งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
การแพทย์ฉุกเฉินถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพที่สามารถลดอัตราตายและผลกระทบจากการเจ็บป่วยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต อย่างไรก็ตาม การแพทย์ฉุกเฉินนั้นยังมีความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะในการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชน ในประเทศไทยจึงมีการผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านการถ่ายโอนภารกิจศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินหรือศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการฯ จากโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทั่วไป มายังองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อมีเป้าประสงค์ในการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉินในบริบทท้องถิ่น การศึกษานี้จึงทำเพื่อประเมินมุมมองของผู้ป่วยที่เกี่ยวกับคุณภาพของบริการการแพทย์ฉุกเฉินผ่านการประเมินประสบการณ์ ความพึงพอใจ และความเชื่อมั่นต่อบริการการแพทย์ฉุกเฉินเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดที่มีการถ่ายโอนศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการและจังหวัดที่ยังไม่มีการถ่ายโอน ซึ่งส่งผลต่อการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชน จากการศึกษาพบว่า จังหวัดที่มีการถ่ายโอนศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการมีระดับความเชื่อมั่นที่น้อยกว่าจังหวัดที่ไม่มีการถ่ายโอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีอัตราการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติและฉุกเฉินเร่งด่วน (emergency severity index, ESI 1 หรือ 2) น้อยกว่า (จังหวัดที่มีการถ่ายโอน ร้อยละ 32.7; จังหวัดที่ไม่มีการถ่ายโอนร้อยละ 47.5; p-value = 0.01) และระดับความเชื่อมั่นในการเลือกใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินหากมีภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินในอนาคตต่ำกว่า (จังหวัดที่มีการถ่ายโอนร้อยละ 72.5; จังหวัดที่ไม่มีการถ่ายโอนร้อยละ 83.1; p-value = 0.01) ทว่าระดับความพึงพอใจต่อบริการการแพทย์ฉุกเฉินในการให้บริการของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน และโรงพยาบาลในทั้งสองกลุ่มจังหวัดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สะท้อนถึงช่องว่างในการพัฒนางานการแพทย์ฉุกเฉินขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งอาจมีผลมาจากความแตกต่างกันของการออกแบบบริการและกลไกการอภิบาลระบบของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การทำงานร่วมกันของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระดับจังหวัดจึงเป็นโอกาสในการพัฒนาที่สำคัญในการผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพตามความต้องการของพื้นที่ได้
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้