ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 40 คน
การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในจังหวัดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
นักวิจัย :
ไพรัตน์ อ้นอินทร์ , ปิยะ ศิริลักษณ์ , ศิริเกษม ศิริลักษณ์ , จุฬาภรณ์ ตั้งภักดี , สุรชาติ สิทธิปกรณ์ , วิราวรรณ คล้ายหิรัญ , ยุทธนา แยบคาย , สีใส ยี่สุ่นแสง ,
ปีพิมพ์ :
2568
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
6 มิถุนายน 2568

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพัฒนา (Research and Development) โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ 2) พัฒนาระบบและจัดทำข้อเสนอแนะที่ครอบคลุมประเด็นการปรับปรุงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความเชื่อมโยงการปฏิบัติงานของ อบจ. และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนฯ กับหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในภาวะปกติและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2567 กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) จังหวัดที่ รพ.สต. ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ครบร้อยละ 100 ได้แก่ ขอนแก่น ปราจีนบุรี และสุพรรณบุรี 2) จังหวัดที่มีอย่างน้อย 1 อำเภอที่ รพ.สต. ทุกแห่งถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ได้แก่ สกลนคร มหาสารคาม ลำพูน และอุตรดิตถ์ 3) จังหวัดที่มี รพ.สต. บางแห่งถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. แต่ไม่มีอำเภอใดที่มี รพ.สต. ถ่ายโอนครบร้อยละ 100 ได้แก่ นครปฐม สุโขทัย นครพนม และประจวบคีรีขันธ์ และ 4) จังหวัดที่ยังไม่มี รพ.สต. ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ได้แก่ อุดรธานี พังงา และพระนครศรีอยุธยา การวิจัยใช้แนวคิด 6BB+1 (Six Building Blocks plus one) จำนวน 7 ด้าน เป็นกรอบในการระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) การศึกษาสถานการณ์และปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบเฝ้าระวังฯ โดยใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม 2) การสร้างระบบเฝ้าระวังฯ โดยจัดเวทีสนทนากลุ่มตามแนวคิดกระบวนการ A.I.C และ 3) การประเมินรูปแบบระบบเฝ้าระวังฯ โดยการจัดสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ มีข้อค้นพบจากการวิจัย ดังนี้ สถานการณ์และสภาพปัญหากลไกที่เกี่ยวข้องกับระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ด้านการอภิบาลระบบ พบข้อจำกัดด้านการประสานงานระหว่างหน่วยงาน โดยกลุ่มจังหวัดที่ รพ.สต. ทุกแห่งถ่ายโอนฯ มีความไม่เชื่อมโยงระหว่าง รพ.สต. กับสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) กฎระเบียบท้องถิ่นไม่รองรับการทำงานบางประการ ส่วนกลุ่มที่ รพ.สต. บางส่วนถ่ายโอนฯ มีข้อจำกัดทางกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการใช้งบประมาณ และขาดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ด้านระบบบริการและปฏิบัติการ ทุกกลุ่มจังหวัดมีข้อจำกัดเรื่องกลไกการทำงานร่วมกันและระบบรายงาน ระบบรายงานเฝ้าระวังโรคในรูปแบบดิจิทัล (Digital 506 ; D506) ถูกจำกัดเฉพาะในโรงพยาบาล ไม่ครอบคลุม รพ.สต. ที่ถ่ายโอนฯ และพบว่า อบจ. ยังขาดความพร้อมในการรับโอนภารกิจเฝ้าระวังโรค ด้านระบบกำลังคน ทุกกลุ่มจังหวัดมีข้อจำกัดด้านความเพียงพอของบุคลากรและความเชี่ยวชาญ กองสาธารณสุข อบจ. มีบุคลากรไม่เพียงพอและขาดบุคลากรด้านควบคุมโรค บุคลากร รพ.สต. ขาดการพัฒนาทางวิชาการ ด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ พบว่ามีปัญหาการเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูล ขาดการสื่อสารข้อมูลเชิงระบาดจากศูนย์ระบาดวิทยาอำเภอ บุคลากรไม่สามารถเชื่อมต่อระบบ D506 ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดต่อไม่ครบถ้วน ด้านระบบการเงินการคลัง มีปัญหาเรื่องระเบียบและขั้นตอนทางการเงิน ขั้นตอนการขออนุมัติงบประมาณใช้เวลานาน บุคลากรไม่กล้าใช้งบประมาณเนื่องจากกังวลเรื่องการตรวจสอบ ด้านการเข้าถึงยาและเทคโนโลยี มีปัญหาด้านการจัดหาและกระจายวัคซีน วัคซีนไม่เพียงพอ ต้องรอการจัดสรรจากโรงพยาบาล การจัดซื้อวัสดุควบคุมโรคมีความล่าช้า และด้านระบบสุขภาพชุมชน (Community Health System) มีความท้าทายในการขับเคลื่อนงานสุขภาพชุมชนและประสานเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยังคงอยู่ในระบบกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เกิดความไม่คล่องตัว และมีความซ้ำซ้อนในการมอบหมายงาน ผลการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตามแนวคิด 6BB+1 มีแนวทางขับเคลื่อนโดยมาตรการ ดังนี้ การอภิบาลระบบ มุ่งเน้นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการร่วมกัน ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกำหนดระบบการสั่งการและกำกับติดตามที่ชัดเจน ด้านระบบบริการและปฏิบัติการ ยังคงใช้มาตรฐานด้านกฎหมาย องค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดทำ Flow chart แสดงขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน และพัฒนาทีมปฏิบัติการระดับพื้นที่ ด้านระบบกำลังคนมุ่งเน้นการสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านควบคุมโรคและพัฒนาศักยภาพบุคลากรร่วมกันระหว่าง อบจ. และ สสจ. โดยไม่แบ่งแยกสังกัด ด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบข้อมูลโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกันทั้งจังหวัด ใช้ระบบ D506 และสร้างความเข้าใจในการรายงานข้อมูล ด้านระบบการเงินการคลังมุ่งเน้นการวางแผนการใช้งบประมาณร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน จัดทำคู่มือแนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณที่ชัดเจน และบูรณาการงบประมาณร่วมกัน ด้านการเข้าถึงยาและเทคโนโลยี มุ่งเน้นการควบคุมมาตรฐานยาและวัคซีน จัดตั้งหน่วยประสานงานระดับอำเภอให้เบิกวัคซีนพื้นฐานจากโรงพยาบาลชุมชน และจัดทำแนวทางการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ตามระเบียบ และด้านระบบสุขภาพชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน พัฒนาภาคีเครือข่ายในชุมชน จัดตั้งทีม SRRT ระดับตำบลที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน และพัฒนาศักยภาพ อสม. ผลการประเมินรูปแบบการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินของจังหวัดที่ รพ.สต. ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. จากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ทั้งในด้านความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์ ความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุม อยู่ในระดับมากทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมและสามารถนำไปใช้ได้จริง จากการวิจัย มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับกลุ่มจังหวัดที่มี รพ.สต. ถ่ายโอน และกลุ่มจังหวัดที่ยังไม่มี รพ.สต. ถ่ายโอนฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อเสนอเตรียมความพร้อม มีประเด็นสำคัญ สำหรับจังหวัดที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสังกัด อบจ. ควรดำเนินการดังนี้ 1) บูรณาการแผนการควบคุมโรคติดต่อระหว่างหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น และพัฒนาระบบกำกับติดตามการดำเนินงานโดยจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม 2) พัฒนาฐานข้อมูลโรคติดต่อที่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน 3) เร่งรัดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยหลักสูตรมาตรฐาน 4) วางแผนการเตรียมงบประมาณและบูรณาการร่วมกันระหว่าง สสจ. กับ อบจ. 5) จัดทำแนวปฏิบัติมาตรฐาน (SOP) และแผนผังการทำงาน (Flow chart) ที่ชัดเจน 6) ส่งเสริมการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ก่อนนำมาใช้ และ 7) สร้างเครือข่ายสุขภาพชุมชนที่มีประสิทธิภาพ สำหรับจังหวัดที่ยังไม่มีการถ่ายโอน ควรดำเนินการ ดังนี้ 1) ประเมินความพร้อมของ อบจ. ด้านการควบคุมโรคติดต่อก่อนรับถ่ายโอน 2) ประเมิน รพ.สต. ก่อนยื่นความประสงค์ถ่ายโอน และ 3) ปรับบทบาท สสจ. และ สสอ. เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6265

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้