งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
ความเป็นมา สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ส่งผลให้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ไม่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก ซื้อหา ครอบครองได้อย่างเสรี มีการจําหน่ายกัญชาและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ใช้ที่เป็นเด็กและเยาวชน และความสงบเรียบร้อยของสังคม นอกเหนือจากการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยใช้แนวคิด “พื้นที่ปลอดภัย” ที่เป็นแนวคิดสำคัญที่นําไปสู่การป้องกันและลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยจัดให้มีพื้นที่ที่เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ที่คนในครอบครัว เครือญาติหรือชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน อันจะนําไปสู่การลดปัญหาจากสารเสพติด การพัฒนารูปแบบชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิดมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาศักยภาพและการสร้างพลัง (Empowerment) ให้กับชุมชนเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหาและผลกระทบจากการใช้กัญชาในทางที่ผิด 2) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ (Knowledge) และสร้างพื้นที่ต้นแบบ (Model development) จากการปฏิบัติการพัฒนารูปแบบชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด 3) เพื่อพัฒนาแนวทางการหาทางออก (Solution) จากปัญหาการใช้กัญชาในทางที่ผิดด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย และ 4) เพื่อพัฒนาข้อเสนอต่อนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (Participatory Public Policy) ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในการพัฒนารูปแบบชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์รอง คือ เพื่อขยายขอบเขตการพัฒนาให้ครอบคลุมสารเสพติดชนิดอื่นๆ ที่เป็นปัญหาในระดับพื้นที่ด้วย ในขณะร่วมกันวางเป้าหมายการพัฒนาการดำเนินงานวิจัยโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิดเป็นการดำเนินงานวิจัยในรูปแบบการวิจัย (research design) ใช้กระบวนการ (Collaborative Action Research) โดยมีพื้นที่เป้าหมายการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด คณะผู้วิจัยได้เลือกจาก 4 บริบทพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้ คือ กรุงเทพมหานคร-ชุมชนเมืองมหานคร จ.ราชบุรี-ชุมชนชาติพันธุ์เขตชายแดน จ.สกลนคร-ชุมชนกึ่งเมือง จ.ลำพูน-ชุมชนวิถีชนบท โดยมีชุมชนที่เป็นตัวแทนตามบริบทดังกล่าวและทำการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพโดยมีประชาการและกลุ่มตัวอย่างที่ดำเนินการศึกษา คือ ผู้นําในหมู่บ้าน/ชุมชน และประชาชนในพื้นที่เป้าหมายประกอบด้วย ผู้นําหมู่บ้าน/ชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข กรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน ผู้อํานวยการหรือผู้แทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/ศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้ป่วยที่ใช้ประโยชน์จากกัญชา เยาวชนในพื้นที่ ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูก/ผู้ผลิตกัญชา ผลการดำเนินงาน สถานการณ์กัญชาในพื้นที่จากการสํารวจ 600 ครัวเรือน 1,830 ตัวอย่าง ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพหมานคร ราชบุรี สกลนคร และลำพูน พบว่า ร้อยละ 41.2 มีการใช้กัญชาในครัวเรือน ร้อยละ 13.7 มีการปลูกกัญชาในครัวเรือนทั้งสิ้น โดยจำนวนต้นกัญชาที่ปลูกในครัวเรือน มีตั้งแต่ 1 ต้น มากสุดอยู่ที่ 12 ต้นในครัวเรือนที่ปลูก สำหรับเหตุผลในการปลูกกัญชาในครัวเรือนนั้น มีทั้งปลูกไว้เพื่อการทำยาผสมแก้มะเร็ง ต้มเป็นน้ำ ปลูกในเข่งใบใหญ่ที่หลังบ้าน ปลูกไว้ขายช่อดอก มีลูกค้ามารับช่อดอกไปทำผลิตภัณฑ์สำหรับสูบมวน รวมถึง ปลูกไว้เพื่อความสวยงาม เพราะมองแค่ว่าเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีช่อดอก จากการสํารวจ 1,830 ตัวอย่าง ที่มีพฤติกรรมการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และกัญชานั้น พบว่า มีผู้ที่ดื่มเหล้า ร้อยละ 29.2 สูบบุหรี่ ร้อยละ 23 มีผู้ที่เคยใช้กัญชา ร้อยละ 23.3 และในผู้ที่เคยใช้กัญชายังคงใช้กัญชาใน 1 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 89.7 และเมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดของผู้ที่ใช้กัญชาโดยจําแนกตามเพศและกลุ่มอายุ พบว่าใช้กัญชาโดยผสมในอาหารต่าง ๆ เพื่อการรับประทานมากที่สุด ร้อยละ 14.09 เป็นเพศชาย ร้อยละ 58.5 หญิง ร้อยละ 41.5 รองมาคือ นํากัญชาไปชงดื่มในลักษณะน้ำชา ร้อยละ 7.59 เป็นเพศชายร้อยละ 47.5 หญิง ร้อยละ 52.5 และใช้กัญชาโดยการมวนบุหรี่สูบจำนวน 100 คน คิดเป็นร้อยละ 5.46 เป็นเพศชาย ร้อยละ 85 หญิง ร้อยละ 15 มีรายงานการใช้กัญชาแบบสูบบ้อง ร้อยละ 1.42 โดยเป็นเพศชายเกือบทั้งหมด ร้อยละ 92.3 ซึ่งจะเห็นได้ว่า รูปแบบการใช้กัญชาที่มากที่สุด คือ ผสมในอาหารต่าง ๆ เพื่อการรับประทาน ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีนโยบายกัญชาเสรี ให้สามารถใช้บริโภคได้ จากผู้ที่ใช้กัญชาใน 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีอายุระหว่าง 15-87 ปี อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 46.7 ปี (SD.=16.0) การเริ่มใช้กัญชาน้อยกว่า 4 ปี สูงถึงร้อยละ 58.7 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีการเริ่มใช้กัญชาไม่นานมานี้ และเป็นผู้ที่เริ่มใช้มาไม่เกิน 2 ปี สูงกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 26.9 มีผู้ที่รายงานว่าได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชา จำนวน 237 คน รายงานว่า ร้อยละ 34.59 นอนมากกว่าปกติ ร้อยละ 21.51 มีอาการอยากของหวาน ร้อยละ 13.92 มีอาการวิงเวียนศีรษะ ร้อยละ 13.92 มีอาการปากแห้ง ร้อยละ 8.43 มีอาการหายใจเร็ว ร้อยละ 3.79 มีอาการหงุดหงิด ร้อยละ 2.10 มีอาการตาแดง ร้อยละ 1.68 มีอาการความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังมีรายงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ถึงผลกระทบของอาการวิงเวียนศีรษะ จากการที่คนใกล้ตัวสูบกัญชา กิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่จากข้อมูลที่ได้จากการสํารวจทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพผ่านการสนทนากลุ่ม ที่นําไปสู่การออกแบบข้อกําหนดเพื่อการใช้กัญชาอย่างปลอดภัยและป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการใช้กัญชา ตลอดจนกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพ ส่งเสริม ป้องกันปัญหาการใช้กัญชาตามบริบทของพื้นที่ โดยชุมชนได้ริเริ่มดำเนินการกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนในด้านต่าง ๆ ทั้งความรู้ สุขภาพ ความสัมพันธ์ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนในความร่วมมือป้องกันปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งรวมถึงปัญหาการใช้สารเสพติด ตลอดจนการใช้กัญชา ซึ่งในแต่ละชุมชนได้มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งส่งเสริมสุขภาพผ่านการจัดกิจกรรมด้านกีฬา พัฒนาศักยภาพเยาวชนในชุมชนในมิติต่าง ๆ ทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติด การเป็นผู้นํา การรู้เท่าทันสื่อออนไลน์และการผลิตสื่อออนไลน์ที่สร้างสรรค์ ตลอดจนกิจกรรมที่ส่งเสริม รักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนที่นําไปสู่การดูแลสุขภาพจิต ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งจากการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ของแต่ละชุมชนรวมถึงข้อกําหนดกฎหมู่บ้านหรือธรรมนูญชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาการใช้กัญชาในทางที่ผิด จะสามารถดำเนินการได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความคิดริเริ่มมาจากความต้องการของชุมชนนั้น ๆ โดยการมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้ คนในชุมชนต้องมีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการเล็งเห็นปัญหาของการใช้กัญชาในทางที่ผิด การมีกฎชุมชนหรือธรรมนูญชุมชนที่ออกแบบร่วมกันและเป็นที่ยอมรับของทุกคน รวมถึงการออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย อันจะนําไปสู่การดำเนินการยั่งยืน
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้