งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์การบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของผู้อำนวยการกองสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในการรับถ่ายโอนภารกิจระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ 2) เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาศักยภาพของผู้อำนวยการกองสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในการรับถ่ายโอนภารกิจระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และ 3) เพื่อจัดทำหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการกองสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ 4 ภาค ภาคละ 2 จังหวัด ผู้ให้ข้อมูลมี 5 กลุ่ม ดังนี้ ผู้ให้ข้อมูลหลักเชิงคุณภาพ 4 กลุ่ม เลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) ประกอบด้วย 1) ผู้ให้ข้อมูลหลักเชิงนโยบายในการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 120 คน 2) ผู้ให้ข้อมูลหลักระดับปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนภารกิจในการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 40 คน 3) ผู้ให้ข้อมูลหลักจากผู้แทนจากภาคสาธารณสุข ในการสนทนากลุ่มจำนวน 40 คน 4) ผู้ให้ข้อมูลหลักภาคประชาชนในการสนทนากลุ่ม จำนวน 56 คน การรวบรวมข้อมูลคำนึงถึงความอิ่มตัวของข้อมูล โดยจะดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ตามวัตถุประสงค์การวิจัย และกลุ่มที่ 5 ผู้ให้ข้อมูลในการสัมมนาผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 27 คน เพื่อพิจารณาหลักสูตร และให้คะแนนความสำคัญ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของหลักสูตร โดยพิจารณาระดับคะแนนโดยเลือกคะแนนความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในข้อที่มีค่าสัมประสิทธิ์ความผันแปร ≤ร้อยละ 25 ในการสร้างหลักสูตร ผลการวิจัย พบว่า องค์ประกอบของโครงสร้างการบริหารงานของกองสาธารณสุข และการแบ่งหน้าที่ทำงาน (Structure) มีความหลากหลายตามบริบทความพร้อมด้านศักยภาพการบริหารสาธารณสุขของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข จำนวนของบุคลากร จำนวน สอน. และ รพ.สต. ที่รับถ่ายโอน ส่วนใหญ่ใช้โครงสร้างที่กำหนดจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นอกจากนี้มีการปรับโครงสร้างในการบริหารงานด้วยแนวคิดของคุณภาพในการสนับสนุนการดำเนินการ การควบคุม กำกับ ติดตามประเมินผลการบริการสุขภาพ ซึ่งไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงโดยผู้อำนวยการกองสาธารณสุขเพียงผู้เดียว รวมถึงแนวคิดในด้านความพร้อมความเหมาะสมของทรัพยากร และหรือวางแผนรองรับมีความก้าวหน้าด้านการบริหารของบุคลากรในการออกแบบโครงสร้างองค์กร กองสาธารณสุขควรออกแบบให้มีส่วนงานรับผิดชอบครอบคลุมตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จุดเน้นในการบริหารโครงสร้างของสาธารณสุขควรคำนึงถึงการดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานและตัวชี้วัด คุณภาพบริการด้านสุขภาพตามสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ควรเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ให้สอดคล้องกับความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย/กลุ่มงาน/งาน การแบ่งหน้าที่งานตามโครงสร้าง นอกจากมีบุคลากรตามกลุ่มงานที่กำหนดแล้ว มีคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ทำหน้าที่ในการพิจารณา ควบคุม กำกับนโยบาย การติดตามประเมินผลในบางจังหวัด นายก อบจ. แต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มพื้นที่จากการรวมกลุ่ม สอน. และ รพ.สต. ในเขตพื้นที่เดียวกันทำหน้าที่การบริหารจัดการคน เงิน ของ ให้มีความพร้อมบริการต่อประชาชนโดยมีการบริหารจัดการทรัพยากรดังกล่าวภายในกลุ่มพื้นที่เดียวกัน มีการบริหารจัดการบุคลากรที่ขาดแคลนโดยการหมุนเวียนบุคลากรในเขตพื้นที่ การขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลแม่ข่าย ทำสัญญาจ้างแพทย์ที่เกษียณอายุราชการ และการใช้ระบบการรักษาทางไกล ส่วนในระยะยาวบางจังหวัดได้ทำความร่วมมือผลิตบุคลากรทางการแพทย์กับสถาบันพระบรมราชชนก ประเด็นด้านมาตรฐานการบริการตามมิติระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภายหลังการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ทำให้เกิดช่องว่างของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิทั้งทางด้าน วิชาการ บริการ และการกำกับติดตาม ซึ่งส่งผลต่อมาตรฐานบริการที่ประชาชนจะได้รับตามสิทธิประโยชน์ อีกทั้งหลังการถ่ายโอนตัวชี้วัดด้านสุขภาพตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขของ สอน. และ รพ.