งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
วัตถุประสงค์: เพื่อหาสาเหตุทางพันธุกรรมในผู้ป่วยโรคหัวใจที่ถ่ายทอดแบบยีนเดี่ยว สร้างฐานข้อมูลของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ตรวจคัดกรองโรคในญาติของผู้ป่วย รวมถึงหาผลลัพธ์ (yield) ของการตรวจในทั้งผู้ป่วยและญาติและหาความคุ้มทุนของการตรวจทางพันธุกรรม วิธีการศึกษา: การศึกษานี้หาสาเหตุทางพันธุกรรมของผู้ป่วยโรคหัวใจจากการวิเคราะห์ผล Whole genome sequencing ของผู้ป่วย ข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยและผลทางพันธุกรรมจะถูกรวบรวมสร้างเป็นฐานข้อมูล (โปรแกรม Redcap) และวิเคราะห์เชิงประชากร ผู้ป่วยที่ผลเป็นลบ (negative) หรือ Variant of Unknown Significance (VUS) จะนำไปศึกษาต่อด้วยวิธี Triple exome study, Segregation Analysis หรือ Functional analysis ในกรณีที่อาจจะมีประโยชน์เพิ่มขึ้นในการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุใหม่ของโรค (new gene หรือ new variant) ผู้ป่วยที่ผลเป็นบวกจะนำผลไปใช้ตรวจคัดกรองโรคในญาติและนำผลลัพธ์ไปศึกษาความคุ้มทุนโดยการจำลองทางเศรษฐศาสตร์ (Marcov Model) ผลการวิจัย: ผลการตรวจทางพันธุกรรมของผู้ป่วยทั้งหมดในฐานข้อมูล 136 คน พบว่าราว 52.21% มีการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรค (Pathogenic/Likely pathogenic) พบความแตกต่างในอัตราการตรวจพบการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในแต่ละกลุ่มโรค เช่น โรค CPVT (100%), Long QT syndrome (60%) เป็นต้น รวมถึงยังพบการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันในผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งราย ซึ่งอาจยังเป็นหลักฐานที่สนับสนุนถึงความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์ผู้ก่อตั้ง (Founder effect) ที่อาจส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรคในชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย การพบความแตกต่างของการแสดงออกของ phenotype ในผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์แบบเดียวกัน ทำให้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อหาสาเหตุของการแสดงออกที่ต่างกันดังกล่าว เช่น ผู้ป่วยที่เป็น Long QT syndrome จาก variant KCNQ1 c.1032G>C หรือผู้ป่วยที่เป็น Brugada syndrome จาก variant SCN5A p. R965C ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย (จาก founder effect) การวิเคราะห์ความคุ้มทุนของการตรวจทางพันธุกรรมในผู้ป่วยโรค Long QT syndrome พบว่ามีความคุ้มทุนในทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข โดยมี cost efficiency เท่ากับ 128,180 บาท/QALY ผลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการตรวจทางพันธุกรรมในผู้ป่วยและญาติที่คาดว่าเป็นโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนเดี่ยว ต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคหรือการนำไปใช้คัดกรองญาติที่มีความเสี่ยงสูงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการตรวจทางพันธุกรรมในบางโรค โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิต อายุคาดเฉลี่ย และต้นทุนในการรักษา สรุปผลการวิจัย: ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าการตรวจทางพันธุกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการวินิจฉัยและคัดกรองผู้ป่วยโรคหัวใจที่ช่วยในการวินิจฉัยทั้งในผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มทุนในการรักษาในอนาคต ฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีสาเหตุทางพันธุกรรมเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาความแตกต่างที่พบในประเทศไทยเมื่อเทียบกับข้อมูลของต่างประเทศ รวมถึงการศึกษาในระดับประชากรเพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างทางพันธุกรรมกับลักษณะทางคลินิกมากขึ้น
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้