งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
ที่มาและความสำคัญ: การขยายตัวของความเป็นเมืองในประเทศไทยก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน โดยเฉพาะในประเด็นสุขภาวะเขตเมืองที่ซับซ้อนและแตกต่างจากบริบทชนบท ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 กำหนดทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเมืองที่มุ่งสู่ "ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม" ครอบคลุมการเข้าถึงบริการสำหรับกลุ่มเปราะบาง การพัฒนาระบบที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ และนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม แต่ยังขาดชุดตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพในการติดตามความก้าวหน้า ระเบียบวิธีดำเนินการวิจัย: การศึกษาใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสานเชิงสำรวจ ใช้ RAND/UCLA Appropriateness Method สร้างฉันทามติและพัฒนาชุดตัวชี้วัด มีกรอบการประเมินสามมิติ ได้แก่ พลังสะท้อนสังคม การติดตามขับเคลื่อน และทิศทางร่วมชัดเจน วิเคราะห์แบบคู่ขนาน แบ่งพื้นที่เป็นความเป็นเมืองสูง 26 จังหวัด และพื้นที่กำลังพัฒนาเป็นเมือง พร้อมวิเคราะห์ระดับอำเภอด้วยความหนาแน่นประชากร สะท้อนหลักการที่ว่า การกระจายความเจริญต้องเริ่มที่การเห็นปัญหาและโอกาสในพื้นที่ ผลการวิจัย: พบช่องว่างสำคัญระหว่างพื้นที่ความเป็นเมืองสูงกับพื้นที่กำลังพัฒนาเป็นเมือง (1) อนามัยแม่และเด็กในวัยรุ่น พื้นที่ความเป็นเมืองสูงมีการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ร้อยละ 15.15 เทียบกับ ร้อยละ 13.4 ในพื้นที่กำลังพัฒนา (2) การได้รับวัคซีนในเด็ก พื้นที่ความเป็นเมืองสูงมีเด็ก 5 ปี ได้รับวัคซีนไม่ครบ ร้อยละ 35.4 เทียบกับ ร้อยละ 17.9 ในพื้นที่กำลังพัฒนา (3) โรคติดต่อ พื้นที่ความเป็นเมืองสูงมีอัตราป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าพื้นที่กำลังพัฒนา 3.5 เท่า (4) โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อัตราป่วยรายใหม่ของเบาหวานและความดันโลหิตสูงในพื้นที่ความเป็นเมืองสูงมีค่าสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (5) ความรุนแรง พื้นที่ความเป็นเมืองสูงมีจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกทำร้ายสูงกว่า ร้อยละ 60 อภิปรายและสรุปผล: การวิเคราะห์พลวัตเชิงระบบด้วยแผนภาพวงจรเชิงสาเหตุได้เผยให้เห็นรากเหง้าของความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย พบแม่แบบระบบที่สำคัญ 3 แบบที่เสริมแรงกัน ได้แก่ "ความสำเร็จตกแก่ผู้ประสบความสำเร็จ" "การโยกภาระ" และ "ขีดจำกัดของการเติบโต" การศึกษาพบช่องว่างสำคัญในระบบข้อมูลปัจจุบัน ได้แก่ ระบบข้อมูลที่ไม่สะท้อนความซับซ้อนของสุขภาพเมือง ยังอิงกับเขตการปกครองมากกว่าพื้นที่เมืองเชิงหน้าที่ พึ่งพาการสำรวจเป็นหลักทำให้ข้อมูลล่าช้า ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และขาดกลไกการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง จุดทลายกับดักระบบอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างการตอบสนองระยะสั้นกับการพัฒนาระยะยาว คณะผู้วิจัยเสนอชุดตัวชี้วัดเพื่อทลายกับดักระบบ ประกอบด้วย (1) ตัวชี้วัดการทลายกับดัก "ความสำเร็จตกแก่ผู้ประสบความสำเร็จ" เช่น อัตราส่วนการเข้าถึงบริการสุขภาพระหว่างกลุ่มเศรษฐฐานะสูงสุดและต่ำสุด (2) ตัวชี้วัดการทลายกับดัก "การโยกภาระ" เช่น สัดส่วนงบประมาณด้านส่งเสริมสุขภาพต่องบรักษาพยาบาล (3) ตัวชี้วัดการทลายกับดัก "ขีดจำกัดของการเติบโต" เช่น ร้อยละของเทศบาลที่มีกลไกการมีส่วนร่วมครอบคลุมกลุ่มเปราะบาง (4) ตัวชี้วัดการทลายกับดักระบบข้อมูล และ (5) ตัวชี้วัดการเปลี่ยนจากการทำงานหนักสู่การทำงานชาญฉลาด ชุดตัวชี้วัดเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเมืองที่เป็นธรรม เมื่อเรามีข้อมูลที่ละเอียดและเปิดเผยความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เราจะสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดช่องว่างและสร้างระบบสุขภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้