สต. ถ่ายโอนน้อยลง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลต่อผลลัพธ์บริการของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับบริการในประเด็นที่ตัวชี้วัดนั้นหายไป การประสานงานเครือข่ายกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ผลงานเป็นไปตามนโยบาย (Agenda based) ปัญหาสำคัญของพื้นที่ (Area based) ภารกิจของระบบสุขภาพปฐมภูมิ (Functional based) ภายหลังการถ่ายโอน พบว่า บทบาทหลักดังกล่าวของ สสจ. และ สสอ. ลดลงและหรือในบางพื้นที่ไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม มีการจัดระบบแก้ปัญหาโดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. สนับสนุน ส่งเสริม เกิดการขับเคลื่อนที่ดีในการจัดการความเสี่ยงหรือปัญหาในการบริการสุขภาพ โดยใช้หน่วยนวัตกรรมในการพัฒนาหน่วยรับส่งต่อที่เป็นช่องว่างและมีความจำเป็นในพื้นที่ เช่น หน่วยส่งต่อในการทำคลอด การบริการทันตกรรม ภายหลังการถ่ายโอน เกิดช่องว่างในการดำเนินการของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) โดยขาดกลไกในการถ่ายทอดงานไปยังพื้นที่ แนวทางการแก้ปัญหา คือมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางของจังหวัดโดยองค์กรหลักของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตร และอื่น ๆ ตามความต้องการของพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นายแพทย์ สสจ. เป็นเลขานุการ ในการจัดการด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนไปสู่การปฏิบัติ การจัดระบบบริการและการประสานในฐานะเครือข่ายสุขภาพ ในรูปแบบที่ อบจ. เป็นลูกข่าย กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย มีจุดเด่นหลายประการ นอกจากการสนับสนุนและบริหารจัดการงบประมาณจาก สปสช. ภายในเครือข่ายแล้ว ยังรวมถึงการสนับสนุนบุคลากรทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพกันได้ สำหรับกรณี อบจ. ทำหน้าที่แม่ข่ายเอง มีจุดเด่นในการบริหารงบประมาณได้ทั้งหมด ทำให้มีความคล่องตัวขึ้น แต่ข้อควรระวังในการบริหารบุคลากรสาธารณสุข วัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ระบบสารสนเทศทางสุขภาพ กอปรกับ อบจ. ไม่มีหน่วยบริการประจำในการรองรับการส่งต่อผู้ป่วย จึงเป็นองค์ประกอบที่กองสาธารณสุขยังไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการในบทบาทของแม่ข่าย ส่วนบทบาทที่เป็นลูกข่าย พบว่า การบริหารจัดการของแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เดิม และกับบุคลิกของผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่าย ในช่วงการรับถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. มีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพ บทบาท หน้าที่ของ ผอ.กองสาธารณสุข สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการบริหารหน่วยบริการปฐมภูมิที่รับถ่ายโอน ควรครอบคลุม 7 ด้าน คือ 1) การกำหนดยุทธศาสตร์การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ 2) การบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ครอบคลุมการบริหารแผนงาน 3) การออกแบบระบบ กำหนดกลไกทางการบริหาร 4) การบริหารความสัมพันธ์ในการทำงานกับผู้บังคับบัญชาและบุคลากรในสายงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 5) การสร้างเครือข่ายการดำเนินงานทางสุขภาพกับหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคประชาชน 6) การบริหารจัดการสร้างองค์ความรู้ ทักษะ ในการบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และ 7) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติงาน รูปแบบการพัฒนาศักยภาพของผู้อำนวยการกองสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในการรับถ่ายโอนภารกิจระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ควรใช้รูปแบบในการพัฒนาศักยภาพแบบ Active Learning เพื่อให้เกิดการจัดระบบการเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้จากการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในรูปแบบของความร่วมมือ ช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ภายใต้กิจกรรม 1) การใช้ชุมชนเป็นฐาน 2) การประชุมระดมสมอง 3) การฝึกปฏิบัติ 4) การอภิปราย 5) การแลกเปลี่ยนความคิด 6) การถอดบทเรียน และ 7) การนำเสนอหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด มุ่งพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารระบบสุขภาพปฐมภูมิ 3 หมวดวิชา คือ หมวดที่ 1 หมวดวิชาผู้นำ (Leaderships) จำนวน 72 ชั่วโมง เป็นการพัฒนาสมรรถนะการเป็นผู้นำองค์กรของผู้เข้ารับการฝึกอบรม การพัฒนากรอบความคิดสำหรับผู้นำในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ทักษะการแก้ปัญหาในการบริหารงาน การสื่อสารและการนำเสนอ การสร้างสัมพันธภาพ กระบวนการคิดในการตัดสินใจทางการบริหาร การเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ย การบริหารความขัดแย้ง หมวดที่ 2 หมวดวิชาการบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Healthcare Management) จำนวน 144 ชั่วโมง เป็นการเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาองค์กรของผู้อำนวยการกองสาธารณสุข ในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ และการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาพปฐมภูมิ หมวดที่ 3 หมวดวิชาการบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพระดับปฐมภูมิ (Strategic Management for Primary Healthcare) จำนวน 144 ชั่วโมง เป็นการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารยุทธศาสตร์ของผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมภายนอกและภายในเพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์สุขภาพระดับพื้นที่ จากการสัมมนาผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาหลักสูตร พบว่า คะแนนความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีค่าสัมประสิทธิ์ความแปรผัน น้อยกว่าร้อยละ 25 ทุกข้อ ยกเว้นความเป็นไปได้ของการจัดกิจกรรมการทำแผนการบริหารจัดการหน่วยปฐมภูมิ มากกว่าร้อยละ 25 (ร้อยละ 27.35)
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้