ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 43 คน
การศึกษาผลของนโยบายการแพทย์ทางไกลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565-2567
นักวิจัย :
วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย , นิธิเจน กิตติรัชกุล , วิลาวรรณ ล้วนคงสมจิตร , ชนิดา เอกอัครรุ่งโรจน์ , ปภาดา ราญรอน , เบญจมพร เอี่ยมสกุล , ปิยดา แก้วเขียว , ขวัญพุทธา อรุณประเสริฐ , เฌอริลิณญ์ ประทุมสุวรรณ์ , ธนายุต เศรณีโสภณ , จันทัปปภา จันทร์ครบ , ปัญญ์ชนก หมื่นแก้ว , Dabak, Saudamini Vishwanath , Huang-Ku, Evan , Win, Zin Nwe ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
3 ธันวาคม 2567

ภูมิหลัง ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation) ได้ดำเนินการศึกษาในหัวข้อ “การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแนวปฏิบัติและแนวทางการติดตามประเมินผลของระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านการถอดบทเรียนในบริบทไทยและบริบทโลก” ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก (WHO Country Cooperation Strategy: WHOCCS) การศึกษาดังกล่าวครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยนำเข้า (input) และกิจกรรม (activity) กล่าวคือ การพัฒนาและการให้บริการ telemedicine โดยแบ่งเป็น 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การยอมรับ (adoption) การดำเนินการ (implementation) การปรับตัว (adaptation) และปัจจัยกำหนด (determinants) รวมถึงครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลผลิต (output) เช่น จำนวนและแนวโน้มการใช้บริการ telemedicine ในแต่ละช่วงระยะเวลา ต่อมาในปี พ.ศ. 2567 นี้ เพื่อให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการ telemedicine เป็นไปอย่างต่อเนื่อง คณะผู้วิจัยจึงดำเนินการศึกษาโดยขยายขอบเขตไปยังปัจจัยนำเข้าและกิจกรรมด้านการเงิน (financing) เช่น ระบบเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการและต้นทุนต่อหน่วย รวมถึงครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องผลลัพธ์ (outcome) เช่น ประสบการณ์ของผู้รับบริการและผลกระทบต่อบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ทั้งนี้ คำถามงานวิจัยและการดำเนินโครงการวิจัยได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกำกับทิศแผนงาน Convergence of Digital Health Platforms and Health Information Systems (HIS) Implementation in Thailand (ภายใต้ WHOCCS) วัตถุประสงค์ การศึกษานี้ประกอบด้วย 3 วัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาประสบการณ์ของผู้ให้และผู้รับบริการ telemedicine ในด้านการยอมรับ (acceptance) ความพึงพอใจ (satisfaction) การเข้าถึง (accessibility) และการใช้ประโยชน์ (usability) (2) เพื่อศึกษาผลลัพธ์เกี่ยวกับการใช้และการให้บริการ telemedicine (utilisation) รวมถึงผลกระทบต่อบริการผู้ป่วยนอกโดยทั่วไป (face-to-face OPD) และ (3) เพื่อศึกษาความพร้อม (readiness) ของสถานพยาบาลในการให้บริการ telemedicine รวมถึงประมาณการต้นทุนและศึกษาพร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเบิกจ่ายและชดเชย (reimbursement) ค่าบริการ telemedicine ระเบียบวิธีวิจัย การศึกษานี้ใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสม (mixed-methods research) ประกอบด้วย การศึกษาเชิงคุณภาพ (qualitative study) และการศึกษาเชิงปริมาณ (quantitative study) โดยกำหนดขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมบริการ telemedicine สำหรับโรคเรื้อรัง และบางส่วนของการศึกษาครอบคลุมเฉพาะบริการ telemedicine สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคทางจิตเวช และอรรถบำบัด วิธีการเก็บข้อมูล ได้แก่ การทบทวนวรรณกรรมแบบมีขอบเขต การสัมภาษณ์เชิงลึกและการอภิปรายกลุ่มด้วยแนวคำถามแบบกึ่งโครงสร้าง และการเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากระบบเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการและฐานข้อมูลของสถานพยาบาล การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์แก่นสาระ (thematic analysis) ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา (descriptive statistics) การวิเคราะห์อนุกรมเวลาแบบขัดจังหวะ (interrupted time series analysis) และการวิเคราะห์ความแตกต่างในความแตกต่าง (difference-in-difference