งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาเปรียบเทียบการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ ตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานบริการปฐมภูมิ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงสาธารณสุข และ 6 องค์ประกอบของระบบสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ภายในจังหวัดและระหว่าง 3 จังหวัด เก็บข้อมูลจาก รพ.สต.จำนวน 144 แห่ง ใน 3 จังหวัด โดยใช้แบบประเมินคุณภาพมาตรฐานบริการสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2566 ของสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข และเก็บข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานใน รพ.สต. จำนวน 465 คน โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับข้อมูลการบริหารงานใน รพ.สต ตามแนวคิด 6 องค์ประกอบของระบบสุขภาพ 2) เพื่อศึกษาคุณภาพบริการและการรับรู้คุณภาพชีวิตของประชาชนผู้รับบริการภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ เก็บข้อมูลจากประชาชนผู้รับบริการจำนวน 3,583 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. 2567 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติ Kruskal-Willis test และ Chi-Square test 3) เพื่อวิเคราะห์นโยบายและแนวทางการบริการจัดการภายในจังหวัด และภาพรวม 3 จังหวัด และ 4) เพื่อนำเสนอนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในบริบทที่แตกต่างกัน ใช้วิธีเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากผู้บริหาร อบจ. ผู้ปฏิบัติงานใน รพ.สต. และประชาชนผู้รับบริการใน รพ.สต. จำนวน 68 คน ระหว่างเดือนเมษายน - กันยายน พ.ศ. 2567 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) ผลการศึกษาเชิงปริมาณพบว่า เมื่อเปรียบเทียบการดำเนินงานของ รพ.สต. ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ ตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานบริการปฐมภูมิ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงสาธารณสุขระหว่าง 3 จังหวัด ด้วยสถิติ Kruskal Wallis test พบว่า ค่าเฉลี่ยผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานบริการปฐมภูมิของทั้ง 3 จังหวัด ทั้ง 8 ส่วน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติใน 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1) ด้านระบบบริหารจัดการ 2) ด้านการจัดบุคลากรและศักยภาพในการให้บริการ ส่วนที่ 5) ด้านระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีระดับความแตกต่างทางสถิติที่ p < 0.001 และส่วนที่ 6) ด้านระบบห้องปฏิบัติการ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีระดับความแตกต่างทางสถิติที่ p < 0.05 เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบการดำเนินงานของ รพ.สต. ภายหลังการถ่านโอนภารกิจตาม 6 องค์ประกอบของระบบสุขภาพขององค์การอนามัยโลกของทั้ง 3 จังหวัดด้วยสถิติ Kruskal Wallis test พบว่า ค่าเฉลี่ยการดำเนินงานของทั้ง 3 จังหวัด ตาม 6 องค์ประกอบของระบบสุขภาพขององค์การอนามัยโลกมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้ง 6 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) ด้านการให้บริการ 2) บุคลากรด้านสุขภาพ 3) ข้อมูลข่าวสาร 4) ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ วัคซีนและเทคโนโลยี และ 6) ภาวการณ์นำและการอภิบาล มีระดับความแตกต่างทางสถิติที่ p < 0.001 ส่วนด้านที่ 5) การเงิน มีระดับความแตกต่างทางสถิติที่ p < 0.05 ผลการศึกษาคุณภาพบริการและการรับรู้คุณภาพชีวิตของประชาชนผู้รับบริการภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ พบว่า ประชาชนผู้ใช้บริการใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจแล้วใน 3 จังหวัดรับรู้จริงหลังการใช้บริการพบว่า ด้านความน่าเชื่อถือของบริการ การสร้างความมั่นใจในการบริการและด้านการดูแลเอาใจใส่ อยู่ในระดับมากที่สุด สำหรับคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนผู้ใช้บริการใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดพบว่า มีคุณภาพชีวิตในระดับดี ทั้ง 3 จังหวัด ผลการศึกษาเชิงคุณภาพสามารถวิเคราะห์การบริหารจัดการได้ ดังนี้ ด้านอัตรากำลัง อบจ. ต้องวิเคราะห์อัตรากำลังของบุคลากรแต่ละกลุ่มให้เพียงพอ รวมทั้งกำหนดกรอบอัตราที่จะบรรจุเป็นข้าราชการให้ชัดเจนรวมถึงมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาบุคลากร ด้านการจัดหาสิ่งสนับสนุนการดำเนินงาน อบจ. ควรสำรวจความต้องการเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ และวางแผนจัดหา ด้านการมีส่วนร่วม ควรมีคณะกรรมการเชื่อมประสานการทำงานระหว่าง อบจ. และ รพ.สต. โดยแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่ของแต่ละอำเภอ ด้านการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันการศึกษา และด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับกองสาธารณสุข อบจ. ข้อเสนอนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการ รพ.สต. ถ่ายโอนไปสู่ อบจ. ประกอบด้วยนโยบาย 6 ด้าน คือ 1) ด้านการบริหารจัดการ รพ.สต. โดยผู้บริหาร รพ.สต.จะต้องพัฒนาศักยภาพตนเองในการทำงานตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และจัดทำแผนงานให้สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานและบริบทปัญหาสุขภาวะในพื้นที่ ผู้บริหารจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจากการปฏิบัติตามแม่ข่าย เป็นคิดใหม่ ทำเป็น เน้นประสิทธิภาพ 2) ด้านบุคลากร โดยผู้บริหาร รพ.สต. ต้องทำการวิเคราะห์อัตรากำลังของแต่ละหน่วยงาน และนำเสนอต่อ อบจ. เพื่อวิเคราะห์ในภาพรวมอันจะนำไปสู่การกำหนดกรอบอัตรากำลังและจัดสรรให้กับ รพ.สต. อย่างเพียงพอ 3) การกำหนดตัวชี้วัดในการทำงานของ รพ.สต. โดย รพ.สต. จะต้องมีการศึกษาเชิงวิเคราะห์พื้นที่เพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน ลดปริมาณ เน้นคุณภาพ โดยเฉพาะปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ 4) การสร้างเครือข่าย โดย อบจ. และสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประสานการทำงานแบบเครือข่ายกับแม่ข่ายเดิมคือ โรงพยาบาลทุติยภูมิและโรงพยาบาลตติยภูมิ เพื่อให้เกิดการดูแลที่ต่อเนื่องไร้รอยต่อ 5) การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยการพัฒนาศักยภาพให้ อสม. ด้วยการให้ความรู้ในการปฏิบัติงาน และศึกษาดูงานที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากแหล่งต้นแบบ และ 6) การพัฒนาศักยภาพประชาชน โดย รพ.สต. จัดกิจกรรมการให้ความรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้