ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 158 คน
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาบทบาทของศูนย์วิชาการในการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
นักวิจัย :
จิราพร วรวงศ์ , ยุพาภรณ์ ติรไพรวงศ์ , มณีรัศมิ์ พัฒนสมบัติสุข , พนารัตน์ วิศวเทพนิมิตร , อริณรดา ลาดลา , วีระพงษ์ เรียบพร , เจียมใจ ศรีชัยรัตนกูล , นิภาพร อภิสิทธิวาสนา , พรพรรณ มนสัจจกุล , นงนุช วงศ์สว่าง ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
9 มกราคม 2568

ศูนย์วิชาการ กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการให้กับกรมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข โดยการศึกษา วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ดำเนินงานส่งเสริม ป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุม และบำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพ ประสานและสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของหน่วยบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นธรรม และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ อย่างไรก็ตามภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศในเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ และการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ศูนย์วิชาการต้องมีการปรับตัวและบทบาทในการทำงานร่วมกับ อบจ. รพ.สต. และ สอน. ทั้งที่ถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ได้แก่ 1) เปรียบเทียบบทบาทของ ศูนย์วิชาการในการสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. และ สอน. ในระยะก่อนและหลังการถ่ายโอนไปยัง อบจ. 2) ศึกษาวิเคราะห์การอภิบาลระบบสุขภาพในการดำเนินงานที่เหมาะสมของศูนย์วิชาการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. และ สอน. สังกัด อบจ. สู่เป้าหมาย รพ.สต.คุณภาพ 3) เสนอรูปแบบการดำเนินงานของศูนย์วิชาการในการสนับสนุนการจัดบริการของ รพ.สต. และ สอน. สังกัด อบจ. สู่เป้าหมาย รพ.สต.คุณภาพ และ 4) พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาบทบาทของศูนย์วิชาการในการสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. และ สอน. สังกัด เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลในการศึกษาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1) กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยและทีมงาน ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตและทีมงาน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคและทีมงาน และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และทีมงาน และ 2) กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและทีมงาน และผู้อำนวยการ รพ.สต. และ สอน. และทีมงาน ผลการศึกษาพบว่า 1) โครงสร้างและบทบาทของศูนย์วิชาการในการสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. และ สอน. ในระยะก่อนและหลังการถ่ายโอนไปยัง อบจ. ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ศูนย์วิชาการมีการสนับสนุนทางวิชาการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การประสานตัวชี้วัด (2) การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรและหน่วยบริการ (3) การส่งเสริม พัฒนา ประเมินคุณภาพ และรับรองมาตรฐานการบริการ และ (4) การนิเทศและติดตามผลการปฏิบัติงานหน่วยบริการในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสุขภาพดี อย่างไรก็ตามอาจไม่ครอบคลุม รพ.สต. และ สอน. ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ที่มีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างกับศูนย์วิชาการที่แยกจากกันจากการอยู่คนละกระทรวง 2) ศูนย์วิชาการซึ่งกระจายอยู่ในทุกเขตสุขภาพในทุกภูมิภาคของประเทศเป็นหน่วยงานสำคัญในการอภิบาลระบบสุขภาพ โดยสนับสนุนวิชาการและหนุนเสริมการทำงานร่วมกับหน่วยบริการสุขภาพ ทั้งในระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบลเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และ 3) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อบจ. รพ.สต. และ สอน. ที่ถ่ายโอน มีความต้องการให้ศูนย์วิชาการสนับสนุนวิชาการให้กับรพ.สต. และ สอน. ทั้งที่ถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอน เพื่อให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการมากขึ้น ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะให้ศูนย์วิชาการพัฒนาความร่วมมือในการทำงานกับ อบจ. และ สสจ. ในรูปแบบพันธมิตรเพื่อสนับสนุนวิชาการให้ รพ.สต. และ สอน. ทั้งที่ถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอน สู่เป้าหมาย รพ.สต.คุณภาพ ศูนย์วิชาการพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง ทำงานเชิงรุกมากขึ้น สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานและประชาชนรู้จักมากขึ้น เน้นการตลาดเชิงรุกเพื่อเผยแพร่ความรู้เทคโนโลยี และผลงานจากการผลิตสู่การนำไปใช้ และบูรณาการเป้าหมายและแผนในการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิชาการกำหนดรูปแบบและแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. และ สอน. เป็น 2 ระยะคือ ระยะเปลี่ยนผ่าน และระยะสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อให้ รพ.สต. และ สอน. บรรลุเป้าหมาย รพ.สต.คุณภาพ ข้อเสนอเชิงนโยบายหลัก 3 ข้อจากการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ 1) ศูนย์วิชาการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อผลักดันให้ รพ.สต. และ สอน. สังกัด อบจ. ในพื้นที่รับผิดชอบ ทำได้ตามตัวชี้วัดและบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างมีคุณภาพตอบสนองความต้องการของประชาชน 2) ศูนย์วิชาการต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันก่อน แล้วค่อยรวมตัวกันไปประสานงานโดยไม่แยกกรมกับ อบจ. และคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เพื่อวางแผนการสนับสนุนทางวิชาการให้กับ รพ.สต. และ สอน. ที่ถ่ายโอน และ 3) ศูนย์วิชาการปรับบทบาทให้เข้มข้นมากขึ้นในการทำงานกับ อบจ. เพื่อกำกับดูแลและประเมินผลการดำเนินงานของ รพ.สต. และสอน. สังกัด อบจ. สู่เป้าหมาย รพ.สต.คุณภาพ


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6221

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้