estimation) รวมถึงการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยในมุมมองของผู้ให้บริการ (healthcare provider perspective) ด้วยการอิงกิจกรรม (activity-based costing) ผลการศึกษา จากการศึกษาประสบการณ์ของผู้ให้และผู้ใช้บริการสุขภาพ ทั้งกลุ่มที่เคยและไม่เคยใช้บริการ telemedicine ต่างยอมรับและตระหนักถึงข้อดีของบริการที่สามารถช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ผู้รับบริการ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวหรืออยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากโรงพยาบาล รวมถึงลดความเครียดระหว่างรอรับบริการที่โรงพยาบาล อีกทั้งผู้ที่เคยให้หรือรับบริการ telemedicine ส่วนใหญ่พึงพอใจต่อบริการและสนใจที่จะให้หรือรับบริการต่อ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่กังวลว่าประสิทธิภาพของบริการอาจไม่ดีเทียบเท่ากับการรับบริการแบบเผชิญหน้า ทั้งนี้ ผู้ให้ข้อมูลทุกกลุ่มสะท้อนถึงปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากบริการ telemedicine เกี่ยวกับข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต ความไม่เหมาะสมของช่องทางที่ใช้ในการให้บริการ และการขาดทักษะในการใช้เทคโนโลยีของผู้รับบริการ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 พบการใช้บริการ telemedicine ทั้งหมด 811,556 ครั้ง จากผู้ใช้บริการ 426,366 ราย โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 61) และมากกว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 66) เคยใช้บริการแค่ครั้งเดียว ขณะที่ร้อยละ 61 ของผู้ที่กลับมาใช้บริการซ้ำเป็นการใช้แบบครั้งคราว โดยข้อบ่งใช้ที่พบมากที่สุดของบริการ telemedicine คือ ความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ (I10) นอกจากนี้การวิเคราะห์ผลกระทบพบว่า นโยบายการแพทย์ทางไกลของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2566 ส่งผลให้จำนวนครั้งของการให้บริการ telemedicine มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (Odds Ratio (OR): 2.07, 95% Confidence Interval (CI): 0.91-4.68) ส่วนผลกระทบของนโยบายฯ ต่อบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกนั้น พบว่า จำนวนครั้งของการใช้บริการลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 3,000 ครั้งต่อเดือนต่อสถานพยาบาล สำหรับความพร้อมและการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ พบว่า สถานพยาบาลภาครัฐที่สมัครและผ่านการประเมินศักยภาพของ สปสช. ในโครงการ Telehealth/Telemedicine (สำหรับโรคเรื้อรัง) มีเพียงร้อยละ 21 ของสถานพยาบาลภาครัฐทั้งหมด และเพียงร้อยละ 9 ของสถานพยาบาลภาครัฐทั้งหมดที่ขอเบิกจ่ายและได้รับการชดเชยค่าบริการ telemedicine ในส่วนของการประมาณการต้นทุน พบว่า ต้นทุนส่วนใหญ่เกิดจากค่าแรง โดยราคาที่จุดคุ้มทุนของแต่ละสถานพยาบาลแตกต่างกันไปตามทรัพยากรที่ใช้และขีดความสามารถในการให้บริการ โดยรูปแบบที่ผู้ป่วยต้องรับบริการผ่านโรงพยาบาลปลายทางมีต้นทุนสูงกว่ารูปแบบที่ผู้ป่วยสามารถรับบริการได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ หากพิจารณาต้นทุนรวมโดยไม่หักต้นทุนค่าแรง พบว่า ราคาที่จุดคุ้มทุนของสถานพยาบาลกลุ่มตัวอย่างทุกแห่งสูงกว่าอัตราเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ telemedicine ในปัจจุบัน สรุปผลการศึกษา Telemedicine ได้รับการยอมรับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อระบบสาธารณสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต การติดตามและประเมินผลการให้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการหรือผู้รับบริการ ในการพัฒนาและปรับปรุงการยอมรับ ความพึงพอใจ การเข้าถึง และความสะดวกในการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้กำหนดนโยบายควรมีการหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับบริการ telemedicine รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ เพื่อรองรับการให้บริการ telemedicine โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและระบบจัดการข้อมูล ในท้ายที่สุดสุขภาพดิจิทัล (digital health) จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเสริมสร้างระบบสาธารณสุข เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านประสิทธิภาพ ความเท่าเทียมและการให้บริการที่มีคุณภาพ


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6203

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้