หลังถ่ายโอน ให้ อบจ. เน้นการให้บริการ 5 มิติ คือ การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การส่งเสริมสุขภาพ การบำบัดและป้องกันควบคุมโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยการใช้แนวคิดคลินิกหมอครอบครัวในการบริการแบบไร้รอยต่อตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิหลังการถ่ายโอนให้แก่ อบจ. ควรได้รับการหนุนเสริมภายใต้กลไกของ พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิและ พ.ร.บ. วิชาชีพของคณะผู้ให้บริการปฐมภูมิ โดยมีการอภิบาลระบบสุขภาพที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการบริการสุขภาพให้เป็นเครือข่ายมากกว่าการควบคุม กำกับ ติดตาม แต่เน้นการบริหารจัดการเครือข่ายนโยบายในระดับต่างกัน 4 ระดับ คือ 1) ระดับกระทรวง 2) ระดับกรม 3) ระดับเขตบริการสุขภาพ จังหวัด อำเภอ และ 4) ระดับตำบล ให้สามารถทำงานเชิงบูรณาการ เพื่อตอบโจทย์สุขภาพทั้งระดับพื้นที่ อำเภอ จังหวัด ภูมิภาคและระดับประเทศ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการบริหารและจัดการระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของ สอน. และ รพ.สต. หลังการถ่ายโอนให้ อบจ. ภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย การถ่ายทอดนโยบาย เป้าหมายและทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศสู่การปฏิบัติ ร่วมกับมาตรการควบคุม ประเมินผลและการกระตุ้นเสริมให้มีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับการหนุนเสริมให้การบริการสุขภาพมีความเชื่อมโยงในการตอบสนองนโยบายการพัฒนาสุขภาพในแต่ละระดับและภาพรวมของประเทศ ข้อเสนอเชิงนโยบายหลักด้านการบริการสุขภาพปฐมภูมิในระยะเปลี่ยนผ่านภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ 1) กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นเจ้าภาพหลักกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านระบบการแพทย์ปฐมภูมิให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและนำหลักเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) มาเป็นแนวคิดหลักเสริมจากระบบบริการปฐมภูมิเดิม 2) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกกำลังในการสร้างและสังเคราะห์องค์ความรู้สู่การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และสร้างระบบ กลไกนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม 3) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยงานยุทธศาสตร์ งานปฐมภูมิและงานคุณภาพระบบบริการปฐมภูมิ อบจ. และคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) นำองค์ความรู้ที่ได้จากหน่วยงานระดับกรมมาสร้างระบบและกลไกการเรียนรู้สู่การปฏิบัติของ สอน. และรพ.สต. และออกแบบระบบกำกับติดตามการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ อย่างต่อเนื่อง 4) โรงพยาบาลแม่ข่ายประสานความร่วมมือให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือรวมถึงคณะผู้ให้บริการปฐมภูมิปฏิบัติงานใน สอน. หรือ รพ.สต. ถ่ายโอน 5) สอน. และ รพ.สต. ทั้งที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและ อบจ. รับถ่ายทอดระบบและกลไกการเรียนรู้ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิจาก สสจ. และ อบจ. มาดำเนินการสังเคราะห์สู่แนวทางการปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบท รวมถึงออกแบบกลไกการกำกับติดตามการบริการสุขภาพปฐมภูมิ 6) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการประสานความร่วมมือเชิงนโยบายและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดด้านสุขภาพ กับ อบจ. ให้ครอบคลุมผลการดำเนินการเชิงนโยบายของประเทศและปัญหาของพื้นที่ 7) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ควรวิเคราะห์และออกแบบ Web Application Programing ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในการอภิบาลระบบสุขภาพ 8) อบจ. และ สสจ. ทำข้อตกลงในสัดส่วนที่เหมาะสมของเงิน OP ระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและแม่ข่ายคู่สัญญาหลัก 9) กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายการบูรณาการทรัพยากรในการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิและติดตาม ดูแลการดำเนินการของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมทั้งประสานให้เกิดเครือข่ายบริการรับส่งต่อกับหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย หน่วยบริการปฐมภูมิอื่นในพื้นที่นั้นหรือพื้นที่อื่นให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ระยะสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ 1) กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายในการพัฒนาคุณภาพสถานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศให้ได้เกณฑ์มาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพบริการที่มอบให้ประชาชนที่ไม่แตกต่างกันและให้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของการอภิบาลระบบสุขภาพ 2) คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิกำหนดระบบและกลไกการพัฒนามาตรฐานปฐมภูมิให้เป็นไปตามมาตราที่ 24 (1) (2) (3) และ (7) ระยะการพัฒนาอย่างยั่งยืน 1) คณะรัฐมนตรีควรแต่งตั้งคณะกรรมการอภิบาลระบบสุขภาพที่มีความเข้าใจระบบสุขภาพของประเทศเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณา กำกับติดตาม ตรวจสอบและสั่งการหน่วยงานทางสุขภาพในการทบทวนการดำเนินการและการบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับนโยบายสุขภาพของประเทศพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2) สอน. และ รพ.สต. ถ่ายโอนให้แก่ อบจ. สร้างแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายระบบสุขภาพในพื้นที่ร่วมจัดบริการสุขภาพและการติดตามประเมินผลให้ได้มาตรฐานตาม พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และสอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดในระดับจังหวัดและอำเภอ


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5821

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้