รวมรวมแสดงข่าวสารประชาสัมพันธ์ของสถานับที่น่าสนใจ
รายงานฉบับนี้เป็นผลของการทบทวน สังเคราะห์และจัดการองค์ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมกัญชา และผลกระทบของการออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ (Recreational Cannabis Legalization) ในต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาด้านนโยบายที่อิงหลักฐานวิชาการ การพัฒนาด้านวิชาการและวิจัยต่อไปในประเทศไทย โดยตอบคำถามสำคัญ 5 ข้อ ดังนี้ 1. รูปแบบของการควบคุมกัญชาในประเทศต่างๆ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร 2. รูปแบบทางเลือกและข้อควรคำนึงในการออกแบบมาตรการควบคุมกัญชามีอะไรบ้าง 3. ผลกระทบของการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการภายใต้อนุสัญญาควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง 4. ผลกระทบของการอนุญาตจำหน่ายหรือจัดหากัญชาเพื่อใช้แบบนันทนาการในประเทศที่มีนโยบายแบบนี้เป็นอย่างไร และ 5. ข้อเสนอแนะด้านวิชาการและวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังและประเมินผลกระทบของนโยบายด้านกัญชาในประเทศไทยควรเป็นอย่างไร วิธีการศึกษา เนื่องจากเป็นการจัดทำรายงานการทบทวนองค์ความรู้ในระยะเวลาจำกัดมาก (เพียงสี่เดือนเท่านั้น) ผู้รายงานจึงเริ่มจากการค้นหารายงานการศึกษาแบบการทบทวนแบบเป็นระบบ (Systematic Review) ที่ตีพิมพ์ล่าสุดก่อน แล้วจึงค้นหารายงานการศึกษาที่เป็นนิพนธ์ต้นฉบับ (Original Paper) มาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยในประเด็นนั้นๆ โดยใช้ PubMed เป็นฐานข้อมูลหลักในการค้นหารายงานวิจัยตีพิมพ์ ร่วมกับ Google เพื่อเพิ่มเติมในบางส่วน โดยให้ความสำคัญกับรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารที่มีการประเมินคุณภาพ (Peer-Reviewed Articles) มากกว่ารายงานหรือเอกสารที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และผู้รายงานได้พยายามประเมินเพื่อคัดเลือกการศึกษาที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ดี มีการสุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมเพื่อเป็นตัวแทนของประชากรระดับรัฐหรือประเทศ และมีกลุ่มเปรียบเทียบ เช่น การเทียบระหว่างรัฐที่มีกับไม่มีกฎหมายกัญชา หรือระหว่างก่อนและหลังการออกกฎหมายกัญชา เช่น งานวิจัยแบบ Quasi-Experimental หรืองานที่ใช้ Interrupted Time-Series Analysis เป็นต้น ผลการศึกษามาตรการในการควบคุมกัญชาตามกฎหมาย แบ่งออกได้เป็น 5 รูปแบบ ได้แก่ 1. การกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย การใช้จำหน่าย ครอบครองกัญชาถือว่ามีความผิดทั้งหมด ต้องได้รับโทษทางอาญา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ในประเทศส่วนใหญ่ในโลก โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศอัฟกานิสถาน บาห์เรน บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อิรัก มาเลเซีย 2. การกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย แต่ลดทอนความเป็นอาชญากรรมของกัญชา (Decriminalization) เช่น กำหนดให้ผู้เสพกัญชาถูกปรับ ไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่ผู้จำหน่ายกัญชายังต้องรับโทษทางอาญา ประเทศทางยุโรปบางส่วนอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น ประเทศเบลีซ โบลิเวีย โดมินิกา มอลโดวา ปารากวัย เซนต์ลูเซีย 3. การกำหนดให้กัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ เช่น ประเทศเลบานอน ลิทัวเนีย นิวซีแลนด์ มาซิโดเนียเหนือ นอร์เวย์ 4. การกำหนดให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด แต่มีการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดอย่างเข้มงวด เช่น จำกัดจำนวนการครอบครอง การห้ามจำหน่ายให้เยาวชน การห้ามโฆษณา การห้ามขับขี่ยานพาหนะหากเสพกัญชาและการใช้มาตรการทางภาษีกัญชา ฯลฯ เช่น ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา (บางรัฐ) และประเทศอุรุกวัย และ 5. การกำหนดให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดและปล่อยให้เกิดกลไกการตลาดแข่งขันเสรี ปลูก จำหน่ายโฆษณาได้หรือค่อนข้างเสรี ณ ปัจจุบันมี 47 ประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชา เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ 38 ประเทศที่มีการลดทอนโทษอาญาของการครอบครองและใช้กัญชา นอกจากนั้นรายงานฉบับนี้ได้สรุปรูปแบบทางเลือกในการออกแบบมาตรการลดการควบคุมกัญชา การควบคุมกัญชาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ผลกระทบของการออกนโยบายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการต่อสุขภาพและสังคม ประกอบด้วย ผลกระทบทางสุขภาพและสาธารณสุข ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ และข้อเสนอแนะต่อโอกาสพัฒนาสำหรับประเทศไทย
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้